วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

สัญญาจ้างพิสดาร

            วันนี้ผมไปอ่านเจอเรื่องแปลก ๆ เกี่ยวกับสัญญาจ้างของบริษัทแห่งหนึ่งที่พนักงานเขาเอามาโพสลงในสื่อออนไลน์ตั้งกระทู้ถามผู้คนในโลกออนไลน์ ผมอ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์ก็เลยอยากจะนำมาแชร์เป็นความรู้กันท่านเพื่อเป็นข้อคิดและข้อควรระวังต่อไปครับ

            บริษัทแห่งนี้มีข้อความที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง 5 ข้อคือ

1. การลาออกของพนักงานจะมีผลต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากฝ่ายบริหารเสียก่อนจึงจะลาออกได้ และต้องแจ้งลาออกล่วงหน้า 2 เดือน
2. หากพนักงานลาออกไปโดยที่ฝ่ายบริหารยังไม่อนุมัติ พนักงานจะต้องจ่ายค่าเสียหายให้บริษัท 3 เท่าของเงินเดือน
3. หากพนักงานลาออก สิทธิในการพักร้อนเป็นอันถูกยกเลิกในวันที่ยื่นใบลาออก
4. หากผ่านการทดลองงานจะต้องทำงานให้กับบริษัทอย่างน้อย 18 เดือน
5. หากพนักงานทำผิดข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น พนักงานจะโดนปรับ 10 เท่าของเงินเดือน

      ทั้ง 5 ข้อข้างต้นนี่แหละครับที่เป็นที่มาของหัวเรื่องในวันนี้ว่า “สัญญาจ้างพิสดาร” ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะยังมีบริษัทอีกหลายแห่งที่ยังมีสัญญาจ้างทำนองนี้อยู่

          หากท่านเป็นผู้สมัครงานแล้วท่านอยากจะทำงานกับบริษัทที่มีสัญญาจ้างแบบนี้ไหมครับ ?

            ในทำนองเดียวกันก็อยากจะถามผู้บริหารของบริษัทแห่งนี้เหมือนกันว่า เมื่อทำสัญญาจ้างแบบนี้แล้วคิดหรือว่าจะทำให้พนักงานมี “ใจ” ที่อยากทำงานอยู่กับบริษัทในระยะยาว ?

            ผมวิเคราะห์ว่าสไตล์การบริหารของบริษัทแห่งนี้เน้นการ “ควบคุม” และ “ลงโทษ” เป็นหลักนะครับ ดังนั้นคงไม่ต้องไปเดาต่อไปว่าเรื่องแรงงานสัมพันธ์ของบริษัทแห่งนี้จะเป็นยังไง พนักงานจะมีความรักหรือมีจิตใจที่อยากจะทำงานกับบริษัทนี้หรือไม่

            แล้วก็เลยอยากจะอธิบายสัญญาจ้างพิสดารที่ว่านี้ไปทีละข้อเพื่อให้ทั้งผู้บริหารของบริษัทแห่งนี้เผื่อมาอ่านเจอ (รวมถึงผู้บริหารในบริษัทอื่นที่มีสัญญาจ้างทำนองเดียวกันนี้) และพนักงานได้เข้าใจตรงกันดังนี้นะครับ

1. การลาออกของพนักงานจะมีผลต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากฝ่ายบริหารเสียก่อนจึงจะลาออกได้และต้องแจ้งลาออกล่วงหน้า 2 เดือน

ข้อนี้ผู้บริหารยังขาดความรู้ในเรื่องกฎหมายแรงงานนะครับ เพราะเมื่อลูกจ้างยื่นใบลาออกโดยระบุวันที่มีผลลาออกไว้เมื่อไหร่ เมื่อถึงวันที่ระบุในใบลาออกนั้นก็จะมีผลในเรื่องการลาออกทันทีโดยไม่จำเป็นต้องให้นายจ้างหรือใครมาอนุมัติทั้งสิ้น

เพราะการลาออกเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างจากลูกจ้างที่ไม่อยากจะทำงานต่อไปกับบริษัทนั้นอีกต่อไป ดังนั้นบริษัทไม่มีอำนาจและไม่มีหน้าที่มาอนุมัติการลาออกของลูกจ้าง 

แม้บริษัทจะระบุตามระเบียบว่าต้องแจ้งลาออกล่วงหน้า 2 เดือนก็ตาม หากลูกจ้างยื่นใบลาออกวันนี้และในใบลาออกระบุวันที่มีผลคือวันพรุ่งนี้ก็ย่อมทำได้ ถ้าบริษัทเห็นว่าลูกจ้างทำผิดกฎระเบียบที่ไม่ลาออกล่วงหน้า 2 เดือน ก็เป็นเรื่องของบริษัทที่จะต้องไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากลูกจ้างเอาเองโดยจะต้องไปพิสูจน์ให้ศาลแรงงานท่านเห็นว่าการที่ลูกจ้างไม่ลาออกตามระเบียบจะทำให้บริษัทเกิดความเสียหายกี่บาทกี่สตางค์

2. หากพนักงานลาออกไปโดยที่ฝ่ายบริหารยังไม่อนุมัติ พนักงานจะต้องจ่ายค่าเสียหายให้บริษัท 3 เท่าของเงินเดือน

             ข้อนี้เป็น “มโน” ของฝ่ายบริหารขึ้นมาล้วน ๆ เพราะบริษัทไม่มีสิทธิจะไปอนุมัติการลาออกของลูกจ้างตามข้อ 1 ที่ผมอธิบายข้างต้นอยู่แล้ว ดังนั้นบริษัทก็ไม่มีสิทธิหักค่าเสียหายจากลูกจ้างด้วยเช่นเดียวกัน 

              หากเห็นว่าลูกจ้างทำให้บริษัทเสียหายก็ต้องไปฟ้องศาลแรงงานเอาตามที่ผมบอกไว้ตามข้อ 1 ข้างต้น ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะหักได้ 3 เท่าของเงินเดือนนะครับ (ผมก็ไม่รู้ว่าบริษัทไปเอาตัวเลข 3 เดือนนี้มาจากไหนหรือมีกุมารทองจากไหนมาเข้าฝันบอกให้หัก 3 เดือน) อันนี้อยู่ที่ศาลแรงงานท่านจะพิจารณาว่าลูกจ้างทำให้บริษัทเสียหายจริงหรือไม่และลูกจ้างจะต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทหรือไม่จำนวนเงินเท่าไหร่ 

               แหมทำยังกะลูกจ้างไปขโมยของตามห้างสรรพสินค้าแล้วจะต้องถูกปรับกี่เท่าของราคาสินค้าเลยนะครับ อิ..อิ..

3. หากพนักงานลาออก สิทธิในการพักร้อนเป็นอันถูกยกเลิกในวันที่ยื่นใบลาออก

                 ข้อนี้แม้บริษัทจะระบุไว้ในสัญญาจ้างหรือกฎระเบียบใด ๆ ของบริษัท แต่มันผิดกฎหมายแรงงานมาตรา 30 (ไปหาอ่านได้ในกูเกิ้ลนะครับ) ดังนั้นหากลูกจ้างยังมีสิทธิในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแล้วบริษัทก็ยังไม่ได้ “จัดให้” ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปี บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าวันหยุดพักผ่อนประจำปีคืนให้กับลูกจ้างอีกต่างหากด้วย เพราะวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็น “สิทธิ” ของลูกจ้างที่นายจ้าง “จะต้อง” จัดให้นะครับ

4. หากผ่านการทดลองงานจะต้องทำงานให้กับบริษัทอย่างน้อย 18 เดือน
               ข้อนี้แม้ว่าบริษัทจะเขียนไว้ในสัญญาจ้างก็จริง แต่สัญญาจ้างลูกจ้างในลักษณะนี้เป็นสัญญาจ้างแบบไม่มีระยะเวลา (หมายถึงสัญญาจ้างพนักงานประจำของบริษัททั่วไปนั่นแหละ) เพราะไประบุไว้ในข้อ 1 ว่าถ้าพนักงานจะลาออกต้องแจ้งล่วงหน้า 2 เดือน 

                 แสดงว่าสัญญาจ้างประเภทนี้ไม่ใช่สัญญาจ้างแบบมีระยะเวลา) เพราะแปลว่าพนักงานมีสิทธิจะยื่นใบลาออกเมื่อไหร่ก็ได้ครับ แต่ถ้าพนักงานยื่นใบลาออกแล้วทำให้บริษัทเกิดความเสียหายเพราะไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างข้อนี้ยังไง ก็เป็นเรื่องที่บริษัทต้องไปฟ้องร้องลูกจ้างเรียกค่าเสียหายจากศาลแรงงานอย่างที่ผมบอกไว้ในข้อ 1 และข้อ 2 อีกเหมือนเดิมนั่นแหละครับ ผมว่าที่มาของสัญญาข้อนี้คงจะเป็นเพราะผู้บริหารดูละครเรื่องจำเลยรักแล้วคิดว่าจะกักขังพนักงานไว้ได้อีก 18 เดือนเหมือนในละครมั๊งครับ 55555

5.หากพนักงานทำผิดข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น พนักงานจะโดนปรับ 10 เท่าของเงินเดือน

               สัญญาจ้างข้อนี้ผมถือว่า “หลุดโลก” เอามาก ๆ เลยนะครับ (ขอขำแป๊บ..) ไม่ทราบว่าบริษัทนี้มี HR มืออาชีพตัวจริงเสียงจริงทำงานอยู่หรือไม่ (แต่สันนิษฐานว่าคงไม่มี HR มืออาชีพแหง ๆ ) เพราะถ้าผู้จัดการฝ่ายบุคคลมืออาชีพเห็นข้อนี้เข้าจะต้องให้ตัดออกไปเพราะเป็นสัญญาที่ “ไร้สาระ” เอามาก ๆ เลยน่ะสิครับ 55555

                ที่ผมเล่าให้ฟังมาทั้งหมดนี้ก็ให้เป็นอุทธาหรณ์เตือนใจสำหรับทั้งทางด้านของนายจ้างหรือผู้บริหารที่เมื่อจะคิดนโยบายหรือสั่งอะไรออกมาควรจะต้องคิดอยู่เสมอว่า กฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ น่ะบริษัทมีสิทธิจะออกมาได้เสมอแหละ แต่ถ้ากฎระเบียบข้อไหนของบริษัทที่ออกมาแล้วขัดต่อกฎหมายแรงงานแล้วล่ะก็ กฎระเบียบเหล่านั้นจะเป็นโมฆะแหง ๆ

ส่วนในฝั่งของลูกจ้างหรือพนักงานก็จะได้ดูเอาไว้ว่าหากไปสมัครงานแล้วเจอกฎระเบียบหรือสัญญาจ้างที่ประหลาดและส่อเจตนาเอาเปรียบลูกจ้างตั้งแต่แรกอย่างนี้แล้ว ก็ควรไปหางานในบริษัทอื่นที่เขามีความเป็นมืออาชีพมากกว่านี้เถอะนะครับ


…………………………………