วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560

บริษัทจะให้โอทีแบบเหมาจ่ายได้หรือไม่ ?

ผมเพิ่งจะแชร์เรื่อง “บริษัทคิดโอทีเอาเปรียบ?” ไปเมื่อคราวที่แล้วก็มีคำถามตามต่อมาว่า

“แล้วถ้าบริษัทจะทำระเบียบให้โอทีแบบเหมาจ่าย เช่น พนักงานทุกคนที่ทำโอทีจะได้รับค่าโอทีชั่วโมงละ 120 บาท” ได้หรือไม่ ?

            ท่านคิดว่าบริษัททำได้ไหมล่ะครับ ?

            คิด.....ติ๊กต่อก..ติ๊กต่อก...

            ปิ๊ง....

            คำตอบคือ.....คือ.....คือ.....

            “ทำได้บ้าง และไม่ได้บ้างครับ”

            อ่ะ..งงเด้..งงเด้..เหมือนเจอหน้ากากจิงโจ้เลยไหมล่ะครับ 555

            ที่ผมตอบว่าได้ก็คือ....

            ตามกรณีตัวอย่างนี้....

ถ้าพนักงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าเดือนละ 19,200 บาท บริษัทสามารถให้โอทีเหมาจ่ายชั่วโมงละ 120 บาท ได้โดยคำนวณตามนี้คือ

19,200/240=80*1.5=120 บาท

วิธีคิดคือ นำเอา 120 มาหารด้วย 1.5 จะเหลือชั่วโมงละ  80 บาท แล้วนำ 80*8=640 บาทต่อวัน คือพนักงานคนนี้จะได้ค่าจ้าง 640 บาทต่อวัน

แล้วก็นำ 640*30=19,200 บาทต่อเดือน นี่คือที่มาของค่าจ้างต้องไม่เกิน 19,200 บาทต่อเดือนจะจ่ายค่าโอทีชั่วโมงละ 120 บาท

ดังนั้น ในกรณีนี้ถ้าพนักงานคนไหนได้รับค่าจ้างเกินกว่า 19,200 บาทขึ้นไป แล้วบริษัทไปจ่ายค่าโอทีชั่วโมงละ 120 บาท จึงผิดกฎหมายแรงงานครับ

กรณีนี้พูดง่าย ๆ ว่าพนักงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 19,200 บาทลงไปยิ่งต่ำลงไปมากก็ยิ่งแฮปปี้

            แต่ถ้าพนักงานที่ได้รับค่าจ้างเกินกว่า 19,200 บาทขึ้นไปก็จะไม่แฮปปี้เพราะได้น้อยกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด

            แถมบริษัทก็จะทำผิดกฎหมายแรงงานในกรณีที่จ่ายค่าโอทีให้ชั่วโมงละ 120 บาทสำหรับพนักงานที่มีค่าจ้างเกิน 19,200 บาท     

            ดังนั้น สำหรับพนักงานที่ได้รับค่าจ้างเกินกว่า 19,200 บาทขึ้นไป บริษัทจะต้องจ่ายค่าโอทีให้ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานครับ เช่น พนักงานที่ได้รับค่าจ้าง 20,000 บาทต่อเดือนบริษัทจะต้องจ่ายค่าโอทีชั่วโมงละ 125 บาท (20,000/240=83.33*1.5=125) ถึงจะถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน

            หวังว่าคราวนี้เราคงจะเข้าใจตรงกันแล้วนะครับ

            ขอบคุณท่านที่ถามมาด้วยนะครับ


………………………………………..