วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

แจ้งเลิกจ้างทันทีต้องจ่ายค่าตกใจ 1 เดือน..จริงหรือ ?

             มักจะมีการบอกต่อ ๆ กันมาว่าถ้าหากจะแจ้งเลิกจ้างพนักงานวันนี้แล้วบอกว่าพรุ่งนี้ไม่ต้องมาทำงานแล้วนะ บริษัทก็ต้องจ่ายค่าตกใจ (หรืออาจจะเรียกว่า “ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า” หรือ “สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า”) 1 เดือน

            แล้วบริษัทต่าง ๆ ก็มักจะจ่ายค่าตกใจ 1 เดือนกันมาโดยตลอด

          คำถามคือตกลงแล้วการจ่ายค่าตกใจ 1 เดือนที่ทำกันต่อๆ มานั้นถูกต้องหรือไม่ ?

            มาตรา 17 ของกฎหมายแรงงานบอกไว้ว่า....

“....ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน....

....การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้....”

ผมเลยทำผังให้ดูแบบเข้าใจง่าย ๆ ตามภาพด้านล่างดังนี้


จากมาตรา 17 ข้างต้นผมสมมุติว่าบริษัทจ่ายเงินเดือนทุกสิ้นเดือน (ตามภาพประกอบ) 

ถ้าบริษัทแจ้งเลิกจ้างลูกจ้างวันที่ 30 มิย.โดยบอกว่าพรุ่งนี้ (คือวันที่ 1 กค.) ไม่ต้องมาทำงานแล้ว

บริษัทก็ต้องจ่ายค่าตกใจ (หรือค่าบอกกล่าวล่วงหน้า) ไป 1 เดือนคือตั้งแต่ 1 กค. ถึง 31 กค.

ส่วนค่าจ้างในเดือนมิย.ก็ต้องจ่ายให้ลูกจ้างเต็มเดือนตามปกติอยู่แล้วนะครับ

เพราะตามมาตรา 17 ให้บอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้างหรือก่อนหน้านั้นเพื่อให้มีผลเลิกสัญญาจ้างเพื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในครั้งต่อไป

แต่ถ้าสมมุติว่าบริษัทไปแจ้งเลิกจ้างพลาดไปเพียง 1 วันคือแทนที่จะแจ้งวันที่ 30 มิย.แต่กลับไปแจ้งเลิกจ้างในวันที่ 1 กค.โดยบอกลูกจ้างว่าพรุ่งนี้ (2 กค.) ไม่ต้องมาทำงานแล้ว จึงเสมือนกับบริษัทไปแจ้งเลิกจ้างวันที่ 31 กค.ก็เลยต้องนับจากวันที่ 31 กค.ไปอีก 1 รอบการจ่ายค่าจ้างถึงวันที่ 31 สค.

บริษัทจึงต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าในเดือน กค.และเดือนสค.

บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1-31 กค.(เต็มเดือน) และ 1-31 สค.(เต็มเดือน)

สรุปคือกรณีนี้บริษัทจะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 2 เดือนครับ

ดังนั้นการจ่ายค่าตกใจหรือค่าบอกกล่าวล่วงหน้าอาจจะเป็น 1 เดือนหรือ 2 เดือนก็ได้ แล้วแต่ว่านายจ้างจะบอกกล่าวล่วงหน้าวันไหน

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วผมเชื่อว่าเราคงเข้าใจหลักการจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตรงกันและเลือกวันแจ้งได้เหมาะสมแล้วนะครับ