วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557

บริษัทไม่มีเกษียณอายุ ผิดกฎหมายแรงงานหรือไม่ ?

            “งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา การทำงานก็ย่อมมีวันสิ้นสุด” และการสิ้นสุดของการทำงานก็มักจะเป็นการเกษียณอายุ ซึ่งการเกษียณอายุนี่แหละครับเป็นเรื่องที่เราจะมาคุยกันในวันนี้

            วันนี้ผมมีคำถามที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งครั้งแรกที่ผมได้ยินคำถามนี้ผมก็เลยรีบจดหัวข้อนี้มาเพื่อเอามาแลกเปลี่ยนกับท่านทันทีเพราะกลัวลืม

            คำถามก็มีอยู่ว่า

1. ถ้าที่บริษัทไม่มีการกำหนดให้พนักงานเกษียณอายุ บริษัททำผิดกฎหมายแรงงานหรือไม่
2. ถ้าบริษัทจะกำหนดระเบียบการเกษียณอายุ จะต้องให้พนักงานเกษียณที่อายุเท่าไหร่
3. บริษัทจะต้องจ่ายเงินอะไรเป็นพิเศษให้พนักงานที่เกษียณอายุหรือไม่

            บางทีเราก็ทำงานกันจนลืมไปว่าวันหนึ่งเราก็จะต้องหยุดการทำงานด้วยวัยที่มากขึ้น ด้วยสังขารที่เปลี่ยนไป ตอนที่เรายังหนุ่มยังสาวเราอาจจะไม่ได้เคยคิดถึงเรื่องเหล่านี้ แต่พออายุเริ่มมากขึ้นก็เลยเริ่มหวนกลับมาคิดแล้วว่าเราจะทำงานไปจนถึงอายุเท่าไหร่กันหนอ ก็เลยเกิดคำถามทำนองนี้ขึ้นมา
             
             ซึ่งแน่นอนครับว่าเจ้าของคำถามนี้อายุเกิน 50 ขึ้นมาแล้วครับ (555..)

            ผมก็เลยขอตอบคำถามแบบเอามาแชร์ให้ท่านที่สนใจเรื่องนี้ได้ทราบพร้อม ๆ กันอย่างนี้ครับ

ตอบข้อ 1 : ส่วนมากที่ผมพบ (หรือที่ผมเคยทำมา) บริษัทมักจะกำหนดเรื่องการเกษียณอายุไว้ในหมวดของการเลิกจ้างและการพ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน ซึ่งจะอยู่ในข้อบังคับการทำงานของบริษัท โดยหมวดนี้จะพูดถึงการพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานมีอะไรบ้าง เช่น การตาย, การลาออก, การเลิกจ้าง และการเกษียณอายุ เป็นต้น

            แต่หากบริษัทใดไม่ได้ระบุเรื่องการเกษียณอายุเอาไว้ให้ชัดเจนอย่างที่ผมบอกมานี้ ก็ไม่ได้ถือว่าทำผิดกฎหมายแรงงานนะครับ แต่ถ้าไม่มีข้อกำหนดเรื่องการเกษียณอายุให้ชัดเจนก็หมายถึงบริษัทจ้างพนักงานทำงานไปตลอดชีวิตจนกว่าพนักงานจะตายจากบริษัท หรือจนกว่าพนักงานจะลาออก หรือบริษัทเลิกจ้างพนักงานคนนั้น ๆ ไปนั่นแหละครับ

             ข้อดีของการไม่กำหนดการเกษียณอายุก็คือพนักงานจะทำงานไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะลาอออกไปเอง ซึ่งแน่นอนว่าหากพนักงานลาออกก็จะไม่ได้รับค่าชดเชยใด ๆ จากบริษัทเพราะถือว่าพนักงานลาออก แต่ถ้าพนักงานทำงานต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะมีงานทำและมีเงินได้ไปเรื่อย ๆ ตลอดชีวิตครับ

            เท่าที่ผมเคยเห็นมาก็พบว่ามีอยู่บ้างเหมือนกันที่บางบริษัทไม่มีการกำหนดการเกษียณอายุเอาไว้ (แต่ก็เป็นส่วนน้อย) ส่วนใหญ่จะกำหนดการเกษียณอายุพนักงานไว้ทั้งนั้นแหละครับ ดังนั้นถ้าท่านอยากรู้ว่าบริษัทของท่านมีกำหนดการเกษียณอายุไว้หรือไม่ก็ต้องสอบถาม HR หรือขอดูข้อบังคับการทำงานของบริษัทครับ

ตอบข้อ 2 : กรณีที่บริษัทกำหนดการเกษียณอายุจะกำหนดไว้ที่อายุเท่าไหร่ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของฝ่ายบริหารว่าอยากให้พนักงานเกษียณที่อายุกี่ขวบ จากผลการสำรวจของบริษัท HR Center พบว่าบริษัทกำหนดให้พนักงานเกษียณที่อายุ 60 ปี จะมีอยู่ราว ๆ 56% ส่วนบริษัทที่กำหนดให้พนักงานเกษียณที่อายุ 55 ปีจะมีอยู่ราว ๆ 43% ครับ

ตอบข้อ 3 : บริษัทจะต้องจ่ายเงินอะไรเป็นพิเศษให้กับพนักงานเกษียณหรือไม่ ก็ตอบได้ว่าจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน (ตามมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงาน) นั่นคือสมมุติว่าอายุงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป (เพราะส่วนมากคนที่เกษียณอายุก็มักจะทำงานกันมาเกิน 10 ปีขึ้นไปทั้งนั้นแหละครับ) ก็จ่ายค่าจ้างอัตราสุดท้ายคูณ 300 วัน (คิดค่าจ้างอัตราสุดท้ายหาร 30 ได้เท่าไหร่ก็คูณ 300 ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดของค่าชดเชยแล้วครับ) เข้าไป ซึ่งภาษาคนทำงานจะบอกว่าได้ค่าชดเชย 10 เดือนนั่นแหละครับ

ถ้าจะถามว่าทำไมต้องจ่ายค่าชดเชยด้วยล่ะ ก็ตอบได้ว่าเพราะการที่บริษัทกำหนดการเกษียณอายุไว้ในระเบียบข้อบังคับการทำงานของบริษัท ก็เสมือนบริษัทแสดงเจตนาบอกเลิกจ้างเมื่อพนักงานมีอายุครบเกษียณยังไงล่ะครับ เมื่อเลิกจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายก็เท่านั้นแหละครับ

แต่ถ้าบริษัทจะจ่ายเงินพิเศษอะไรให้กับพนักงานเกษียณมากกว่าที่กฎหมายกำหนดก็จะเป็นเรื่องดีสำหรับพนักงานทั้งที่เกษียณและพนักงานที่ยังปฏิบัติงานอยู่ให้ได้รับรู้ว่าบริษัทให้ความสำคัญและดูแลพนักงานที่ทำงานกับบริษัทมาอย่างยาวนานด้วยดี ซึ่งก็จะทำให้เกิดความรู้สึกดี ๆ ขึ้นระหว่างพนักงานกับบริษัทด้วย


อย่าลืมว่าพนักงานที่เกษียณไปแล้วยังจะต้องมีชีวิตอยู่โดยไม่มีงานประจำทำเหมือนเดิมไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าจะถึงช่วงสุดท้ายของชีวิตซึ่งต้องใช้เงินที่สะสมมาตลอดชีวิตการทำงานในการกินอยู่และรักษาตัวในบั้นปลายด้วยเหมือนกัน ซึ่งถ้าบริษัทไหนมีโปรแกรมที่ช่วยเหลือพนักงานเกษียณที่มากกว่าค่าชดเชยที่กฎหมายกำหนดก็จะเป็นอานิสงส์กับผู้บริหารและกับบริษัทนั้นไม่น้อยเลยนะครับ.

...........................................