วันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2558

หางานใหม่ให้ได้ก่อนแล้วค่อยลาออก หรือลาออกก่อนแล้วค่อยหางานใหม่ ?


            ผมว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องน่าสนใจและเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนเลยนะครับ ซึ่งพอพูดกันถึงเรื่องนี้ผมก็เชื่อว่าต่างคนต่างก็จะมีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ที่แตกต่างกันออกไป

            เราลองมาดูกันสิครับว่าแต่ละทางเลือกข้างต้นนี้จะมีข้อดี-ข้อเสียยังไงบ้าง

ก.      หางานใหม่ให้ได้ก่อนแล้วค่อยลาออก

          ข้อดีของทางเลือกนี้

1.      เรายังมีงานและมีเงินเดือน (จะเรียกว่า “ของตาย” ก็ได้นะครับ) รองรับอยู่ ถ้ายังไม่ได้งานใหม่ เราก็ยังทำงานที่เดิมไปพลาง ๆ ก่อนได้ ถ้าบริษัทใหม่ที่เราไปสมัครงานหรือสัมภาษณ์ไว้เขาตอบรับแล้วเราค่อยมาตัดสินใจอีกทีหนึ่ง

2.      ยิ่งไปสมัครงานไว้หลายแห่ง ยิ่งมีตัวเลือกให้เปรียบเทียบได้แบบไม่ต้องรีบร้อน เพราะยังไงก็มีงานในปัจจุบันรองรับอยู่

3.      ยังมีอำนาจในการต่อรองตำแหน่ง, เงินเดือน ฯลฯ ดีกว่าไม่มีงานอะไรทำในตอนนี้ แถมภาพลักษณ์จะดูดีกว่าการเป็นคนตกงาน

ข้อเสียของทางเลือกนี้

1.      การออกไปหางาน, ไปสัมภาษณ์ หรือติดต่องานกับที่ใหม่ค่อนข้างลำบากสักหน่อย เพราะถ้าลาหยุดไปบ่อยจนผิดสังเกต หัวหน้าจับได้ ข่าวรั่วไหล ฯลฯ ก็อาจจะโดนหัวหน้าหรือฝ่ายบริหารหมายหัวไว้ว่าเป็นคนไม่รักองค์กรคิดหาทางตีจาก ทำให้มีผลต่อการขึ้นเงินเดือน, โบนัส, โอกาสความก้าวหน้า ฯลฯ

2.      ถ้าบริษัทที่ใหม่ต้องการคนที่มาทำงานเร็ว ก็อาจจะไปไม่ได้เพราะต้องยื่นใบลาออกล่วงหน้าตามระเบียบกับที่ปัจจุบัน ไหนยังต้องรอให้บริษัทหาคนใหม่มาแทน และสอนงานคนใหม่ให้รู้เรื่องแล้วส่งมอบงานกันให้ดีเสียก่อน (นี่ผมพูดถึงคนที่มีความรับผิดชอบที่ทำตามกฎระเบียบของบริษัทและอยากจะลาออกจากกันด้วยดีนะครับ) ซึ่งแน่นอนว่าจะสะบัดก้นไปทันทีก็คงไม่งามแน่ ๆ

ข.      ลาออกแล้วค่อยหางานใหม่

ข้อดีของทางเลือกนี้

1.      มีเวลาหางานใหม่ได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องคอยหลบ ๆ ซ่อน ๆ แอบเจ้านายออกมาหางาน ไม่ว่าบริษัทแห่งใหม่จะนัดทดสอบข้อเขียน  สอบสัมภาษณ์กี่ครั้ง เมื่อไหร่ ก็พร้อมจะไปตามนัดได้อย่างสบายใจ

2.      ถ้าบริษัทแห่งใหม่ต้องการคนที่พร้อมจะมาเริ่มงานได้เร็ว เราก็พร้อมจะมาทำงานให้เขาได้อย่างทันใจเช่นเดียวกัน เพราะว่างงานอยู่แล้วตอนนี้

3.      มีเวลาในการเตรียมตัวสำหรับการไปสมัครงานในที่แห่งใหม่ได้เต็มที่ เช่น หาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทแห่งใหม่, การเตรียมทำเรซูเม่ (Resume) ให้ดูดีมีชาติตระกูลทำให้น่าสนใจ, การเตรียมตัวสำหรับการสัมภาษณ์ในที่ใหม่  ฯลฯ

ข้อเสียของทางเลือกนี้

1.      อำนาจต่อรองลดลงไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตำแหน่ง, เงินเดือน ฯลฯ จะลดลง เพราะที่แห่งใหม่มักจะเห็นว่าตอนนี้ผู้สมัครงานก็ว่างงานอยู่ (พูดภาษาชาวบ้านว่า “หลังลอย” ไม่มีแบ็คอัพก็ได้มั๊งครับ) ก็เลยกดเงินเดือนที่ผู้สมัครต้องการลงได้อีก

2.      ทั้ง HR หรือผู้บริหารที่เป็นกรรมการสัมภาษณ์ในบริษัทแห่งใหม่ที่ไปสมัครงานเขาก็คงจะต้องมีคำถามนะครับว่า ทำไมถึงต้องลาออกมาก่อนแล้วค่อยมาหางานใหม่มีปัญหาอะไรในที่ทำงานเดิมมากมายหรือเปล่า เผลอ ๆ กรรมการสัมภาษณ์บางท่านอาจจะ “มโน” ไปไกลขนาดว่าผู้สมัครรายนี้เป็นคนจับจด ไม่อดทน ไม่สู้งาน เอะอะไม่พอใจก็ลาออกมาโดยไม่แคร์ว่าจะมีงานรองรับหรือเปล่า แล้วถ้ามาอยู่กับบริษัทของเราแล้วเขาทำอย่างนี้กับบริษัทของเรา มิวุ่นวายต้องมาหาคนใหม่กันกระทันหันทำนองนี้อีกหรือ ฯลฯ แล้วแต่จะมโนกันไปนะครับ ซึ่งความคิดทำนองนี้คงไม่เป็นผลดีนักกับผู้สมัครงาน แถมถ้าผู้สมัครงานตอบคำถามเหล่านี้ได้ไม่สมเหตุสมผลล่ะก็โอกาสได้งานยิ่งลดน้อยลงไปอีก เมื่อเปรียบเทียบกับผู้สมัครรายอื่นที่ยังมีงานทำอยู่ในตอนนี้จริงไหมครับ

เป็นยังไงบ้างครับกับข้อดี-ข้อเสียของทั้งสองทางเลือกที่ผมยกมาข้างต้น คงจะพอเป็นข้อคิดให้ท่านที่กำลังคิดจะหางานใหม่ได้เอาไว้ตัดสินใจได้ดีขึ้นแล้วนะครับว่าจะเลือกทางไหนถึงจะดีที่สุดสำหรับตัวของท่านเอง

            แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะฝากไว้สำหรับท่านที่กำลังคิดที่จะลาออกก็คือ อะไรคือปัญหาและสาเหตุที่แท้จริงของความคิดที่อยากจะลาออกจากที่ทำงานปัจจุบันซึ่งเราได้ให้เวลา รวมถึงได้อดทนพยายามแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างเต็มที่แล้วหรือยัง แล้วเราได้คิดตัดสินใจด้วยเหตุและผลอย่างดีแล้ว โดยไม่ใช่ด้วยการตัดสินใจแบบอารมณ์ชั่วแล่น

          เพราะอนาคตย่อมขึ้นอยู่กับปัจจุบันที่ท่านตัดสินใจ....ขอให้ท่านตัดสินใจได้ถูกต้องครับ
.........................................