วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เลิกจ้างลูกจ้างชั่วคราวต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ ?


            เมื่อพูดกันถึงเรื่องการจ้างพนักงาน บริษัทต่าง  ๆ มักจะมีการจ้างแบ่งเป็น 3 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ

1.      การจ้างเข้ามาเป็นพนักงานประจำ คือจ้างเข้ามาทำงานไปจนกว่าจะเกษียณ หรือพนักงานลาออก

2.      การจ้างเป็นพนักงานชั่วคราว แบบมีระยะเวลา เช่น จ้างเข้ามาเป็นพนักงานโดยทำสัญญาจ้างกันปีต่อปี ครบปีหากผลงานดีก็จะต่อสัญญากันไปอีก 1 ปี เป็นต้น

3.      การจ้างจากบริษัทภายนอกที่เขารับหาพนักงานมาให้เราที่มักจะเรียกกันว่า Outsource

แต่ปัญหาที่ผมจะพูดถึงในวันนี้ก็คือการจ้างตามข้อ 2 คือการจ้างพนักงานชั่วคราวเข้ามาทำงานนี่แหละครับ !

หากจะสังเกตในสัญญาจ้างให้ดีจะเห็นข้อความสำคัญก็คือ “นายจ้างตกลงจะจ้างลูกจ้างเข้ามาในตำแหน่ง..........ตั้งแต่วันที่................................ถึงวันที่...................................” และหลายแห่งก็มักจะมีข้อความต่อมาในทำนองว่า “....บริษัทขอสงวนสิทธิในบอกเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยหรือค่าบอกกล่าวล่วงหน้าในกรณีที่พนักงานมีผลการปฏิบัติงานไม่ได้ตามเป้าหมาย (หรือไม่ได้ตามมาตรฐาน) ตามที่บริษัทกำหนดไว้ โดยพนักงานไม่สามารถฟ้องร้องใด ๆ กับบริษัทได้....”

            ดังนั้น หากพนักงานยังมีผลการปฏิบัติงานที่เป็นที่พึงพอใจของบริษัท (คือทำงานได้ตามเป้าหมาย) บริษัทก็ยังคงต่อสัญญากันในครั้งต่อไป

            แต่หากเมื่อใดที่พนักงานมีผลงานไม่เป็นที่พึงพอใจ บริษัทก็จะไม่ต่อสัญญาและแจ้งพนักงานว่าไม่ต้องมาทำงานอีกแล้ว (ก็คือ “การเลิกจ้าง” นั่นเอง) โดยไม่จ่ายค่าชดเชย (ตามมาตรา 118) หรือค่าบอกกล่าวล่วงหน้า (ตามมาตรา 17) โดยอ้างว่าในสัญญาจ้างได้ระบุไว้แล้ว

            อยากจะบอกให้บริษัทที่ทำแบบนี้ทราบว่า....

          การเลิกจ้างแบบนี้ท่านจะต้องจ่ายค่าชดเชย และค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายแรงงานครับ !!

 ซึ่งคดีทำนองนี้เคยมีการฟ้องศาลแรงงานหลายครั้งแล้ว และทุกครั้งแนวคำพิพากษาจะออกมาทำนองนี้เสมอ

“....ลูกจ้างทำงานกับนายจ้างติดต่อกันมาประมาณ 5 ปี ตั้งแต่วันที่.....ถึงวันที่.....ต่อมานายจ้างทำสัญญาจ้างใหม่มีข้อความระบุวันเริ่มทำงาน และกำหนดเวลาจ้างสิ้นสุด สัญญาจ้างเป็นอันเลิกต่อกันไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า การเลิกจ้างตามสัญญานี้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและลูกจ้างไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากนายจ้าง เห็นได้โดยชัดแจ้งว่ามีวัตถุประสงค์ที่จะหลีกเลี่ยงไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามสิทธิที่พึงได้รับตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯตามมาตรา 118 ขัดต่อความสงบเรียบร้อยเป็นโมฆะ....” (ฎ.569/2547)

            คงชัดเจนแล้วนะครับว่าศาลท่านดูเจตนาของบริษัทว่าจงใจหลีกเลี่ยงไม่จ่ายค่าชดเชยให้พนักงานตามมาตรา 118 ตั้งแต่การระบุข้อความที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยหากพนักงานปฏิบัติงานไม่ได้ตามเป้าหมายแล้วล่ะครับ

ดังนั้น สัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าวจึงเป็นโมฆะนั่นเอง

จึงเป็นข้อเตือนใจสำหรับผู้บริหารทั้งหลายด้วยนะครับว่า สัญญาใด ๆ ที่บริษัทเขียนขึ้นนั้นไม่ใช่กฎหมายและไม่สามารถใช้ปฏิบัติได้ทุกกรณีตามที่บริษัทต้องการเสมอไปนะครับ

ยิ่งหากสัญญา หรือกฎระเบียบใดขัดต่อกฎหมายแรงงานแล้ว สัญญาหรือกฎระเบียบนั้นจะถือเป็นโมฆะคือไม่มีผลใช้บังคับอีกด้วย

เรื่องเหล่านี้คนที่ทำงาน HR ควรที่จะสื่อสาร ชี้แจงทำความเข้าใจให้ผู้บริหารระดับสูงเข้าใจ (โดยเฉพาะ MD หรือ CEO) เพื่อจะได้มีการปฏิบัติที่ถูกต้องและไม่ทำให้องค์กรเกิดความเสี่ยงที่จะถูกพนักงานฟ้องร้องทำให้เสียชื่อเสียงขององค์กรเนื่องจากมีการกระทำที่ขัดกฎหมายแรงงานอีกด้วยครับ

วันนี้..บริษัทของท่านยังมีสัญญาจ้างทำนองนี้อยู่หรือไม่..และรู้ไหมว่าผิดกฎหมายแรงงานอยู่ ??

……………………………………..