ผมเคยเขียนเรื่องของการลาออกไปก่อนหน้านี้แล้วในเรื่องที่เมื่อลูกจ้างยื่นใบลาออกแล้วจำเป็นจะต้องให้นายจ้างหรือบริษัทอนุมัติการลาออกหรือไม่
ซึ่งก็เข้าใจตรงกันแล้วนะครับว่าถ้าลูกจ้างยื่นใบลาออกแล้วระบุไว้ในใบลาออกเมื่อไหร่
การลาออกก็จะมีผลตามที่ระบุไว้ในใบลาออกโดยไม่ต้องให้บริษัทมาอนุมัติแต่อย่างใด
คราวนี้ก็เลยมีคำถามต่อมาอีกคือ
1. ถ้าลูกจ้างยื่นใบลาออกโดยระบุวันที่มีผลไว้
เช่น ยื่นใบลาออกล่วงหน้า 1 เดือนตามระเบียบของบริษัทในวันที่ 1 มิถุนายน
และระบุวันที่มีผลคือวันที่ 1 กรกฎาคม แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 15
มิถุนายน
ลูกจ้างเกิดเปลี่ยนใจไม่อยากจะลาออกแล้วก็เลยอยากจะขอยกเลิกการลาออกโดยทำหนังสืออีกฉบับหนึ่งโดยมีข้อความในหนังสือฉบับนี้ว่าขอยกเลิกการลาออกตามใบลาออกที่ส่งไปก่อนหน้านี้
จึงมีคำถามว่าหากทำอย่างนี้แล้วจะยกเลิกใบลาออกได้หรือไม่ ?
กรณีนี้ก็อาจเกิดขึ้นได้สำหรับบางคนที่เมื่อยื่นใบลาออกแล้วเกิดเปลี่ยนใจภายหลัง
ซึ่งได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ.1900/2542 ออกมาดังนี้ครับ “....วันที่ 20
กพ.2540 ลูกจ้างยื่นใบลาออกขอให้มีผลวันที่ 1
มีค.2540 ต่อมาวันที่ 21 กพ.2540 ลูกจ้างยื่นหนังสือขอยกเลิกใบลาออกต่อนายจ้าง
ใบลาออกยังคงมีผลสัญญาจ้างสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 1 มีค.2540
ด้วยการลาออก....”
ก็แปลได้ว่าหากลูกจ้างยื่นใบลาออกแล้ว
ถ้านายจ้างหรือบริษัทรับใบลาออกไปแล้วถ้าบริษัทไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงการลาออก
ลูกจ้างก็ต้องพ้นสภาพพนักงานตามที่ระบุไว้ในใบลาออกครับ
แต่ถ้าบริษัทยังอยากให้ทำงานอยู่ต่อไปวิธีการที่ควรทำก็คือลูกจ้างก็ขอใบลาออกนั้นคืนกลับมาโดยไม่ต้องไปทำหนังสือยกเลิกการลาออกอะไรนั่นให้วุ่นวาย
(แถมไม่มีผลในการยกเลิกการลาออกอีกต่างหาก) หรอกนะครับ
แต่ถ้าบริษัทไม่ให้ใบลาออกคืนกลับมาก็แปลว่าบริษัทต้องการให้ลูกจ้างคนนั้นลาออกไปตามเจตนารมณ์เดิม
ดังนั้นก่อนยื่นใบลาออกลูกจ้างจึงต้องคิดให้ดี ๆ
ว่าต้องการจะลาออกจริง ถ้าจะมายึกยักทีหลังล่ะก็อยู่ที่บริษัทจะเป็นผู้พิจารณาแล้วล่ะครับว่าจะยอมให้ทำงานต่อไปหรือไม่
2. ถ้าหากลูกจ้างยื่นใบลาออกแล้วบริษัทจะให้ลูกจ้างออกจากบริษัทก่อนถึงวันที่กำหนดไว้ในใบลาออก
จะถือว่าเป็นการเลิกจ้างหรือไม่
เรื่องทำนองนี้ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เหมือนกันนะครับ
เช่น นายอเนกยื่นใบลาออกจากบริษัทล่วงหน้า 30 วันตามระเบียบของบริษัท โดยยื่นใบลาออกวันที่ 1 กรกฎาคม โดยให้มีผลวันที่ 31
กรกฎาคม แต่ต่อมาบริษัทแจ้งให้นายอเนกทำงานถึงวันที่ 15 กรกฎาคม แล้ววันที่ 16 กรกฎาคมไม่ต้องมาทำงานแล้ว
ในกรณีอย่างนี้บริษัททำได้หรือไม่
?
มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่
ฎ.10161/2551 “....โจทก์ยื่นใบลาออกขอให้มีผลวันที่
31 ก.ค. 2545....
แม้จำเลยจะให้โจทก์ออกจากงานก่อนถึงวันดังกล่าวโดยโจทก์ไม่มีความผิด
ก็มีผลทำให้โจทก์เสียหายเพียงเท่าที่ไม่ได้รับค่าจ้างจนถึงวันที่โจทก์ประสงค์จะออกเท่านั้น จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้าง
อันมีผลที่จะทำให้จำเลยต้องรับผิดจ่ายสินจ้างฯ ค่าชดเชย
และค่าเสียหายเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์”
จากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นจึงเป็นแนวทางว่าบริษัทสามารถจะทำได้และไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างดังนั้นบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าครับ
…………………………………..