วันอาทิตย์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2560

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการเกษียณอายุพนักงาน

            สงสัยสังคมไทยคงจะเข้าสู่ยุคผู้สูงอายุหรือสูงวัย (ที่เราเรียกันเล่น ๆ ว่าสว.) จริง ๆ ละมั๊งเพราะผมเจอคำถามทำนองนี้อยู่บ่อย ๆ ดังนี้ครับ

1.      บริษัทไม่มีระเบียบเรื่องเกษียณอายุจะผิดกฎหมายแรงงานหรือไม่
2.      ควรกำหนดเกษียณอายุไว้เท่าไหร่ถึงถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน
3.      บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานที่เกษียณอายุหรือไม่
4.      การต่อเกษียณอายุทำได้หรือไม่
5.      บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานที่ต่อเกษียณอายุหรือไม่

ก็ขอว่ากันไปทีละข้อดังนี้ครับ

1.      จนถึงวันนี้ (เมษายน 2560) กฎหมายแรงงานยังไม่ได้กำหนดให้นายจ้างออกระเบียบหลักเกณฑ์การเกษียณอายุของลูกจ้าง ดังนั้นถ้าบริษัทไหนจะไม่มีระเบียบเรื่องการเกษียณอายุก็ยังไม่ผิดกฎหมายแรงงาน หรือพูดง่าย ๆ ว่าบริษัทก็จ้างพนักงานให้ทำงานไปได้จนกว่าจะตายจากกันไปข้างหนึ่งแหละครับ

2.      การกำหนดเกษียณอายุว่าพนักงานควรจะมีอายุเท่าไหร่ดีถึงเกษียณนั้น ในปัจจุบันผมมักจะพบ ตัวเลขคือ 55 กับ 60 แน่ะ..ผมไม่ได้ให้ท่านเอาไปแทงหวยนะครับ หมายถึงบางบริษัทกำหนดให้พนักงานอายุครบ 55 ปีเมื่อไหร่ก็แปลว่าต้องเกษียณอายุออกจากบริษัทไป ตัวเลขนี้มักจะพบในบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่ง และบริษัทส่วนใหญ่ที่ผมเจอมาคือจะกำหนดให้พนักงานเกษียณที่อายุ 60 ปีครับ

3.      เมื่อพนักงานครบเกษียณอายุ (ซึ่งแน่นอนว่าส่วนมากจะมีอายุงานเกิน 10 ปีกันแล้วทั้งนั้น) บริษัทก็จะต้องจ่าย “ค่าชดเชย” ตามอายุงานตามมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงานด้วยนะครับ เพราะการเกษียณอายุเปรียบเสมือนการถูกเลิกจ้างจากทางบริษัท (ศาลฎีกาท่านก็เคยตัดสินไว้แล้วว่าการเกษียณอายุก็มีผลเท่ากับการถูกนายจ้างเลิกจ้างแหละครับ)

         เพราะบริษัทไปกำหนดระเบียบหลักเกณฑ์การเกษียณอายุเอาไว้ก็เท่ากับนายจ้างแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างเมื่อลูกจ้างมีอายุครบเกษียณตามหลักเกณฑ์ที่นายจ้างกำหนด ดังนั้นนายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานให้กับลูกจ้างเมื่อต้องการจะเลิกจ้างนั่นแหละ แต่ก็ยังมีบางบริษัทที่ไม่จ่ายค่าชดเชยให้พนักงานเกษียณอายุหรือจ่ายให้น้อยกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด (ตามมาตรา 118) ก็มีซึ่งบริษัทพวกนี้ถ้าลูกจ้างไปฟ้องศาลเมื่อไหร่ล่ะก็แพ้คดีแหง ๆ ครับ

4.      มีบริษัทอีกหลายแห่งที่พอพนักงานเกษียณอายุไปแล้ว ยังหาคนมาทำแทนในตำแหน่งที่เกษียณไม่ได้ก็เลยจำเป็นต้อง “ต่อเกษียณ” ซึ่งถ้าถามว่าบริษัทสามารถต่อเกษียณได้หรือไม่ ก็ตอบว่า “ได้” ครับ ซึ่งส่วนมากมักจะทำสัญญาคล้ายการจ้างพนักงานชั่วคราวโดยมีระยะเวลา 1 ปี ถ้ามีผลงานเป็นที่น่าพอใจก็จะต่อเกษียณไปอีกคราวละ 1 ปี

5.      เรื่องที่สืบเนื่องมาจากข้อ 4 ก็คือ เมื่อเมื่อพนักงานครบเกษียณอายุและได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานไปแล้ว แต่บริษัทยังหาคนมาทำงานแทนไม่ได้ก็เลยต้องทำสัญญาจ้างฉบับใหม่ให้พนักงานที่เกษียณไปแล้วมาทำงานในตำแหน่งเดิมต่อไปอีกซึ่งมักจะทำสัญญากันแบบปีต่อปีที่ผมบอกไปแล้วตามข้อ 4 เช่น....

            สมมุติว่าพนักงานที่บริษัทต่อเกษียณอายุทำงานได้ 3 ปี แล้วบริษัทก็แจ้งกับพนักงานคนนี้ว่าบริษัทจะไม่ต่อสัญญาในปีที่ 4 แล้วนะเพราะบริษัทได้คนมาทำงานแทนเรียบร้อยแล้ว หรือจะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่

            ถามว่า..  “บริษัทจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานเกษียณอายุรายนี้อีกครั้งหนึ่งไหม?”

            คำตอบคือ.... “บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานที่ต่อเกษียณรายนี้ตามอายุงานอีกครั้งหนึ่งครับ”

            โดยนับอายุงานตั้งแต่วันที่ทำสัญญาต่อเกษียณอายุครั้งแรกมาจนถึงวันที่บริษัทบอกเลิกจ้างครับ

            ผู้บริหารบางคนอาจจะบอกว่า “ก็จ่ายค่าชดเชยให้ไปแล้วครั้งแรกตั้ง 10 เดือน บริษัทยังต้องมาจ่ายค่าชดเชยรอบสองอีกหรือ”

            ก็ตอบได้ว่าค่าชดเชยรอบแรกก็เป็นเรื่องของรอบแรก แต่บริษัทไปต่อเกษียณแล้วให้มีรอบที่สองขึ้นมาเองนี่ครับดังนั้นก็ต้องพร้อมสำหรับการจ่ายค่าชดเชยรอบสองเอาไว้ด้วย

เพราะในกรณีนี้ก็ถือว่านายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกจ้างลูกจ้างดังนั้นก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 118 กฎหมายแรงงานด้วยน่ะสิครับ

เรื่องนี้จึงเป็นข้อคิดสำหรับผู้บริหารของบริษัทด้วยเหมือนกันว่าถ้าจะต่อเกษียณอายุก็ต้องเตรียมเงินไว้จ่ายค่าชดเชยรอบสองให้กับพนักงานที่ต่อเกษียณตามกฎหมายแรงงานด้วย

หวังว่าท่านคงได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเกษียณอายุและปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตรงกันแล้วนะครับ


……………………………………….