วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

หัวหน้างานมีปัญหา..แก้ยังไง ? (ตอนที่ 2)



ในตอนที่แล้วผมได้นำให้ท่านได้เห็นปัญหาของการที่องค์กรแต่งตั้งหัวหน้างานมาโดยใช้ความรู้สึกเพียงแค่ว่าคนที่จะแต่งตั้งนั้นทำงานดีมีความรู้และทักษะในงานเชิง Technical Skill เป็นหลัก โดยไม่ได้ดูถึงทักษะในการบริหารผู้คนในเชิง People Skill หรือ Leadership Skill เป็นหลัก เลยทำให้เกิดปัญหาในเรื่องงานและปัญหากับลูกน้องตามมาอีกสารพัดเรื่อง แล้วทิ้งท้ายว่าแล้วเราจะแก้ปัญหานี้ยังไงดี
ผมมีแง่คิดบางประการเกี่ยวกับแนวทางในการแต่งตั้งหัวหน้างานสำหรับองค์กรดังนี้ครับ
               1.  กรณีเลื่อนตำแหน่งจากคนในองค์กร
เมื่อมีตำแหน่งหัวหน้างานว่างลง การพิจารณาคนในที่มีความรู้ความสามารถขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนเป็นเรื่องที่เหมาะสมและควรทำ แต่....
            ข้อคิดของผมก็คือ
1.1  องค์กรของท่านมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งหรือไม่ เช่น
-          จะต้องมีอายุงานในตำแหน่งก่อนเลื่อน (หรืออายุงานในองค์กร) ไม่ต่ำกว่า.....ปี
-          มีผลการปฏิบัติงานย้อนหลัง 2 ปี ไม่ต่ำกว่าเกรด...........
-          มีผลการประเมินสมรรถนะ (Competency) ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด
-          ต้องสำเร็จการศึกษาคุณวุฒิ........
-          ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ.......(กรณีเป็นตำแหน่งที่ต้องใช้ใบประกอบวิชาชีพ)
-          ไม่เคยถูกตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรในปีที่ผ่านมา หรือไม่เคยต้องโทษทางวินัย
-          มีสถิติป่วย สาย ลา ขาดงาน ไม่เกินที่กำหนด
1.2  องค์กรพิจารณาทักษะการบริหารจัดการหรือการเป็นผู้นำทีมงาน (Leadership Skill) ด้วยหรือ
ไม่ เช่น
-          ทักษะการวางแผน
-          ทักษะการมอบหมาย ควบคุม และติดตามงาน
-          ทักษะการสอนและแนะนำงาน
-          ทักษะการให้คำปรึกษา
-          ทักษะการทำงานเป็นทีม
-          ทักษะการแก้ปัญหาและตัดสินใจ
-          การควบคุมอารมณ์ตัวเองและเข้าใจคนอื่น (Emotional Quotient)
                  ซึ่งในระยะยาวจะพบว่าทักษะในข้อนี้จะเป็นทักษะของการเป็นผู้นำทีมงานที่ดี และเป็นคุณลักษณะที่คนรอบข้างต้องการ
                        โธ่ ! ก็ใครอยากจะได้หัวหน้าที่เก่งงาน รอบรู้งานสารพัด แต่มีวาจาเป็นอาวุธ มีดาวพุธเป็นวินาศ ลูกน้องทำดีไม่เคยจำ แต่พอทำพลาดไม่เคยลืม จุดเดือดต่ำ ฟิวส์ขาดง่าย ไล่บี้ให้ตายคางาน ฯลฯ บ้างล่ะครับ
                        ซึ่งถ้าผู้บริหารไม่ได้ดูในข้อนี้ให้ดีแล้วล่ะก็ เรื่องนี้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาหัวหน้างาน และจะลุกลามเป็นปัญหาขององค์กรต่อไปในอนาคตที่ผมยกตัวอย่างมาในตอนที่แล้วยังไงล่ะครับ
                        เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหัวหน้างานในอนาคตจึงมาสู่ข้อถัดไปคือ
1.3  องค์กรกำหนดคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติของคนที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรือไม่ ซึ่งองค์กรควรจะมีคณะกรรมการชุดหนึ่ง (ในที่ทำงานเดิมผมจะเรียกว่า “คณะกรรมการพัฒนาพนักงาน” ซึ่งมักจะประกอบด้วย MD เป็นประธานและมีผู้บริหารที่ MD แต่งตั้ง) ทำหน้าที่ในการพิจารณาเลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่ง โยกย้ายพนักงาน โดยพิจารณาคุณสมบัติพนักงานที่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อ 1.1 และมีคุณสมบัติตามข้อ 1.2 เพื่อกลั่นกรองให้ได้คนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่ง ซึ่งในหลายองค์กรที่ผมเจอมาก็ยังไม่มีคณะกรรมการฯในลักษณะดังกล่าว แต่จะให้ผู้บริหารของแต่ละฝ่ายทำเรื่องเสนอขอ MD ถ้า MD เห็นชอบก็แต่งตั้งกันเลย ซึ่งจะมีโอกาสเลือกคนที่ผิดพลาดไม่เหมาะสมขึ้นมาเพื่อเกิดปัญหาในอนาคตต่อไป
1.4  ควรกำหนด “รอบ” ในการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งให้ชัดเจน เช่น ปีละ 1 ครั้ง หรือ 2 ครั้งต่อปีในเดือนไหนของปี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรม เพราะถ้าไม่กำหนดอย่างนี้ก็จะทำให้เกิดปัญหา “มือใครยาว สาวได้สาวเอา” นั่นก็คือถ้าผู้จัดการฝ่ายไหนมีพาวเวอร์มีกำลังภายใน หรือป๋าดัน เจ๊ดันก็จะเสนอเลื่อนตำแหน่งลูกน้องอยู่เป็นระยะปีละหลาย ๆ ครั้ง แต่ถ้าผู้จัดการฝ่ายไหนเจียมเนื้อเจียมตัวไม่ค่อยเสนอลูกน้องให้ MD พิจารณา ก็จะทำให้ลูกน้องแป้กอยู่อย่างงั้นแหละ แถมยังจะทำให้เกิดปัญหาการเปรียบเทียบว่านายของใครจะมีกำลังภายในมากกว่ากัน หรือกลายเป็นเรื่องสองมาตรฐานเป็นเป็นธรรมในองค์กรตามมาเสียอีก ดังนั้นถ้ากำหนดเป็นรอบและแจ้งให้รู้กันให้ชัดเจนจะดีกว่าเพื่อความยุติธรรมทั้งองค์กรจริงไหมครับ
            พูดไปพูดมานี่ผมเพิ่งจะจบแนวทางในการเลื่อนตำแหน่งหัวหน้างานเพียงข้อ 1 คือกรณีการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งจาก “คนใน” องค์กร เดี๋ยวในตอนที่ 3 คราวหน้าจะเป็นตอนจบสำหรับข้อคิดกรณีการสรรหาคัดเลือก “คนนอก” เข้ามาเป็นหัวหน้างานควรจะทำยังไงเพื่อลดปัญหาหัวหน้างาน ซึ่งผมมั่นใจว่าท่านต้องไม่พลาดจริงไหมครับ

……………………………….