วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2557

คำถามเกี่ยวกับสัญญาจ้าง

            อันที่จริงแล้ว ผมเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับสัญญาจ้างไว้หลายครั้งแล้วแต่ก็ยังมักจะมีคำถามในเรื่องสัญญาจ้างของคนที่เพิ่งจะได้งานทำและสอบถามมาอยู่เสมอ ๆ แต่ไม่เป็นไรครับเรื่องพวกนี้ถามบ่อย ๆ ตอบบ่อย ๆ เดี๋ยวก็ค่อย ๆ ซึม (หมายถึงเข้าใจนะครับ ไม่ได้หมายถึงคนตอบหรือคนถามนั่งซึม) เรื่องเหล่านี้ไปเอง

            คำถามมีอย่างนี้ครับ

1. เมื่อบริษัทรับเข้าทำงานแล้วทำสัญญาจ้างโดยมีการระบุว่าทดลองงาน 119 วัน เมื่อพ้นทดลองงานแล้ว บริษัทถึงจะทำสัญญาจ้างเป็นพนักงานประจำใช่หรือไม่
2. กรณีมีเงื่อนไขว่าเมื่อพ้นทดลองงาน (ศัพท์คนทำงานเขาเรียกว่า “พ้นโปรฯ” หมายถึง Probation=ทดลองงาน นั่นแหละครับ) แล้ว บริษัทจะปรับเงินเดือนให้อีก 2,000 บาท จะมีวิธีคำนวณยังไงในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างการทดลองงาน และการบรรจุเป็นพนักงานประจำ
3. หากบริษัททำสัญญาจ้างแบบมีระยะเวลา พนักงานไม่ต้องมีช่วงเวลาทดลองงานใช่หรือไม่ และเมื่อครบระยะเวลาแล้ว บริษัทจะต้องมีหนังสือแจ้งเตือนพนักงานอีกหรือเปล่า

ผมตอบแต่ละข้อดังนี้นะครับ

            ตอบข้อ 1 : ถ้าบริษัทรับคุณเข้าเป็นพนักงานประจำ บริษัทก็จะทำสัญญาอย่างที่คุณถามมานั่นแหละครับ โดยส่วนใหญ่มักจะระบุระยะเวลาทดลองงานไว้ไม่เกิน 120 วัน อย่างที่คุณถามมา เพราะเหตุผลว่า ถ้ามีการทดลองงานตั้งแต่ 120 วันขึ้นไปแล้วผลงานของพนักงานทดลองงานไม่เป็นที่น่าพอใจ บริษัทก็จะต้องแจ้งผลว่าไม่ผ่านทดลองงาน ซึ่งก็มักจะให้พนักงานเขียนใบลาออกไป ซึ่งถ้าพนักงานเขียนใบลาออกก็ไม่มีปัญหาอะไรกับทางบริษัท

            แต่ถ้าพนักงานไม่เขียนใบลาอออก บริษัทก็ต้องทำหนังสือเลิกจ้างด้วยสาเหตุไม่ผ่านทดลองงาน ซึ่งก็จะเป็นประวัติด้านลบสำหรับพนักงาน (ส่วนใหญ่พนักงานไม่ผ่านทดลองงานถึงเขียนใบลาออกเพราะไม่อยากมีปัญหากับบริษัทแห่งใหม่ที่ไปกรอกใบสมัครงานเพราะต้องให้ข้อมูลว่า “ถูกเลิกจ้าง” เนื่องจากไม่ผ่านทดลองงาน) แต่ในกรณีเลิกจ้างดังกล่าวบริษัทก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานตามกฎหมายแรงงานมาตรา 118 คือ พนักงานที่อายุงาน (นับแต่วันเข้าทำงานจนถึงวันที่เลิกจ้าง) 120 วันไม่เกิน 1 ปี จ่ายค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน

            แต่ถ้าคุณผ่านทดลองงานบริษัทก็มักจะมีคำสั่งบรรจุให้คุณเป็นพนักงานประจำ ดังนั้นส่วนใหญ่มักไม่ทำสัญญาจ้างเป็นพนักงานประจำขึ้นมาใหม่หรอกครับ จะใช้คำสั่งบรรจุเป็นตัวยืนยันกับพนักงานมากกว่า ซึ่งสัญญาจ้างงานแบบนี้เรียกภาษากฎหมายว่า “สัญญาจ้างแบบไม่มีระยะเวลา” คือจ้างเป็นพนักงานประจำกันจนกว่าพนักงานจะลาออก หรือจนเกษียณ หรือจนบริษัทจะเลิกจ้างกันไปข้างหนึ่งนั่นแหละครับ

ตอบข้อ 2 : วิธีคิดก็คือ นำเงินเดือนที่จะปรับเพิ่มคือ 2,000 บาท มาหาร 30 (คือ 1 เดือนทำงาน 30 วัน) จะได้วันละ 67 บาท แล้วคุณพ้นโปรฯ ตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ในเดือนนั้นล่ะ เช่น พ้นโปรฯ วันที่ 18 มิถุนายน บริษัทก็จะจ่ายเงินเดือนส่วนเพิ่มนี้ให้คุณ 12 วัน (ตั้งแต่วันที่ 19-30 มิถุนายน) วันละ 67 บาท รวมเป็นเงิน 67x12=804 บาท และในเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป คุณก็จะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นอีก 2,000 บาทเต็มเดือนครับ

ตอบข้อ 3 : ปกติ “สัญญาจ้างแบบมีระยะเวลา” บริษัทมักจะทำสำหรับพนักงานชั่วคราวที่จ้างเข้ามาทำงานเป็นโครงการเฉพาะเรื่องเฉพาะกิจเป็นครั้ง ๆ ไป โดยระบุระยะเวลาการทำงานไว้อย่างชัดเจนในสัญญา เมื่อจบโครงการตามสัญญาพนักงานก็ไม่ต้องเขียนใบลาออก และบริษัทก็ไม่ต้องบอกเลิกจ้าง โดยจะถือว่าสภาพการจ้างหมดไปโดยระยะเวลาในสัญญา

เช่น บริษัท ABC ทำสัญญาจ้างนายทรงยศ เข้ามาทำงานวิจัยตลาดคู่แข่งให้บริษัท โดยระบุระยะเวลาในสัญญาไว้ 1 ปี ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2557 ถึง 31 พฤษภาคม 2558 เมื่อถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2558 นายทรงยศ ก็ไม่ต้องมาทำงานกับบริษัท ABC อีกต่อไปโดยที่นายทรงยศไม่ต้องยื่นใบลาออก และบริษัทก็ไม่ต้องทำหนังสือเลิกจ้าง โดยบริษัทจะต้องจ่ายค่าจ้างให้นายทรงยศจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2558

แต่ถ้าบริษัทยังปล่อยให้นายทรงยศมาทำงานต่อไปหลังจากครบสัญญา ก็จะกลายเป็นว่าเกิดสภาพการจ้างต่อเนื่องดังนั้นจะกลายเป็นสัญญาจ้างแบบไม่มีระยะเวลา (ซึ่งก็คือสัญญาจ้างพนักงานประจำทั่วไปนั่นเอง) ไปทันที ถ้าบริษัทจะเลิกจ้างนายทรงยศเมื่อไหร่ก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานนับแต่วันแรกที่นายทรงยศเข้ามาทำงานกับบริษัทตามมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงาน (ไป Search คำว่า “กฎหมายแรงงาน” ในกูเกิ้ลดูนะครับว่ามาตรา 118 มีรายละเอียดยังไงบ้าง) แต่ถ้านายทรงยศลาออกเองบริษัทก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

หวังว่าเราคงเข้าใจเรื่องของสัญญาจ้างตรงกันแล้วนะครับ


………………………………….