วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2557

เราประเมินผลการปฏิบัติงานจากอะไร ?

            ทุกองค์กรจะมีการประเมินผลการปฏิบัติงานกันอยู่เป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง ซึ่งก็มักจะประเมินกันตอนปลาย ๆ ปีเพื่อนำผลการประเมินไปใช้สำหรับการขึ้นเงินเดือนประจำปี หรือจ่ายโบนัสเป็นหลัก ซึ่งการประเมินผลการปฏิบัติงานก็นิยมแบ่งออกเป็นเกรดต่าง ๆ เช่น A, B, C, D, E หรือ 5, 4, 3, 2, 1 ถ้าพนักงานคนไหนได้รับการประเมินผลเกรด A หรือ B ก็จะได้รับการขึ้นเงินเดือนเป็นเปอร์เซ็นต์สูงกว่าคนที่ได้เกรด D หรือ E ทำนองนี้แหละครับ
            ซึ่งถ้าว่ากันตามหลักการแล้วการประเมินผลการปฏิบัติงานหัวหน้าหรือผู้ประเมินก็ควรดูผลงานของลูกน้องที่ทำมาตลอดทั้งปีแล้วก็ประเมินว่างานที่ลูกน้องทำมาทั้งปีนั้นน่ะ มีข้อผิดพลาดหรือสำเร็จลุล่วงได้ตามเป้าหมาย เกิดมรรคเกิดผลดีกับหน่วยงานหรือองค์กรมากน้อยแค่ไหนซึ่งก็ควรจะต้องมีข้อมูลข้อเท็จจริงที่เห็นได้ชัดเจนและหยิบยกมาเป็นประเด็นในการพิจารณาผลงานจริงไหมครับ
            แต่ที่ผมบอกมานั้นมันเป็นแค่หลักการน่ะสิครับ !!
          เพราะในความเป็นจริงเราก็ยังพบเห็นการประเมินผลการปฏิบัติงานแบบที่ “ใช้ความรู้สึก” ของหัวหน้างานมากกว่าการประเมินโดยใช้เหตุ-ผล หรือข้อมูลข้อเท็จจริงในการทำงานของลูกน้องมาประเมินผลการปฏิบัติงานกันอยู่เป็นประจำ
            หัวหน้างานหลายคนไม่เคยนำเอา JD (Job Description) ของลูกน้องมาดูด้วยซ้ำว่าที่ลูกน้องทำงานมาทั้งปีนั้นน่ะ ทำได้ตามงานและความรับผิดชอบ (Task & Responsibility) ตาม JD หรือเปล่า
            แต่ไปประเมินจากคุณลักษณะของลูกน้องที่หัวหน้าชื่นชอบ (หรือไม่ชอบ) เช่น ถ้าหัวหน้าชอบลูกน้องที่ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดง่ายใช้คล่อง อ่อนน้อมเชื่อฟัง ไม่โต้แย้งไม่หือ หรือมาเช้ากลับดึก ฯลฯ ก็จะประเมินผลการปฏิบัติงานลูกน้องเหล่านี้ไปทางเกรด A หรือ B
            แต่ถ้าลูกน้องมีพฤติกรรมที่ตรงกันข้ามล่ะก็อย่างเก่งไม่เกิน C หรือหนักกว่านั้นอาจจะเอาเกรด D หรือ E ไปเสียด้วยซ้ำ
            แล้วปัญหาทำนองนี้จะแก้ไขยังไงดี ?
            ผมว่าเรามาเริ่มจากการปฏิรูประบบการประเมินผลการปฏิบัติงาน (แหม..ใช้คำเข้ากับยุคสมัยเชียวนิ) เสียก่อนดีไหมครับ....
            โดยควรจะเปลี่ยนแปลงจากการใช้แบบประเมินผลการปฏิบัติงานชนิดที่เรียกกันว่า “Graphic Rating Scale” คือการกำหนดหัวข้อหรือปัจจัยในการประเมินผลการปฏิบัติงานสัก 10-20 หัวข้อดังตัวอย่างข้างล่างนี้

            มาเป็นแบบการกำหนดงานที่หัวหน้าต้องการจะให้ลูกน้องทำโดยกำหนดไปเลยว่าตั้งแต่ต้นปีลูกน้องจะต้องทำงานอะไรบ้างโดยดูจาก JD ของลูกน้องรวมทั้งงานที่หัวหน้าต้องการจะมอบหมายให้ลูกน้องเพิ่มเติม แล้วกำหนดตัวชี้วัดหลักและเป้าหมายของงานให้ชัดเจนว่างานแต่ละเรื่องที่จะมอบหมายนั้นน่ะมีเป้าหมายว่าถ้าทำได้แค่ไหนหัวหน้าถึงจะพอใจ ทำได้แค่ไหนจะมีผลการประเมินที่สูงกว่าที่หัวหน้าคาดหวังซึ่งจะทำให้ผลการประเมินมีเกรดสูงขึ้นไปอีกดังตัวอย่างข้างล่างนี้ครับ


            หลายท่านเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ก็อาจจะร้อง “อ๋อ” ก็คือการกำหนด KPIs (Key Performance Indicators) นั่นเอง
            ก็ใช่น่ะสิครับ การประเมินผลการปฏิบัติงานควรจะมีการกำหนดตัวงานและตัววัดผลงานให้ชัดเจนแบบนี้ถึงจะลดปัญหาในการใช้ “ความรู้สึก” ในการประเมินผลงานได้นะครับ
            สำหรับวิธีการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายของงานนั้น ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลยยิ่งในยุคนี้มีสื่อการเรียนรู้หรือมีหลักสูตรฝึกอบรมรวมทั้ง Workshop ให้ท่านได้เข้าใจวิธีการประเมินผลรูปแบบนี้อยู่มากมายไปหมดซึ่งท่านสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ยากนัก
            สำคัญที่ว่าองค์กรของท่านคิดที่จะเปลี่ยนวิธีการประเมินผลงานแบบใช้ความรู้สึกจิตสัมผัส หรือญาณทิพย์ มาสู่วิธีการประเมินผลงานแบบที่เป็นวิทยาศาสตร์และจับต้องได้แล้วหรือยังเท่านั้นแหละครับ

………………………………….