วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ตำหนิลูกน้องได้..แต่อย่า "ด่า"

การตำหนิกับการด่าจะมีเส้นบางๆคั่นอยู่คือ "อารมณ์"
การตำหนิลูกน้องเมื่อทำงานผิดพลาดและชี้ให้เห็นในสิ่งที่อยากจะให้เขาแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น
ถ้าเป็นการตำหนิพูดด้วยเหตุผลมากกว่าอารมณ์ ลูกน้องยังมีแนวโน้มจะยอมรับและแก้ไขปรับปรุง
หรือเมื่อฟังเหตุผลจากลูกน้องแล้ว หัวหน้าอาจจะเพิ่งรู้ว่าบางครั้งเราตำหนิลูกน้องด้วยความเข้าใจผิดและยังจะช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆให้ดีขึ้นได้
แต่ถ้า "ด่า" เมื่อลูกน้องทำงานผิดพลาด อารมณ์จะมาเหนือเหตุผล
ยิ่งหัวหน้าใช้อารมณ์ในการด่าก็ยิ่งจะไม่อยากรับฟังเหตุผลใดๆเพราะมัวแต่เพ่งโทษไปที่ลูกน้อง เรื่องเล็กมักจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องใหญ่ก็ยิ่งบานปลาย
ถามตัวเองว่าด่าแล้วจะทำให้ลูกน้องอยากทำงานดีขึ้นไหม จะทำให้เขาปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นจริงหรือเปล่า
หนักกว่านั้นลูกน้องบางคนอาจจะรอจังหวะ "เอาคืน" จากหัวหน้าไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
จากประสบการณ์ที่ผมเคยเป็นกรรมการสอบสวนวินัย ผมมักพบว่าสาเหตุที่ลูกน้องทำร้ายร่างกายหัวหน้า, ขูดรถ, ปล่อยลมยางรถหัวหน้า ฯลฯ ก็มักเกิดจากหัวหน้าที่ชอบด่าลูกน้องแบบใช้อารมณ์นี่แหละครับ
หวังว่าหัวหน้าประเภท "มีวาจาเป็นอาวุธ มีดาวพุธเป็นวินาศ จุดเดือดต่ำ ฟิวส์ขาดง่าย อารมณ์ร้ายโวยวายเสียงดัง" ถ้ามีโอกาสได้อ่านเรื่องนี้แล้วคงจะคิดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ชอบใช้อารมณ์ในการทำงานให้เย็นลงบ้าง
แต่ถ้าอ่านแล้วยังเหมือนเดิมก็ขอให้โชคดีนะครับ 
..............................