วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

ถูกเลิกจ้างเพราะผิดวินัยร้ายแรง..ต้องออกหนังสือรับรองให้หรือไม่ ?



            วันนี้มาว่ากันต่อจากเรื่องที่ผมเคยเล่าให้ท่านฟังเมื่อคราวที่แล้วคือ “เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการเลิกจ้าง” ซึ่งท่านที่พลาดเรื่องนี้ไปก็ไปตามอ่านได้ใน Blog ของผมในหมวดกฎหมายแรงงานได้นะครับ
            คราวนี้ก็จะมีคำถามต่อมาอีกว่าในกรณีที่พนักงานทำผิดวินัยร้ายแรงจนถูกเลิกจ้าง เช่น นำยาเสพติดเข้ามาในบริษัท, หรือลักขโมยทรัพย์สินของบริษัทไปขายแล้วถูกจับได้คาหนังคาเขา เมื่อบริษัทสอบสวนแล้วมีความผิดจริงก็เลยเลิกจ้างนั้น
หากพนักงานดังกล่าวมาขอหนังสือรับรองผ่านงานบริษัทจะไม่ออกหนังสือรับรองผ่านงานให้ได้หรือไม่ ?
            บ้างก็บอกว่า “ต้องออกให้” บ้างก็ว่า “ไม่ต้องไปออกหนังสือรับรองให้หรอก เพราะพวกนี้ประพฤติผิดร้ายแรง” หรือบ้างก็บอกว่า “ออกหนังสือรับรองให้ก็ได้ แต่ระบุสาเหตุเอาไว้ด้วยว่าถูกเลิกจ้างเพราะขโมยทรัพย์สินบริษัท” ฯลฯ
            ก็ว่ากันไป..
            ตรงนี้จึงอยากจะให้ท่านทราบหลักของกฎหมายแรงงานไว้ว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 585 บอกเอาไว้ชัดเจนว่า เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าลูกจ้างนั้นได้ทำงานมานานเท่าไร และงานที่ทำนั้นเป็นอย่างไร
          ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าบริษัทจะต้องออกหนังสือรับรองผ่านงานให้พนักงานทุกกรณีเมื่อเขาขอมา ไม่ว่าบริษัทจะเลิกจ้างเขา หรือเขาเขียนใบลาออกเองก็ตาม
            ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับการเลิกจ้างซึ่งมักจะเป็นปัญหาอีกก็คือ....
            เมื่อบริษัทเลิกจ้างพนักงานแล้วจะต้องจ่ายค่าจ้างเมื่อไหร่ถึงจะถูกต้อง เช่น ต้องจ่าย ณ วันที่มีผลเลิกจ้าง หรือจ่าย ณ วันจ่ายเงินเดือนตามปกติของบริษัท ฯลฯ
            หลายคนก็ตอบไม่ถูกว่าตกลงแล้วบริษัทควรจะต้องจ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างเมื่อไหร่ถึงจะถูกต้องกันแน่ ?
            และเมื่อไม่รู้ก็จะมีวิธีการปฏิบัติที่แตกต่างกันไปตามความเข้าใจของแต่ละบริษัท บางบริษัทก็จ่ายให้ตอนจ่ายเงินเดือนงวดสุดท้าย, บางแห่งก็จ่ายให้ 7 วันหลังจากเลิกจ้าง ฯลฯ
ท่านล่ะ....ตอบได้ไหมครับ ?
            เพื่อให้เข้าใจตรงกัน เราก็ไปดูมาตรา 70 ในกฎหมายแรงงานสิครับ วรรคสุดท้ายบอกไว้ว่า....
“....ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ตามที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ให้แก่ลูกจ้างภายในสามวันนับแต่วันที่เลิกจ้าง
            เห็นที่ผมขีดเส้นใต้ไว้แล้วใช่ไหมครับ ?
            ตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัทเลิกจ้างนาย A มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้กับนาย A ไม่เกินวันที่ 3 มีนาคม (3 วันนับแต่วันที่เลิกจ้างในที่นี้คือวันที่ 1 มีนาคม) ไม่ใช่ไปจ่ายในวันที่เงินเดือนออกตามงวดปกติอย่างที่หลายคนเข้าใจกันและบอกต่อกันมาแบบผิด ๆ
            คราวนี้เราคงเข้าใจวิธีปฏิบัติในเรื่องนี้ตรงกันแล้วนะครับ
            จากที่ผมเล่าให้ฟังข้างต้น อยากจะให้ข้อคิดกับท่านว่าการได้ยินได้ฟังอะไรที่เขาบอกต่อ ๆ กันมานั้น ท่านควรจะต้องใช้หลัก “กาลามสูตร” (ค้นรายละเอียดของคำนี้ในกูเกิ้ลนะครับ) นั่นคืออย่าเชื่อเรื่องที่เขาบอกต่อ ๆ กันมาเชื่อข่าวลือที่ยังไม่ได้พิสูจน์หรือหาข้อมูลที่ถูกต้องเลยว่าจริงหรือเปล่า เพราะจะเกิดความเข้าใจที่ผิดพลาดและปฏิบัติไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้บริษัทถูกฟ้องร้องเสียชื่อเสียงเอาง่าย ๆ
            เพราะยุคนี้เป็นยุคของข้อมูลข่าวสารยิ่งในเรื่องของกฎหมายแรงงานไม่เรื่องลึกลับอะไรเลย เพียงแต่ทั้งฝ่ายบริหาร, หัวหน้างาน และพนักงานหันมาให้ความสำคัญหรืออ่านเอาไว้บ้างก็จะเกิดความเข้าใจที่ตรงกันและลดปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ลงได้ และยังช่วยส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในองค์กรได้อีกด้วยนะครับ

…………………………………………