วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เปิดใจรับความสามารถของ “คนใน” บ้างจะดีไหม ?


            เรื่องที่ผมจะเล่าให้ท่านฟังวันนี้ผมว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้วล่ะ เป็นเรื่องที่เรามักจะเคยได้ยินอยู่บ่อย ๆ ซ้ำไปซ้ำมาจนคล้าย ๆ กับจะเป็นปรากฎการณ์แบบเดจาวู (Dejavu) กันไปแล้ว จนทุกวันนี้ผมไปบรรยายที่บริษัทไหนก็ยังได้ยินเรื่องทำนองนี้อยู่บ่อย ๆ ซึ่งก็คล้าย ๆ กับตอนที่ผมทำงานประจำอยู่ก็เคยประสบพบมากับตัวเองแบบเดียวกันนี้

            ก็เรื่องที่ฝ่ายบริหาร (บางคน) ไม่ยอมเปิดใจรับความสามารถของคนใน แต่เชื่อคนนอกมากกว่าคนในน่ะสิครับ !

            ยกตัวอย่างเช่น....

1.      ฝ่ายบุคคลเสนอจัดการอบรมหลักสูตร “เทคนิคการสัมภาษณ์ให้กับ Line Manager” ที่จะต้องไปทำหน้าที่สัมภาษณ์ผู้สมัครงานเพื่อให้คัดเลือกคนที่มีคุณสมบัติเหมาะตรงตามที่บริษัทคาดหวัง โดยแจ้งไปที่ MD ว่าจะมีวิทยากรภายในคือ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลเป็นผู้สอน ซึ่ง MD ก็อาจจะมีคำถามกลับมาว่า “HR จะสอนได้เร๊อ..ผมว่าเอาวิทยากรภายนอกมาสอนจะดีกว่ามั๊ง น่าเชื่อถือดี....ฯลฯ” แปลความหมายได้ว่าถ้า HR สอนเองก็ไม่น่าเชื่อถือ แต่ถ้าเสียตังค์จ้างวิทยากรภายนอกมาสอนจะได้น่าเชื่อถือ ??

2.      ผู้จัดการแผนกจัดซื้อย้ายไปเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายธุรการ แทนที่บริษัทจะพิจารณาผู้ช่วยผู้จัดการแผนกจัดซื้อให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน ก็จะมีคำพูดทำนองที่ว่า “ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกจัดซื้อยังมือไม่ถึง ยังเลื่อนเป็นผู้จัดการแผนกจัดซื้อไม่ได้หรอก....หาคนนอกเข้ามาแทนก็แล้วกัน....”

ฯลฯ

สรุปก็คือพอเชื่อว่าคนในทำไม่ได้ก็เลยต้องไปจ้างคนนอกเข้ามาทำแทน ไม่ว่าจะเป็นการจัดฝึกอบรมภายในที่บางครั้งอาจจะให้คนในเป็นวิทยากรสอนงานกันเองก็ได้ หรือจะเป็นการหาคนนอกเข้ามาดำรงตำแหน่งใดที่ว่างอยู่แทนที่จะเลื่อนคนในมาทำในตำแหน่งนี้ก็ตาม

แล้วหลายครั้งที่บริษัทพบว่าการจ้างคนนอกเข้ามาทำงานก็ไม่ได้ดีกว่าที่จะให้คนในทำสักเท่าไหร่นักแถมปะเหมาะเคราะห์ไม่ดี คนนอกที่เข้ามาทำก็ทำไว้ไม่ดี หรือเข้ามาไม่นานก็ลาออกไปแล้วบริษัทก็ต้องมาหาคนใหม่ (ซึ่งก็คงจะเป็นคนนอกอีกนั่นแหละ) มาทำอีกแล้วก็เกิดปัญหาซ้ำซากในแบบเดิม ๆ กันอีก !!

แล้วจะแก้ไขยังไงกันดีล่ะในเรื่องนี้ ?

ผมเสนออย่างนี้ดีไหมครับ

1.      บริษัทของท่านควรจะเริ่มต้นที่จะค้นหาสมรรถนะหรือขีดความสามารถที่เรียกเป็นภาษาฝรั่ง (เพราะฝรั่งเป็นคนคิด) ว่า Competencyของตำแหน่งงานต่าง ๆ ในแต่ละฝ่ายให้ชัดเจนเสียก่อน โดยแนวคิดที่อธิบายแบบง่าย ๆ ก็คือ คนที่ทำงานในฝ่ายนั้น ๆ จะต้องมีขีดความสามารถในหน้าที่งาน หรือ Functional Competency (ผมขอเรียกย่อ ๆ ว่า FC นะครับ) อะไรบ้าง เช่น คนทำงานด้าน HR ควรจะต้องมีความรู้ด้านกฎหมายแรงงาน, คนทำงานฝ่ายซ่อมบำรุงควรจะมีทักษะการซ่อมบำรุงเครื่องจักร, คนทำงานบัญชีต้องมีความรู้ด้านกฎหมายภาษี, คนทำงานฝ่ายขายต้องมีทักษะการขาย เป็นต้น ซึ่ง FC ก็จะประกอบด้วย K S A คือ K=Knowledge พนักงานจะต้องมีความรู้ในงานที่ทำอยู่ยังไงที่หน่วยงานต้องการ, S=Skills พนักงานจะต้องมีทักษะหรือต้องลงมือปฏิบัติอะไรที่สำคัญที่หน่วยงานต้องการ และ A=Attributes พนักงานจะต้องมีคุณลักษณะภายในอะไรที่จะทำให้งานนั้นสำเร็จลุล่วงราบรื่นได้ดีบ้าง ซึ่งแต่ละหน่วยงานต้องช่วยกันคิดและค้นหา K S A ออกมา

2.      นำ  FC จากข้อ 1 มาคิดวางแผนพัฒนาระยะยาวที่เรียกว่า “Training & Development Roadmap” โดยคิดตั้งแต่พนักงานที่เข้ามาใหม่ในฝ่ายต่าง ๆ จะอยู่ในตำแหน่งนั้น ๆ สักกี่ปีจึงจะได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไปจนกระทั่งเป็นผู้จัดการฝ่ายใช้เวลากี่ปี ซึ่งตั้งแต่ปีแรกที่เข้ามาทำงานบริษัทควรจัดการฝึกอบรม หรือพัฒนาพนักงานยังไงบ้าง เช่น เข้ามาเป็นพนักงานปีแรกต้องเรียนรู้เรื่องอะไร ปีที่สองต้องเรียนรู้เรื่องอะไร ปีที่สามต้องเรียนรู้เรื่องอะไร....ฯลฯ ไปจนสูงสุดคือเป็นผู้จัดการฝ่ายต้องเรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง ซึ่งหลักสูตรหรือการพัฒนานี้ก็จะคิดมาจาก Functional Competency ที่เราหาไว้จากข้อ 1 มาเป็นแนวทางในการพัฒนาพนักงานไปแบบระยะยาว ซึ่งการวางแผนพัฒนาแบบนี้จะทำให้บริษัทมีทิศทางในการพัฒนาพนักงานที่ชัดเจนเพราะหลักสูตรหรือการพัฒนาจะต้องสอดคล้องกับ FC รวมถึงงบประมาณการฝึกอบรมหรือพัฒนาก็จะใช้อย่างถูกต้องและพัฒนาพนักงานให้เกิดความรู้ความสามารถที่จำเป็นตาม FC จริง ๆ ไม่ใช่การจัดการฝึกอบรมแบบสะเปะสะปะ เรื่อยเปื่อยแล้วก็เสียเงินงบประมาณจัดอบรมในแต่ละปีแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

3.      มีการติดตามผลการพัฒนาพนักงานตาม FC อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยหัวหน้าของพนักงานแต่ละคนจะต้องเป็นผู้ติดตามผลการพัฒนา รวมถึงต้องเป็นผู้สอนงาน (Coach) ให้กับลูกน้องของตัวเองเป็นระยะ และประเมินศักยภาพลูกน้องเป็นระยะว่าลูกน้องของตนเองจะเติบโตไปในเส้นทางไหนดี

หากทำได้อย่างนี้แล้วผมเชื่อมั่นว่า บริษัทก็จะมีแผนและสามารถพัฒนา “คนใน”  ทุกระดับทุกหน่วยงานให้มีขีดความสามารถให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น และลดปัญหาการจ้างคนนอกที่เข้ามาทำงานแล้วก็เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาในภายหลังได้ไม่น้อยเลยนะครับ

            เมื่อท่านทราบแนวทางอย่างนี้แล้วอยู่ที่ว่าบริษัทของท่านพร้อมจะทำเรื่องนี้เมื่อไหร่ล่ะครับ

 
…………………………………..