วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2558

ละทิ้งหน้าที่แบบไหนที่มีเหตุผลอันสมควรหรือไม่สมควร ?


            สวัสดีปีใหม่ 2558 ครับ

            ตั้งแต่เย็นวันอาทิตย์ที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา ผมก็ได้เห็นข้อความทาง Social Media ในทำนองว่า “เฮ้อ..พรุ่งนี้ต้องทำงานอีกแล้วเหรอเนี่ยะ” เยอะพอสมควร ก็เข้าใจได้นะครับว่าวันหยุดยาวทำให้หลายคนติดใจ แต่ก็ต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานที่เราทำอยู่เลยต้องกลับมาทำงานกันตามปกติ

          แต่ถ้ามีใครหยุดแล้วเกิดติดใจจนไม่มาทำงานทำการล่ะ จะเป็นยังไง ?

            ก็จะมีคำเรียกในทางกฎหมายแรงงานว่า “ละทิ้งหน้าที่” หรือเรียกภาษาคนทำงานว่า “ขาดงาน” น่ะสิครับ

            วันนี้เรามาคุยกันเรื่องการขาดงานให้อินเทรนด์เข้ากระแสหลังปีใหม่กันดูดังนี้ครับ....

การกระทำความผิดทางวินัยตามกฎหมายแรงงานเรื่องหนึ่งที่ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงที่หากลูกจ้างกระทำความผิดนี้นายจ้างจะสามารถบอกเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย (ตามอายุงาน) และไม่ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า

            นั่นคือเรื่อง “การละทิ้งหน้าที่” หรือภาษาคนทำงานจะเรียกว่า “การขาดงาน” ครับ

            คือตามมาตรา 119 วงเล็บ 5 ของกฎหมายแรงงานเขียนไว้อย่างนี้

          มาตรา ๑๑๙  นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้….

….(๕)  ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร….

นี่ผมคัดมาเพียงส่วนที่พูดถึงความผิดของลูกจ้างในเรื่องการละทิ้งหน้าเท่านั้นนะครับ รายละเอียดมากกว่านี้ให้ท่านเข้าไปที่กูเกิ้ลแล้วพิมพ์คำว่ากฎหมายแรงงานนะครับ

จากความผิดของลูกจ้างในข้อนี้มักจะมีข้อถกเถียงกันอยู่บ่อย ๆ ว่าแล้วการละทิ้งหน้าที่แบบไหนที่ถือว่า “มีเหตุอันสมควร” หรือการละทิ้งหน้าที่แบบไหนถึงจะ “ไม่มีเหตุอันสมควร”

ผมก็เลยขอประมวลตัวอย่างมาเพื่อพอเป็นไอเดียสำหรับท่านดังนี้ครับ

การละทิ้งหน้าที่ที่น่าจะถือได้ว่ามีเหตุอันสมควร

1.      มีเหตุเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น ฝนตกหนักทางขาด หรือเกิดน้ำท่วมจนลูกจ้างไม่สามารถเดินทางมาทำงานได้ตามปกติ

2.      ลูกจ้างป่วยหนักจนมาทำงานไม่ได้

3.      หยุดไปช่วยงานศพบุพการี, คู่สมรส, บุตร

4.      ดูแลรักษาพยาบาลบุพการี, คู่สมรส, บุตร ที่ป่วยหนักมากจำเป็นต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด

5.      ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวไว้

6.      ถูกนายจ้างสั่งให้หยุดงานไปก่อน  เช่น ลูกจ้างถูกตำรวจจราจรยึดใบอนุญาตขับขี่ หัวหน้าจึงบอกให้หยุดพักงานไปก่อนจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตขับขี่กลับคืนมา

7.      ถูกนายจ้างแจ้งเลิกจ้างไม่ให้มาทำงานโดยให้มีผลในวันรุ่งขึ้น ทำให้ลูกจ้างหยุดงานในวันรุ่งขึ้นตามคำสั่งนายจ้าง

ซึ่งการละทิ้งหน้าที่ของลูกจ้างตามตัวอย่างข้างต้นนี้นายจ้างจะเลิกจ้างตามข้อ 5 ของมาตรา

119 ข้างต้นโดยโมเมไม่จ่ายค่าชดเชยหรือค่าบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ได้นะครับ

การละทิ้งหน้าที่ที่น่าจะถือว่า “ไม่มีเหตุอันสมควร”

            การละทิ้งหน้าที่ของลูกจ้างดังต่อไปนี้แหละครับที่น่าจะเข้าข่ายการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งถ้าหากละทิ้งหน้าที่การงานไปตั้งแต่สามวันทำงานติดต่อกัน (ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม) ก็จะทำให้นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าพูดง่าย ๆ คือเลิกจ้างได้เลยทันทีนั่นแหละครับ

            มีดังนี้

1.      ลูกจ้างลงเวลาเข้าทำงานแต่ไม่ปฏิบัติงาน เช่น มารูดบัตรลงเวลามาทำงานตั้งแต่เช้า แต่แทนที่จะทำงานกลับโดดงานไปเที่ยวหรือกลับไปนอนตีพุงอยู่บ้านซะงั้น แม้จะมารูดบัตรลงเวลาทำงานก็จริงแต่ถือว่า “ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร” นะครับ

2.      นัดหยุดงานโดยไม่ชอบ โดยไม่มีปี่มีขลุ่ยอยู่ดี ๆ ก็ชักชวนเพื่อน ๆ ให้นัดหยุดงานวันรุ่งขึ้นเพื่อประท้วงโดยไม่ได้มีการบอกกล่าวหรือยื่นข้อเรียกร้องใด ๆ ให้นายจ้างรู้มาก่อน

3.      หยุดงานเพราะเมาค้างมาจากเมื่อคืน พูดง่าย ๆ ภาษาคอเหล้าว่า “แฮ๊งค์” น่ะครับ ตื่นมาทำงานไม่ไหวก็เลยหยุดงานซะงั้น

4.      นายจ้างมีคำสั่งย้ายโดยชอบให้ไปปฏิบัติงานที่อื่นซึ่งนายจ้างมีอำนาจออกคำสั่งได้ตามกฎระเบียบของบริษัท แต่ลูกจ้างที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานตามคำสั่งของนายจ้างกลับดื้อแพ่งไม่ยอมย้ายไปทำงานตามคำสั่ง อย่างนี้ก็ถือว่าละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรครับ

5.      แจ้งลาป่วยเท็จ แม้ว่านายจ้างจะอนุมัติให้ลาป่วยไปแล้ว แต่ต่อมานายจ้างทราบความจริงว่าลูกจ้างไม่ได้ป่วยจริงจึงติดต่อให้กลับมาทำงาน แต่ลูกจ้างก็ไม่กลับมาทำงานตามคำสั่ง อย่างนี้ก็ถือว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร แถมยังโดนเรื่องการแจ้งลาป่วยเป็นเท็จอีกต่างหากนะครับ

6.      ลูกจ้างลาโดยไม่ชอบแล้วยังหยุดงาน เช่น ลูกจ้างยื่นใบลาพักร้อนซึ่งตามระเบียบของบริษัทแจ้งว่าต้องยื่นใบลาพักร้อนล่วงหน้าต่อผู้บังคับบัญชาอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์แล้วให้ผู้บังคับบัญชาอนุมัติเสียก่อน แต่ลูกจ้างยื่นใบลาพักร้อนวันนี้แล้ววางไว้บนโต๊ะหัวหน้าโดยมีผลหยุดในวันรุ่งขึ้นแล้วหายไป 5 วัน อย่างนี้ก็ถือว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรนะครับ เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของบริษัท นายจ้างมีสิทธิไม่อนุมัติการลาในครั้งนี้จึงถือเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรครับ

 จากตัวอย่างข้างต้น ปัญหาการตีความจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างรู้และเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเองและมีการสื่อสารที่ดีต่อกัน

            เช่นลูกจ้างมีเหตุจำเป็นต้องหยุดงานก็บอกกล่าวนายจ้างให้เขาได้รับรู้เหตุผลความจำเป็นและทำตามระเบียบของบริษัท ในขณะที่นายจ้างก็ต้องไม่เขี้ยวไม่แล้งน้ำใจจนเกินไปเมื่อลูกจ้างมีเหตุจำเป็นมาขอลาหยุด

            แต่ถ้าลูกจ้างคอยแต่จะจ้องหาวันโดดงาน อยากได้เงินเดือนเยอะ ๆ แต่ไม่อยากจะมาทำงานอู้ได้เป็นอู้ โดดงานได้เป็นโดด ในขณะที่ฝ่ายนายจ้างก็ใจร้ายใจดำกับลูกจ้าง เช่น  เขามาขอลาหยุดเพื่อไปดูแลลูกที่ป่วยแอดมิตอยู่ที่โรงพยาบาลก็ยังไม่ยอมอนุญาต แถมบอกอีกว่า “คุณไม่ใช่หมอหรือพยาบาลไปเฝ้าลูกคุณก็ทำอะไรไม่ได้หรอกเสียเวลางานเปล่า ๆ พี่ไม่อนุญาตให้ลา ...”

            เพราะต่างฝ่ายต่างขาดคำว่า “ใจเขา-ใจเรา” อย่างนี้แหละครับถึงได้ต้องมีคดีไปให้ศาลท่านตัดสินหรือต้องมาตีความกันวุ่นวายกันอยู่ทุกวันนี้

            เมื่อรู้อย่างนี้แล้วทั้งนายจ้างและลูกจ้างลองคิดทบทวนแล้วลองปรับปรุงอะไรให้ดีขึ้นเพื่อลดปัญหาแรงงานสัมพันธ์จะได้ทำงานกันอย่างมีความสุขใจทั้งสองฝ่ายจะดีกว่าไหมครับ ?

 

……………………………