วันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2560

ควรปรับเงินเดือนให้กับพนักงานที่เลื่อนตำแหน่งหรือไม่ ?

            คำถามนี้ผมมักจะได้ยินอยู่เสมอ ๆ และมักจะได้ยินคำบ่นแบบเบื่อ ๆ ของคนที่มาถามว่า “ที่บริษัทของหนูพอเลื่อนตำแหน่งก็ไม่ปรับเงินเดือนให้บ้างเลย” หรือ “เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาก็ปรับเงินเดือนให้นิดเดียวเอง”

            เรียกว่าไม่ปรับให้ก็ว่า..ถ้าปรับให้น้อยก็บ่นคงจะได้มั๊งครับ 555

            เรื่องเงินทองของบาดใจนี่ให้เท่าไหร่ไม่เคยถึงใจคนรับสักที นี่เป็นสัจธรรมพอ ๆ กับ “เงินเดือนของเราได้เท่าไหร่..ไม่เท่ากับเงินเดือนของเพื่อนได้เท่าไหร่” นั่นแหละครับ

            กลับมาเข้าเรื่องกันดีกว่าว่ากรณีนี้ควรจะเอายังไง

            ในความเห็นของผมแล้วผมขอแบ่งการเลื่อนตำแหน่งออกเป็น 2 กรณีดังนี้

กรณีที่ 1 ตำแหน่งงานที่เลื่อนขึ้นไปมี Job Grade สูงขึ้น/ความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น

ในกรณีที่บริษัทพิจารณาเลื่อนตำแหน่งพนักงานให้สูงขึ้น และในตำแหน่งที่เลื่อนสูงขึ้นนั้นก็มีค่างาน (Job Value) ที่เพิ่มขึ้น (ในกรณีบริษัทที่มีการประเมินค่างานแล้วจะดูได้จาก Job Grade ที่สูงขึ้นกว่า Job Grade เดิม) มีความรับผิดชอบในตำแหน่งใหม่มากขึ้นอย่างนี้บริษัทก็ควรจะต้องปรับเงินเดือนเพิ่มให้กับพนักงานที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง

เพราะหลักจิตวิทยาแบบใจเขา-ใจเราง่าย ๆ คือถ้าบริษัทเลื่อนตำแหน่งเขาให้สูงขึ้น รับผิดชอบมากขึ้นแต่ให้เงินเดือนเท่าเดิม

          ถามว่าใครอยากจะเลื่อนขึ้นไปรับผิดชอบในตำแหน่งนั้นล่ะครับ ?

กรณีที่ 2 ตำแหน่งงานที่เลื่อนขึ้นไปอยู่ใน Job Grade เดิม/ความรับผิดชอบเหมือนเดิม      
   
แต่ถ้าในการเลื่อนตำแหน่งที่เลื่อนขึ้นไปนั้นเป็นลักษณะงานแบบเดิม (สำหรับบริษัทที่มีการประเมินค่างานแล้วจะเห็นได้ว่าอยู่ใน Job Grade เดียวกันนั่นแหละครับ เพียงแต่เรียกชื่อตำแหน่งให้มีตัวเลขเพิ่มขึ้น เช่น เจ้าหน้าที่บัญชี 1 - เจ้าหน้าที่บัญชี 2 – เจ้าหน้าที่บัญชีอาวุโส หรือ ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ - ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้ออาวุโส แต่ก็อยู่ใน Job Grade เดียวกันและใช้ Job Description เหมือนกัน)

เรียกว่า “งานเหมือนเดิม..ที่เพิ่มเติมคืออาวุโส (และวัย)” :-)

ซึ่งจะมีหลายบริษัทที่ทำในลักษณะนี้เพื่อสร้าง Career Path (เส้นทางความก้าวหน้าในตำแหน่งงานต่าง ๆ) ในเชิงจิตวิทยา ทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองได้รับการเลื่อนตำแหน่งและมีความก้าวหน้ามากขึ้นเพื่อจะได้รักษาคนเอาไว้ไม่ให้ลาออกจากบริษัท (แต่JD และงานก็ยังคงเหมือนเดิม) ถ้าเป็นแบบนี้บริษัทอาจไม่ปรับเงินเดือนให้เมื่อเลื่อนตำแหน่งก็ได้ ซึ่งตรงนี้ผมก็เห็นว่าถึงบริษัทไม่ปรับเงินเดือนให้ก็ไม่ผิดอะไร

            แต่ในหลายบริษัทที่ผมเห็นมาก็ยังมีการปรับเงินเดือนให้ก็มีบ้างเหมือนกันนะครับ ซึ่งบางบริษัทก็อาจจะมีเปอร์เซ็นต์ในการปรับน้อยกว่าแบบแรก (ที่มีงานและความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นหรือมี Job Grade สูงกว่าเดิม) ซึ่งก็แล้วแต่นโยบายและวิธีปฏิบัติของบริษัทนั้น ๆ

           เมื่อท่านอ่านมาถึงตรงนี้แล้วท่านอาจจะมีคำถามในใจว่า “กรณีที่บริษัทจะปรับเงินเดือนให้ บริษัทควรจะปรับสักเท่าไหร่ดี?”

            ผมเดาใจท่านถูกไหมครับ :-)

            จากผลการสำรวจตลาดในเรื่องการปรับเงินเดือนเมื่อ Promote ในหลาย ๆ แห่ง ผมก็นำมาประมวลได้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วตลาดเขาปรับเงินเดือนเมื่อ Promote อยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ครับ

            บางบริษัทอาจจะปรับให้มากกว่านี้หรือน้อยกว่าตัวเลขนี้ก็คงจะขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัทแล้วล่ะครับว่าอยากจะสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานที่ได้รับการ Promote มากน้อยสักแค่ไหน

            สิ่งที่ผมอยากจะฝากทิ้งท้ายเรื่องสำคัญไว้อีกเรื่องหนึ่งก็คือ….

วันนี้..บริษัทของท่านมีหลักเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งและการปรับเงินเดือนพนักงานเมื่อได้รับการเลื่อนตำแหน่งที่ชัดเจนแล้วหรือยัง ?

ถ้ายังไม่มี..แล้วเมื่อไหร่จะมีครับ ?


………………………………………..