วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2565

โครงสร้างเงินเดือนแบบมี Overlap กับไม่มี Overlap ต่างกันยังไง ?

             การออกแบบโครงสร้างเงินเดือนตามปกติส่วนใหญ่มักจะออกแบบให้มีส่วนเหลื่อมระหว่างกระบอกต่อกระบอกหรือที่เรียกว่าให้มี Overlap เอาไว้ด้วยเหตุผลว่าเมื่อมีการเลื่อนตำแหน่งของพนักงานใน Job Grade ที่ต่ำกว่าขึ้นไปใน Job Grade ที่ถัดขึ้นไปบริษัทจะได้ไม่ต้องมีการปรับเงินเดือนแบบก้าวกระโดด

            ซึ่งปกติค่าเฉลี่ยในการปรับเงินเดือนเมื่อ Promote ของบริษัทต่าง ๆ จะอยู่ที่ประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเงินเดือนที่ปรับขึ้นให้นี้ต้องไม่ต่ำกว่า Min และไม่ควรเกิน Midpoint ของ Job Grade ถัดไปด้วยหลักความเสมอภาคและเป็นธรรม

            เพราะในหลักการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งในบริษัทต่าง ๆ มักจะประกอบด้วยหลักใหญ่ ๆ อยู่ 2 เรื่องคือ

1.      หลักความสามารถ และ 2. หลักอาวุโส

โดยไม่จำเป็นว่าพนักงานที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งจะต้องมีอาวุโสหรือทำงานมานานจนกระทั่งเงินเดือนใกล้จะตันแล้วค่อยมาเลื่อนตำแหน่ง

ถ้าใครมีผลงานมีความรู้มีทักษะมีความสามารถในงานเหมาะสมที่จะเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปได้ก็ไม่จำเป็นต้องรออาวุโสให้เงินเดือนใกล้ตัน บริษัทก็พิจารณาเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปได้เลย

ซึ่งการเลื่อนตำแหน่งโดยดูความสามารถเป็นหลักประกอบกับหลักอาวุโสนี้แหละจึงเป็นเหตุผลของการทำโครงสร้างเงินเดือนแบบให้มีส่วนเหลื่อมหรือมี Overlap ครับ เพราะเมื่อมี Overlap แล้วการปรับเงินเดือนเมื่อ Promote ก็จะไม่เป็นไปอย่างก้าวกระโดด

แล้วถ้าออกแบบโครงสร้างเงินเดือนแบบไม่มี Overlap ล่ะจะเป็นยังไง ?

ลักษณะของโครงสร้างเงินเดือนแบบไม่มี Overlap ก็คือการออกแบบให้ Max ของกระบอกเงินเดือนก่อนหน้า เท่ากับ Min ของกระบอกถัดไปไงครับ

บอกได้ว่าบริษัทที่มีนโยบายแบบนี้จะมองการ Promote ด้วยระบบอาวุโสเป็นหลักมากกว่าการใช้หลักความสามารถ

นั่นคือคนที่มีโอกาสจะได้รับการพิจารณาให้ Promote จะต้องเป็นคนที่เงินเดือนใกล้ตันเพราะทำงานมานาน

เรียกว่าทำงานจนเงินเดือนใกล้ Max ของกระบอกปัจจุบัน เมื่อได้รับการ Promote ก็อาจจะได้รับการปรับเงินเดือนอีกนิดเดียว (หรือไม่ได้ปรับเงินเดือนเลยก็เป็นไปได้) ก็จะเท่ากับ Min ของกระบอกถัดไป

แต่ถ้าหากบริษัทไป Promote คนที่เงินเดือนอยู่แถว ๆ Quartile 2 หรือ 3 ล่ะก็จะต้องมีการปรับเงินเดือนเมื่อ Promote แบบก้าวกระโดดเพื่อให้เท่ากับ Min ของกระบอกถัดไปครับ

เมื่อเป็นแบบนี้บริษัทที่มีนโยบายในการทำโครงสร้างเงินเดือนแบบไม่มี Overlap จึงมักจะ Promote พนักงานด้วยระบบอาวุโสมากกว่าการดูผลงานตามเหตุผลข้างต้น

ผมมีภาพตัวอย่างโครงสร้างเงินเดือนทั้ง 2 แบบเพื่อให้เข้าใจง่ายตามนี้

เมื่อเห็นอย่างนี้แล้วก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของฝ่ายบริหารแต่ละบริษัทแล้วล่ะครับว่าจะเป็นยังไงดี