วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ปัญหาขาดคนทดแทน..แผนที่ควรมีสำหรับอนาคต

          วันนี้ท่านเคยทำแผนอัตรากำลังทดแทนไว้ในอนาคตบ้างหรือเปล่าครับ ?

            ในแทบทุกองค์กรจะมีข้อกำหนดเรื่องการเกษียณอายุกันเอาไว้อยู่ในข้อบังคับการทำงาน ส่วนจะเกษียณที่อายุเท่าไหร่ เช่น เกษียณที่อายุ 55 หรือ 60 ปีก็ว่ากันไปตามระเบียบของแต่ละองค์กร

            ในองค์กรที่วางแผนเรื่องคนไว้ดีหน่อยก็จะมีการทำแผนพยากรณ์อัตรากำลังทดแทนพนักงานที่จะต้องเกษียณอายุในอนาคตไว้อยู่แล้ว เช่น

1.      ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีพนักงานเกษียณอายุกี่คนหรือคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของพนักงานทั้งหมด 

2.      ในจำนวนพนักงานที่จะต้องเกษียณอายุในอีก 5 ปีข้างหน้านั้น เป็นพนักงานที่อยู่ในตำแหน่งงานหลัก (Key Position) จำนวนกี่อัตราหรือคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของพนักงานกลุ่ม Key Position ด้วยกัน

3.      คำว่า “ตำแหน่งงานหลัก” หมายถึง ตำแหน่งงานสำคัญ ๆ ที่อาจจะเป็นตำแหน่งของผู้บริหารหรือเป็นตำแหน่งทางด้านวิชาชีพหรือผู้เชี่ยวชาญชำนาญด้านใดด้านหนึ่งที่สำคัญต่อองค์กรที่ถ้าคนในตำแหน่งนี้ไม่อยู่ไม่ว่าจะลาออก ตาย ย้าย เกษียณก็จะมีผลกระทบต่อหน่วยงานหรือองค์กรนั้น ๆ จะหาคนมาแทนก็ยากหรือต้องใช้เวลาฝึกฝนนาน หรือค่าตัวอาจจะสูงมากและเมื่อมาอยู่กับองค์กรเราแล้วก็ไม่รู้จะอยู่กับเราได้นานแค่ไหน ฯลฯ

4.      มี “คนใน” ใครบ้างที่จะมีความรู้ความสามารถมาทดแทนตำแหน่งพนักงานในตำแหน่งหลักที่จะเกษียณในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งคนที่มีความพร้อมจะมาทดแทนนั้นมักจะเรียกกันว่า “ทายาท” หรือ “Successor”

5.      ทายาท หรือ Successor ที่จะมาทดแทนพนักงานในตำแหน่งหลักนั้นมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนที่จะมาปฏิบัติงานแทนเมื่อเจ้าของตำแหน่งเดิมเกษียณอายุไปในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งคงไม่ได้มีความพร้อมจะมาทำงานทดแทนได้ “ทันที” ทุกคนจริงไหมครับ ดังนั้นองค์กรก็จะต้องมีแผนในการพัฒนาทายาทเป็นรายบุคคลแบบที่เรียกกันว่า “IDP” หรือ Individual Development Plan เพื่อเตรียมความพร้อมของทายาทที่จะมาทดแทนเจ้าของตำแหน่งหลักในอนาคตพร้อมทั้งจะต้องมีแผนในการติดตามผลการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนว่าทายาทคนนั้น ๆ จะมีพัฒนาการที่พร้อมมากน้อยแค่ไหนที่จะมาทดแทนเจ้าของตำแหน่งหลักในอีก 5 ปีข้างหน้า

6.      ถ้าไม่มีทายาทที่เหมาะสมที่จะมาทดแทนพนักงานในตำแหน่งหลักได้ องค์กรจะมีแผนในการแก้ปัญหานี้ยังไงบ้าง

7.      หลายครั้งที่มักจะพบว่าเกิดจากปัญหา “สมองไหล” ในพนักงานที่เป็น Key Position เป็นระยะถ้าองค์กรไม่ให้ความสำคัญและคิดแก้ปัญหาเหล่านี้ในที่สุดองค์กรก็จะขาดคนที่มีความรู้ความสามารถมาทำงาน

8.      เรื่องน่าคิดในวันนี้คือคนรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยอยากทำงานประจำแปดโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น (ยิ่งถ้าต้องทำงานจันทร์ถึงเสาร์ยิ่งหาคนอยากมาทำยาก) และมักจะทำงานในแต่ละที่สักประมาณ 1-3 ปีพอคิดว่าเรียนรู้งานพอแล้ว (หรืออาจจะเบื่องานที่ทำ) ก็จะลาออกไปทำงานที่อื่นหรือไปทำงานแบบ Freelance ทำธุรกิจของตัวเอง ซึ่งองค์กรก็ต้องมานับหนึ่งใหม่คือสัมภาษณ์หาคนเข้ามาสอนงานกันใหม่แล้วพออยู่ได้ 1-3 ปีก็ลาออกไปอีก เป็นอย่างงี้แล้วจะหาใครมาแทน Key Position ได้ล่ะครับ วันนี้หลายองค์กรก็พยายามหาวิธีดึงคนเอาไว้ให้ได้ เช่น ทำโครงการประเภท Employee Engagement เพื่อสร้างความผูกพันระหว่างพนักงานกับองค์กรแต่ก็ไม่ได้เป็นข้อยืนยันว่าเมื่อทำแล้วพนักงานจะอยู่กับองค์กรอย่างที่ต้องการ

9.      ผลจากข้อ 8 บางแห่งก็จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการหา “คนนอก” เข้ามาทำงานในตำแหน่งงานหลัก แต่ก็จะมีปัญหาต่อมาก็คือคนนอกหลายคนทำงานอยู่กับองค์กรได้ไม่นานก็มักจะลาออกไปอยู่ที่อื่นเสียอีก (ซึ่งสาเหตุก็เกิดจากหลาย ๆ เรื่องเช่น ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรหรือสภาพแวดล้อมได้ ฯลฯ) ทำให้เสียเวลาและเสียเงินไปเปล่า ๆ อีก

ทั้งหมดที่ผมนำมาแจกแจงให้ท่านเห็นนี้มักเกิดจากการไม่ได้คิดหรือวางแผนหรือแก้ปัญหาในปัจจุบันให้ดี ซึ่งหลายองค์กรก็ละเลยเรื่องเหล่านี้ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็พบว่าพนักงานในตำแหน่งหลักลาออกไปที่อื่นหรือต้องเกษียณอายุเสียแล้ว เมื่อหาใครมาทำแทนยังไม่ได้ หลายองค์กรก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการ “ต่อเกษียณอายุ” พนักงานดังกล่าวออกไปอีกเพราะคนในยังไม่พร้อมจะหาคนนอกก็ไม่ทัน แต่วิธีต่อเกษียณก็ยังไม่น่าจะเป็นวิธีที่ดีในระยะยาวนะครับ

            อ่านมาถึงตรงนี้แล้วผมว่าองค์กรควรจะหันกลับมาทบทวนและให้ความสำคัญของ Competency, Training & Development Roadmap, Succession Plan, Career Development และ IDP เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตกันได้แล้วนะครับ


………………………………..