วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับลูกน้อง..เรื่องสำคัญแต่มักถูกมองข้าม


            วันนี้ผมมีเรื่องมาเล่าสู่กันฟังเพื่อให้ได้ข้อคิดสำหรับคนที่เป็นหัวหน้างานกันอีกแล้วครับ แต่ทำความเข้าใจกันก่อนว่าคำว่า “หัวหน้างาน” ของผมหมายถึงคนที่มีลูกน้องไม่ว่าจะมีชื่อเรียกตามตำแหน่งว่าอะไรก็ตาม เช่น ซุปเปอร์ไวเซอร์, ลีดเดอร์, ผู้จัดการ, VP ฯลฯ ไม่หมายถึงชื่อตำแหน่งนะครับ ใครที่มีลูกน้องคนนั้นแหละเป็นหัวหน้างาน

            ผมมักจะเปรียบเทียบหัวหน้างานกับลูกน้องจะมีอะไรบางอย่างคล้าย ๆ พ่อแม่กับลูกอยู่เสมอ ๆ นั่นคือลูกจะคอยจับจ้องมองดูพ่อแม่อยู่เสมอว่ามีพฤติกรรมหรือการพูดการจาอะไรบ้าง ทำนองเดียวกันกับลูกน้องก็จะคอยจับจ้องมองหัวหน้าอยู่เสมอไม่ว่าหัวหน้าจะทำอะไรหรือมีพฤติกรรมอย่างไร

            แต่ลูกน้องจะไม่แค่มองหัวหน้าเฉย ๆ น่ะสิครับ เพราะ....

            “เม้าท์อะไรก็ไม่มันส์เท่าเม้าท์หัวหน้า...” จริงไหมครับ ? หรือใครไม่เคยพูดถึงหัวหน้ากับญาติสนิทมิตรสหายบ้างเลยยกมือขึ้น !

            แน่ะ ! เห็นไหมครับ ไม่มีใครยกมือสักคน....

            สัจธรรมข้อนี้เป็นจริงเสมอ ดังนั้นหัวหน้างานทุกท่านครับ ขอให้ท่านทราบไว้เถอะว่าท่านอยู่ในสายตาของลูกน้องอยู่ตลอด ไม่ว่าท่านจะแสดงพฤติกรรมใด ๆ หรือพูดจาใด ๆ ออกมา ถ้าท่านมีพฤติกรรมหรือการพูดจาที่ดีมีเหตุมีผล เขาก็จะเม้าท์ถึงท่านในทางที่ดี แต่ถ้าท่านมีพฤติกรรมหรือคำพูดคำจาที่ไม่เหมาะสม พูดอย่างทำอย่าง จุดเดือดต่ำฟิวส์ขาดง่าย โวยวายเสียงดัง ลับหลังหรือต่อหน้ามีแต่ด่า ไม่นำพาความคิดเห็นของลูกน้อง เกี่ยวข้องแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว ฯลฯ

            อย่างงี้ล่ะก็ลูกน้องที่ไหนจะมาเชื่อถือจริงไหมครับ

          ผมขอยกตัวอย่างพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมสำหรับหัวหน้างานมาพอให้ท่านเห็นภาพดังนี้

1.      หัวหน้ามาทำงานสายเสมอ เพราะไม่ต้องลงเวลามาทำงาน (จนลูกน้องแอบเม้าท์ว่าน่าจะเปลี่ยนนามสกุลเป็น “สุดสาย” หรือ “สายเสมอ”)

2.      หัวหน้างานเรียนต่อปริญญาโท (ภาคค่ำ-วันหยุด) แล้วก็เอารายงานต่าง ๆ ที่อาจารย์มอบหมายให้ทำเพื่อเอาคะแนน มาให้ลูกน้องทำในเวลางาน

3.      หัวหน้างานแวบงานไปดูแลธุรกิจอพาร์ตเม้นท์ให้เช่าของตัวเองในเวลางาน

4.      หัวหน้างานไปกินข้าวกลางวันตั้งแต่ 11 โมงเช้า และเข้ามาหลังบ่ายสองโมงเป็นประจำ

5.      หัวหน้างานไปตีกอล์ฟกับเพื่อน ๆ แต่อ้างว่าไปตีกอล์ฟกับลูกค้า แถมยังเอาใบเสร็จค่าสนาม และค่าอาหารมาเบิกเป็นค่าเอ็นเตอร์เทนจากบริษัทอีกต่างหาก

6.      หัวหน้างานทำงานตัวเป็นเกลียวหัวเป็นงู ปากว่ามือถึงชอบฉวยโอกาสแต๊ะอั๋งลวนลาม หรือจีบลูกน้องของตัวเอง บางคนเลยเถิดถึงกับได้ลูกน้องเป็นบ้านเล็กบ้านน้อย

7.      หัวหน้างานที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้จุดเดือดต่ำ ฟิวส์ขาดง่าย มีวาจาเป็นอาวุธ ดาวพุธเป็นวินาศ ลูกน้องไม่กล้าเข้าใกล้เพราะไม่รู้องค์อสูรจะลงประทับหัวหน้าเมื่อไหร่

ฯลฯ

ในทางกลับกันพฤติกรรมที่ควรแสดงให้ลูกน้องเห็นเช่น....

1.      มาทำงานตรงเวลา ใครมาสายก็ว่ากล่าวตักเตือนโดยไม่เลือกปฏิบัติ

2.      ทำงานในความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ เอาใจใส่ทุ่มเทให้งาน ติดตามงานของลูกน้องอย่างสม่ำเสมอ และให้คำปรึกษากับลูกน้องได้ในทุก ๆ เรื่องทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว ตรงนี้สังเกตง่าย ๆ ว่าลูกน้องของท่านเคยเข้ามาขอคำปรึกษาหารือหรือมาระบายเรื่องที่บ้าน เรื่องส่วนตัวให้ท่านฟังบ้างหรือไม่ ถ้าเขามาพูดคุยเรื่องเหล่านี้ผมว่าเป็นสัญญาณที่ดีคือเขาไว้ใจเราถึงได้คิดถึงเราก่อนและมาเล่าให้เราฟังเพื่อขอคำปรึกษาจริงไหมครับ

3.      รับฟังและเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้แสดงความคิดเห็นอยู่เสมอ รู้จักการทำงานเป็นทีม รู้จักพูดชมเชยเมื่อลูกน้องทำดี ขอบคุณเมื่อลูกน้องทำดี และพูดให้กำลังใจเมื่อลูกน้องเริ่มท้อถอย

4.      กินข้าวกับลูกน้อง สังสรรค์บันเทิงกันหลังเวลางานตามความเหมาะสม ไต่ถามสารทุกข์สุขดิบกับลูกน้องอย่างสม่ำเสมอ คอยช่วยเหลือลูกน้องอย่างเหมาะสมเมื่อลูกน้องมีปัญหา เหมือนพี่เหมือนน้อง ใจเขา-ใจเรา

ฯลฯ

พฤติกรรมทั้งสองด้านที่ผมยกตัวอย่างมานี้ ผมก็ทราบนะครับว่าหัวหน้างานทุกคนก็รู้ว่าควรแสดงพฤติกรรมแบบไหนกับลูกน้อง แต่แม้ว่ารู้ทั้งรู้ว่าควรทำอย่างไร เวลาทำงานจริงหัวหน้างานจะเตือนสติตัวเองให้แสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมและสมควรกับลูกน้องหรือไม่ เพื่อให้เขาพูดถึงหัวหน้างานในทางบวก

ตัวของหัวหน้างานเองจะเป็นผู้ตอบได้ดีที่สุด ซึ่งหัวหน้างานควรจะ Feedback ตัวเองอย่างตรงไปตรงมาและไม่เข้าข้างตัวเอง

มาถึงตรงนี้ผมเลยขอปิดท้ายตรงที่ว่า....

วันนี้ท่านที่เป็นหัวหน้างานได้แสดงพฤติกรรมที่เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับลูกน้อง เพื่อให้ลูกน้องเกิดความเชื่อมั่นเลื่อมใสศรัทธา และยอมรับบ้างแล้วหรือยังครับ

……………………………..