วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พนักงานไม่ยอมเซ็นชื่อรับทราบในหนังสือตักเตือน..ทำไงดี ?


            ในการทำงานร่วมกันก็ย่อมจะมีทั้งคนประพฤติปฏิบัติตัวดีและคนที่ทำตัวไม่ดีมีปัญหากับคนรอบข้างปะปนกันกันไป ทำให้แต่ละองค์กรจึงต้องมีระเบียบข้อบังคับในการทำงานออกมาเพื่อแจ้งให้ทุกคนได้รับทราบกฎกติกามารยาทในการทำงานร่วมกันว่าพนักงานที่ดีสำหรับองค์กรควรทำตัวยังไง

            เมื่อมีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบขององค์กรโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นการทำความผิดทางวินัยแล้ว ทุกองค์กรก็จะมีมาตรการคล้าย ๆ กัน

            นั่นคือ “การตักเตือน” ครับ

            โดยหลักปฏิบัติที่ผมเห็นว่าเหมือน ๆ กันก็คือเริ่มตั้งแต่การตักเตือนด้วยวาจาหรือการว่ากล่าวตักเตือนกันเสียก่อน เช่น หัวหน้าเห็นลูกน้องมาทำงานสายก็เรียกลูกน้องมาว่ากล่าวตักเตือนด้วยวาจาในทำนองว่าบริษัทต้องการให้พนักงานทุกคนรักษาเวลาและมาทำงานให้ตรงเวลาและขอให้ลูกน้องปรับปรุงตัวมาทำงานให้ทันตามเวลา ฯลฯ

            แต่ตรงนี้ผมอยากจะทำความเข้าใจกับหัวหน้างานและผู้บริหารทุกท่านว่า....

          การตักเตือนด้วยวาจาไม่มีผลทางกฎหมายแรงงานนะครับไม่ว่าจะเตือนกันกี่ครั้งก็ตาม

            แต่ถ้าลูกน้องคนนี้ยังมาสายอีกล่ะ..หัวหน้าก็จะต้องออกหนังสือตักเตือนซึ่งเรียกเป็นภาษาเทคนิคว่า “การตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร” นั่นแหละครับ

          การตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการออกหนังสือตักเตือนนี่แหละครับถึงจะถือว่ามีผลทางกฎหมายแรงงาน !

            แต่การออกหนังสือตักเตือนนั้นจะต้องมีการระบุเรื่องราวต่าง ๆ ไว้ดังนี้

1.      วัน เดือน ปี และสถานที่ที่ออกหนังสือตักเตือน

2.      ข้อความที่กล่าวถึงการกระทำความผิดของลูกจ้างว่ากระทำความผิดเมื่อไหร่โดยมีรายละเอียดของการทำความผิด เช่น วัน เดือน ปี เวลาที่ทำความผิดนั้น และเรื่องราวรายละเอียดของการกระทำความผิดว่าเป็นยังไงบ้าง

3.      ความผิดที่ระบุไว้ตามข้อ 2 นั้น ฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานต่อวินัยในหมวดใดเรื่องใดเพื่อให้ลูกจ้างได้ทราบ

4.      ข้อความที่มีลักษณะห้ามปราม ตักเตือนไม่ให้ลูกจ้างกระทำความผิดอย่างนี้ซ้ำอีก ถ้าหากลูกจ้างทำความผิดอย่างเดียวกันนี้ซ้ำอีกบริษัทจะลงโทษอย่างไร

5.      หนังสือตักเตือนจะต้องลงนามโดยนายจ้าง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายอำนาจจากนายจ้าง ซึ่งตรงนี้บริษัทควรจะต้องมีการมอบอำนาจให้ผู้บริหารระดับใดมีอำนาจในการเซ็นหนังสือตักเตือนลูกน้องให้ชัดเจน ซึ่งมักจะเรียกว่า “อำนาจทางการบริหารงานบุคคล” สำหรับผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานต่าง ๆ ครับ

6.      ควรจะมีพยานในการตักเตือน (หรือในห้องตักเตือน) เพื่อรับทราบเป็นพยานในการตักเตือนไว้ด้วย

7.      ส่งสำเนาหนังสือตักเตือนที่มีการลงนามครบทุกคนแล้ว (คือหัวหน้าผู้ตักเตือน, ลูกน้องที่ทำความผิด และพยานในห้องตักเตือน) ให้กับลูกน้องที่กระทำความผิดเพื่อเป็นการรับทราบความผิดในครั้งนั้น ๆ อันนี้ก็คล้าย ๆ กับกรรมการฟุตบอลแจกใบเหลืองให้กับนักฟุตบอลเมื่อทำฟาล์วนั่นแหละครับ ส่วนหนังสือตักเตือนตัวจริงก็จะเก็บไว้ที่ฝ่ายบุคคลครับ

คราวนี้เมื่อหัวหน้าเรียกลูกน้องที่ทำความผิดมาตักเตือนและยื่นหนังสือตักเตือนให้ลูกน้องเซ็นรับทราบความผิดแล้วแต่พนักงานไม่ยอมเซ็นชื่อรับทราบจะทำยังไงดี ?

            เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ ฎ.5560/2530 ว่า “....ลูกจ้างไม่ยอมลงชื่อรับทราบคำเตือน ไม่เป็นความผิดฐานขัดคำสั่งนายจ้าง....”

            ก็แปลว่าหัวหน้าจะไปบังคับลูกน้องให้เซ็นชื่อรับทราบความผิดโดยจะอ้างว่าถ้าไม่เซ็นถือว่าขัดคำสั่งก็ไม่ได้นะครับ

            งั้นจะทำยังไงดี ?

            ทำดังนี้ครับ

1.      อ่านหนังสือตักเตือนให้กับพนักงานที่กระทำความผิดได้รับทราบต่อหน้าพยานที่อยู่ในห้องตักเตือน

2.      ถามเหตุผลที่พนักงานไม่ยอมเซ็นชื่อในหนังสือตักเตือน แล้วคอยฟังคำตอบให้ดี ๆ นะครับ

3.      หาที่ว่าง ๆ ในหนังสือตักเตือนเขียนข้อความในทำนองนี้ “ผู้บังคับบัญชาได้แจ้งความผิดให้พนักงานรับทราบตามข้อความในหนังสือตักเตือนฉบับนี้แล้ว แต่พนักงานไม่ลงนามรับทราบความผิดโดยให้เหตุผลว่า......(ถ้าไม่ตอบก็ใส่ว่า “โดยไม่ให้เหตุผลใด ๆ” หรือถ้าตอบว่าผมไม่ผิด ก็ใส่ว่า “ผมไม่ผิด” คือพนักงานตอบว่ายังไงก็ใส่คำพูดตามที่เขาตอบมานั่นแหละครับ) จึงได้ลงนามไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพยานในหนังสือตักเตือนฉบับนี้แล้ว”

4.      แล้วหัวหน้าผู้ตักเตือนก็เซ็นชื่อไว้ในฐานะผู้ตักเตือน และให้พยานเซ็นชื่อไว้เป็นพยาน แล้วก็ส่งสำเนาหนังสือตักเตือนให้พนักงานที่ทำความผิดได้รับทราบ ส่วนตัวจริงก็มักจะเก็บไว้ในแฟ้มที่ฝ่ายบุคคลเป็นอันเสร็จสิ้นเรียบร้อย

5.      ถ้าพนักงานยังไม่ยอมแม้แต่จะรับสำเนาหนังสือตักเตือน ท่านก็ส่งสำเนาหนังสือตักเตือนเป็นจดหมายลงทะเบียนไปยังภูมิลำเนาของพนักงานที่ทำความผิดแล้วเก็บสำเนาการลงทะเบียนไว้กับหนังสือตักเตือนตัวจริงด้วย

ทำเพียงเท่านี้ก็ถือว่าเสร็จสิ้นการตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรและใช้อ้างอิงกับแรงงานเขตพื้นที่หรือในศาลแรงงานได้แล้วล่ะครับ ถึงแม้ว่าพนักงานที่ทำความผิดจะไม่เซ็นชื่อรับทราบก็ตาม

            แต่ที่ดีกว่านี้ก็คือ....ถ้ายังอยู่ในวิสัยจะพูดคุยขอความร่วมมือกันได้แบบพี่แบบน้องแบบเพื่อนร่วมงานกันย่อมดีกว่าการพูดจากันด้วยภาษากฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวนะครับ

            หนักนิดเบาหน่อยค่อยพูดค่อยจาทำความเข้าใจกันดี ๆ ก่อน ถือคติว่า “ยิ่งสื่อสารกันมากขึ้น..ยิ่งเข้าใจกันมากขึ้น” ดีกว่าครับ

 

…………………………………….