วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การติดตามผลการฝึกอบรม....เรื่องสำคัญที่มักจะถูกมองข้าม


            เครื่องมือยอดนิยมในการพัฒนาบุคลากรตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน และจะยังคงมีอยู่ต่อไปในอนาคตคงหนีไม่พ้น การฝึกอบรม ซึ่งการจัดฝึกอบรมให้กับพนักงานนั้นก็มักมีวัตถุประสงค์หลัก ๆ เพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานที่ดีขึ้นเป็นไปตามเป้าหมาย และลดปัญหาเกี่ยวกับการทำงานหรือปัญหาด้านทัศนคติในการทำงานลง ฯลฯ

วิธีการประเมินผลการฝึกอบรมแบบเดิม

            แน่นอนว่าในการจัดการฝึกอบรมแต่ละครั้งบริษัทก็มักจะใช้วิธีส่งแบบสอบถามให้กับผู้เข้ารับการอบรมตอบในช่วงท้าย ๆ ก่อนที่จะจบการฝึกอบรมว่าการสอนของวิทยากรเป็นอย่างไรบ้าง, เนื้อหาหลักสูตรเป็นยังไง, สถานที่จัดฝึกอบรมเหมาะสมไหม, อาหารอร่อยไหม ฯลฯ เมื่อผู้เข้ารับการอบรมทำการประเมินผลเสร็จก็จะส่งแบบประเมินผลให้กับเจ้าหน้าที่จัดฝึกอบรมเพื่อนำไปประมวลผลและนำเสนอกับผู้บริหารเพื่อรับทราบผลการประเมินต่อไป

            สิ่งที่ผมได้บอกมาทั้งหมดนี้ ผมเชื่อว่าทุกองค์กรก็ยังคงปฏิบัติอยู่ใช่ไหมครับ ?

            แต่ถ้าจะถามต่อว่า แล้วบริษัทจะทราบได้อย่างไรว่าผู้เข้ารับการอบรม  สามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการฝึกอบรมไปก่อให้เกิดประโยชน์ได้จริงคุ้มค่าเงินที่จัดไป ?”  

แนวคิดในการนำหลักสูตรฝึกอบรมไปผูกกับหลักเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่ง

            ยิ่งไปกว่านั้นหลายองค์กรยังนำหลักสูตรการฝึกอบรมไปผูกกับหลักเกณฑ์การเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งเสียอีกด้วยนะครับ

            สมมุติตัวอย่างเช่นในธนาคาร ABC จะมีหลักเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้จัดการสาขาระบุไว้ว่า “ผู้ที่มีคุณสมบัติจะเป็นผู้จัดการสาขาของธนาคารจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรดังนี้

1.      หลักสูตรผู้บริหารงานธนาคาร

2.      หลักสูตรการบริหารธุรกิจเชิงกลยุทธ์

หากพนักงานยังไม่ผ่านหลักสูตรดังกล่าวยังถือว่าขาดคุณสมบัติในการพิจารณา

เลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น

พูดง่าย ๆ ว่าธนาคารแห่งนี้มีความเชื่อว่าผู้ที่ผ่านการอบรม 2 หลักสูตรข้างต้นเท่านั้นถึงจะมีคุณสมบัติ (Competency) ที่เหมาะสม ?!?

คำถามก็คือ....
 
แล้วธนาคารแห่งนี้จะแน่ใจได้อย่างไรครับว่าผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วจะมีความพร้อมที่จะเป็นผู้จัดการสาขาที่เหมาะสมได้จริง ?

            น่าคิดนะครับ

            ยิ่งกว่านั้น หากพนักงานดังกล่าวผ่านการฝึกอบรมไปแล้วสัก 6 เดือนหรือ 1 ปีจึงได้รับการพิจารณาให้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไป เขายังจะจำสิ่งที่ได้รับการอบรมได้อยู่หรือไม่ ?

            สมมุติพนักงานธนาคารคนหนึ่งทำงานในสำนักงานใหญ่แต่ไม่เคยปฏิบัติงานที่สาขามาก่อน แถมยังไม่เข้าใจลักษณะงานของสาขามาก่อน แต่ได้รับการอบรมครบทั้งสองหลักสูตรดังกล่าวแสดงว่าเขามีคุณสมบัติครบถ้วนแล้ว ?

ในขณะที่เพื่อนของเขาปฏิบัติงานอยู่สาขามาโดยตลอดมีความรู้และเข้าใจงานสาขาเป็นอย่างดีแต่เนื่องจากงานสาขายุ่งมากจนผู้บังคับบัญชายังไม่ส่งเข้ารับการอบรม เลยทำให้ขาดคุณสมบัติตามที่ธนาคารตั้งหลักเกณฑ์ไว้ ?

            ท่านคิดว่าใครจะมีคุณสมบัติ (Competency) เหมาะสมกับตำแหน่งผู้จัดการสาขามากกว่ากันครับ ?

          ในมุมมองของผมนั้น การฝึกอบรมเป็นเพียง เครื่องมือ หนึ่งในการพัฒนาบุคลากร แต่ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดที่บอกว่าหากใครผ่านการฝึกอบรมแล้วจะมี Competency เหมาะสมอย่างแน่นอนนะครับ

            แต่สิ่งที่สำคัญคือคนที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วได้นำสิ่งที่เรียนรู้ไปต่อยอดเช่นการนำความรู้และทักษะที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปประยุกต์ใช้กับงานที่ตนเองปฏิบัติอยู่ให้ดีขึ้นได้มากน้อยเพียงใด และได้ เรียนรู้ ต่อเพื่อสร้างความรู้ ทักษะ ตลอดจนความชำนาญในงานหรือไม่

หากองค์กรใดมองแค่ว่าการฝึกอบรมเป็นยาสารพัดนึกรักษาได้ทุกโรคแล้ว ผมว่าองค์กรนั้นกำลังสร้างค่านิยมที่ผิดให้กับพนักงาน รวมถึงองค์กรนั้นกำลังมุ่งไปสู่แนวคิดที่ผิดพลาด แถมยังมีการลงทุนด้านการฝึกอบรมที่สูญเปล่าแล้วล่ะครับ

แนวคิดในการประเมินและติดตามการฝึกอบรมให้คุ้มค่าการลงทุน

            ดังนั้นองค์กรจึงควรหันกลับมาทบทวนกันดีไหมครับว่า ในการฝึกอบรมที่จัดให้กับพนักงานไปแล้วนั้น เพื่อไม่ให้เกิดการลงทุนที่สูญเปล่าดังที่ผมบอกไปแล้ว องค์กรควรจะมีการประเมินผลและติดตามผลว่าผู้เข้ารับการอบรมได้นำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และทำให้ผู้เข้ารับการอบรมมีพฤติกรรมที่เหมาะสมหรือมีพัฒนาการที่ดีมากยิ่งขึ้นมากหรือน้อยเพียงใด

            ยกตัวอย่างเช่น ในการอบรมหลักสูตร การพัฒนาทักษะหัวหน้างาน ให้กับผู้บริหารระดับต้น เมื่อเสร็จสิ้นการฝึกอบรมไปแล้ว 3 เดือน ควรจะส่งใบประเมินและติดตามความคืบหน้าของผู้เข้ารับการอบรมไปที่ผู้บังคับบัญชาของผู้เข้ารับการอบรมทำการติดตามผล

โดยในแบบสอบถามดังกล่าวควรจะส่งให้ภายหลังจากที่ผู้เข้าอบรมผ่านหลักสูตรนี้ไปแล้วในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น กำหนดไว้ว่าจะส่งแบบสอบถามตามไปหลังจากการฝึกอบรมแล้ว 6 เดือน เพื่อติดตามผลว่าผู้เข้ารับการอบรมเป็นหัวหน้างานที่ดีขึ้นหรือไม่, ได้นำสิ่งที่เรียนรู้ไปก่อให้เกิดประโยชน์ในการทำงานมากหรือน้อยแค่ไหน, ยังมีปัญหาในการบังคับบัญชาหรือไม่ ฯลฯ

          หากผู้เข้าอบรมยังมีปัญหาที่จุดไหนก็จะต้องมีการสอนงาน (Coaching) โดยผู้บังคับบัญชา หรือการพัฒนาด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อให้พนักงานรายนี้มีทักษะการเป็นหัวหน้างานที่ดีตามเป้าหมายขององค์กรให้ได้

            หากองค์กรใดทำได้อย่างนี้ผมมั่นใจว่าจะทำให้การจัดการฝึกอบรมไม่สูญเปล่า และใช้งบประมาณในการจัดการฝึกอบรมอย่างคุ้มค่ากว่าการที่ไม่มีกระบวนการติดตามผลครับ

            สำคัญอยู่เพียงแค่ว่า....องค์กรของท่านคิดที่จะทำหรือยังต่างหาก ?

 

…………………………………………….