วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ค่าชดเชยจ่ายยังไงถึงจะถูกต้อง ?

            วันนี้มีน้องที่เคยทำงานในที่ทำงานเดียวกับผมมาเมื่อสักสิบกว่าปีที่แล้วโทรมาปรึกษาว่าสงสัยจะถูกเลิกจ้าง เพราะเมื่อวานเจ้าของ (เรียกให้เพราะ ๆ คือ MD หรือ Managing Director นั่นแหละ) เรียกไปคุยเพื่อขอลดค่าตำแหน่งลง 10,000 บาทโดยบอกว่างานน้อยลงน้องคนนี้ก็เลยมีความรับผิดชอบลดลง คือที่บริษัทแห่งนี้เขาจ่ายเงินเดือนและค่าตำแหน่งเพื่อจะได้ลดต้นทุนลงในหลาย ๆ เรื่อง เช่นโอที, โบนัส, ขึ้นเงินเดือนประจำปี ฯลฯ (ยกตัวอย่างเช่นจ่ายเงินเดือน 20,000 บาทแล้วจ่ายค่าตำแหน่ง 15,000 บาท เป็นต้น)

          และที่สำคัญคือเจ้าของเขาบอกว่าเงินเดือนน่ะลดไม่ได้ แต่ค่าตำแหน่งไม่ใช่ “เงินเดือน” บริษัทสามารถลดค่าตำแหน่งได้ !?

            ผมก็เลยตอบไปว่าในกฎหมายแรงงานไม่มีคำว่า “เงินเดือน” นะครับ มีแต่คำว่า “ค่าจ้าง” ซึ่งผมขอคัดลอกมาบางส่วนของมาตรา 5 เพื่อให้เข้าใจความหมายของค่าจ้างคือ....

          “เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น....”

            ดังนั้น ค่าตำแหน่งจึงเป็น “ค่าตอบแทนการทำงาน” ตามความหมายข้างต้นอย่างแน่นอนครับ เพราะถ้าไม่ได้ทำงานในตำแหน่งนี้ก็จะไม่ได้รับค่าตำแหน่ง แต่เพราะทำงานในตำแหน่งนี้จึงได้รับค่าตำแหน่งเพื่อเป็นค่าตอบแทนการทำงาน

          “ค่าจ้าง” ของน้องคนนี้คือ เงินเดือน+ค่าตำแหน่ง = 20,0000+15,000 = 35,000 บาท ครับ

             การที่จะไปลดค่าตำแหน่งลงโดยเจ้าตัวไม่ยินยอมก็จะทำไม่ได้

            น้องคนนี้แกก็ถามต่อว่าถ้าตัวเขาไม่ยอมลดค่าตำแหน่งตามที่เจ้าของบอกมา แล้วเจ้าของจะเลิกจ้าง (น้องคนนี้ทำงานที่นี่มาปีเศษ ๆ) โดยจะจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน 90 วัน และค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน โดยคิดจากฐานเงินเดือนจะถูกต้องหรือไม่

เพราะเจ้าของกิจการคนนี้เขาเพิ่งเลิกจ้างพนักงานคนหนึ่งไปเขาก็คิดจากเฉพาะฐานเงินเดือน (โดยไม่รวมค่าตำแหน่ง) มาจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานโดยอ้างว่าทนายบอกว่าให้คิดค่าชดเชยจากฐานเงินเดือนเท่านั้น

            ท่านที่ทำงาน HR โดยเฉพาะคนที่ทำงานด้านแรงงานสัมพันธ์คงทราบคำตอบนี้แล้วนะครับว่าถูกหรือผิด....

            แต่อยากจะแชร์ให้ท่านที่ไม่ได้ทำงานด้าน HR หรือเจ้าของกิจการทราบด้วยว่า....

            “ผิด” ครับ

            ค่าชดเชยที่จะต้องจ่ายตามมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงานจะต้องคิดฐานการจ่ายค่าชดเชยจาก “ค่าจ้าง” ถึงจะถูกต้องนะครับ และการจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าก็ต้องคำนวณจาก “ค่าจ้าง” ด้วยเช่นเดียวกัน

          เพราะในกฎหมายแรงงานไม่มีคำว่า “เงินเดือน” ครับ มีแต่คำว่าค่าจ้างอย่างที่ผมบอกไปแล้วข้างต้น

            ดังนั้น ถ้ายังใช้เพียงแค่เงินเดือนเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยหรือค่าบอกกล่าวล่วงหน้าแล้วลูกจ้างไปฟ้องศาลแรงงานเมื่อไหร่ก็คงจะแพ้คดีร้อยเปอร์เซ็นต์นะครับแถมบริษัทยังเสียชื่ออีกต่างหาก

            ไหน ๆ ถ้าจะเลิกจ้างแล้วก็ทำให้ถูกต้องจะดีกว่านะครับ ส่วนที่เจ้าของอ้างว่าทนายมาแนะว่าให้ใช้แค่เงินเดือนเพียงตัวเดียวมาเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยน่ะ

ถ้าเชื่อทนายที่แนะแบบนี้ผมก็คงทำได้แค่เบะปากมองบน....นะครับ 555 :- )


……………………………..