วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

จะตั้งเงินเดือนคนเข้าใหม่..ยังไงดี ?


            เรื่องเงินทองของบาดใจนี่มักจะเป็นปัญหาในทุกบริษัทเลยก็ว่าได้นะครับ   เพราะสัจธรรมที่ผมเคยพูดไว้เสมอ ๆ ว่า “เงินเดือนเราได้เท่าไหร่..ไม่สำคัญเท่ากับเพื่อนได้เท่าไหร่” นี่แหละครับ (หรือใครว่าไม่จริง..อิ..อิ..)

            วันนี้เรามาพูดกันถึงเรื่องของเงินเดือนของพนักงานเข้าใหม่ซึ่งปกติแล้วทาง HR ควรจะเป็นผู้กำหนดตามนโยบายที่ชัดเจนของบริษัทโดยผมแบ่งคนเข้าใหม่ออกเป็น 2 กลุ่มคือ

1.      พนักงานที่จบใหม่เอี่ยมและยังไม่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อน และ

2.      พนักงานที่เคยทำงานและมีประสบการณ์ทำงานมาแล้ว

ผมมักจะเห็นอยู่บ่อยครั้งที่ในหลายบริษัทไม่มีการกำหนดอัตราเงินเดือนเริ่มต้นตามคุณวุฒิ (Starting Rate) ที่จบ (กรณีจ่ายตามคุณวุฒิที่จบ) หรือกำหนดอัตราเงินเดือนเริ่มต้นตามตำแหน่งงานนั้น ๆ (กรณีที่จ่ายตามตำแหน่งงาน) ที่ชัดเจน แต่จะจ่ายตามความรู้สึกของผู้บริหารหรือไม่ก็จ่ายไปตามแต่ที่ผู้สมัครขอมา เช่นถ้าผู้สมัครงานขอเงินเดือนมามากแล้วผู้บริหารคิดว่าน่าจะเหมาะก็ตกลงให้มากโดยที่หลายครั้งเมื่อรับผู้สมัครรายนี้เข้ามาแล้วกลับทำงานสู้คนเก่าที่ทำงานอยู่เดิมในตำแหน่งเดียวกันไม่ได้ก็เลยเกิดปัญหาดราม่ากันต่อไปอีก

            หรือบางที่ก็จะพบว่าผู้สมัครงานขอเงินเดือนมาน้อยแบบเจียมเนื้อเจียมตัวผู้บริหารก็เลยให้ไปตามที่ขอ แต่ต่อมาผู้สมัครรายนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองไปจนมีความสามารถและผลงานมากขึ้นแต่เงินเดือนที่ได้รับกลับน้อยกว่าเพื่อนที่เก่งน้อยกว่าก็เลยลาออกทำให้บริษัทเสียคนดีมีฝีมือไปเสียอีก

            นี่แหละครับคือตัวอย่างของการจ่ายเงินเดือนกันแบบ “มโน” ตามความรู้สึกแล้วก็จะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาในภายหลัง ซึ่งเผลอ ๆ บริษัทของท่านก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ใช่ไหมล่ะครับ ?

            ถ้างั้นควรทำยังไงเพื่อลดปัญหาเหล่านี้ลง ?

            ผมเสนอดังนี้ครับ

1.      บริษัทของท่านควรมีการกำหนดอัตราเงินเดือนเริ่มต้นตามคุณวุฒิสำหรับกรณีพนักงานจบใหม่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงานให้ชัดเจน เช่น จบบริหารธุรกิจ, บัญชี, นิติศาสตร์, รัฐศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์, สารสนเทศ ฯลฯ แล้วเข้ามาทำงานในตำแหน่ง........บริษัทจะจ่ายเงินเดือนเท่าไหร่,  ค่าวิชาเท่าไหร่, ค่าภาษาเท่าไหร่ ฯลฯ เป็นต้น แล้วเมื่อผู้สมัครงานคนไหนสามารถผ่านการทดสอบข้อเขียน (ถ้ามี) หรือสัมภาษณ์เข้ามาได้บริษัทก็จะจ่ายให้ตามอัตราเริ่มต้นที่กำหนดไว้ เช่น

บริษัทกำหนดอัตราเริ่มต้นตามวุฒิไว้สำหรับคนจบวิศวกรรมศาสตร์เข้ามาทำงานเป็นวิศวกรในสายการผลิตเดือนละ 20,000 บาท ก็ต้องจ่ายตามนี้ แม้ว่าผู้สมัครงานจะขอเงินเดือนมาที่ 18,000 บาทหรือผู้สมัครงานบางคนจะขอมาที่ 23,000 บาทก็ตาม เพราะถ้าผู้สมัครงานสามารถผ่านการสัมภาษณ์และบริษัทตัดสินใจรับเข้ามาแล้วต้องจ่ายตามกติกาที่บริษัทกำหนดไว้ครับ

สำหรับผู้สมัครที่ขอเงินเดือนเกินกว่าอัตราที่บริษัทกำหนดไว้ก็ต้องมาพูดคุยกัน ถ้าเขารับอัตราที่บริษัทกำหนดได้ก็จบ แต่ถ้าเขาไม่รับก็ต้องปล่อยไปแหละครับ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรมตามหลักของการบริหารค่าตอบแทนที่ดี

แต่ทั้งนี้การกำหนดอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิสำหรับพนักงานจบใหม่นั้น HR จะต้องทำการสำรวจตลาดค่าตอบแทนมาดีแล้วและหาอัตราที่เหมาะสมสำหรับการแข่งขันในตลาดด้วยนะครับไม่ใช่กำหนดขึ้นมาแบบนั่งเทียนหรือ มโนขึ้นมาเอง

2.      ในกรณีตำแหน่งงานที่ผู้สมัครงานต้องมีประสบการณ์ทำงานก็จะมีหลักการคล้าย ๆ กับข้อ 1 แต่ในบางบริษัทอาจจะมีวิธีคิดในการกำหนดอัตราเริ่มต้น (Starting Rate) สำหรับตำแหน่งงานที่ต้องมีประสบการณ์ทำงาน เช่น

สมมุติว่าบริษัทจ้างเจ้าหน้าที่การตลาดมาเมื่อ 3 ปีที่แล้วที่อัตราจบใหม่ 15,000 บาท ค่าเฉลี่ยขึ้นเงินเดือนประจำปีของบริษัทปีละประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ ปีที่ 1 เงินเดือนจะเท่ากับ 15,900 บาท (ขึ้นเงินเดือน 900 บาท) ปีที่ 2 เงินเดือนเท่ากับ 16,860 บาท (ขึ้นเงินเดือน 954 บาทแต่ปัดเศษให้ลงตัว) ปีที่ 3 เงินเดือนเท่ากับ 17,900 บาท (ขึ้นเงินเดือน 1,012 บาทแต่ปัดเศษให้ลงตัว)

            ดังนั้น ถ้าบริษัทจะรับเจ้าหน้าที่การตลาดเข้ามาใหม่โดยต้องการประสบการณ์ทำงาน 1 ปี ก็จะมีอัตราจ้างอยู่ที่ 15,900 หรือ 16,000 บาท แต่ถ้ามีประสบการณ์ทำงาน 2 ปีก็จะมีอัตราเริ่มต้นอยู่ที่ 16,800 หรือ 17,000 บาท และถ้ามีประสบการณ์ทำงาน 3 ปีจะมีอัตราเริ่มต้นที่ 17,900 หรือ 18,000 บาท เป็นต้น

            วิธีคิดแบบนี้จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของพนักงานที่เข้ามาใหม่แล้วมีประสบการณ์ทำงานใกล้เคียงกับพนักงานเดิมที่ทำงานอยู่ในตำแหน่งเดียวกันไม่ให้ลักลั่นกันมากจนเกินไป

            ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ผมไม่ได้คาดหวังให้ท่านก๊อปปี้วิธีที่ผมเสนอมาไปใช้ทั้งหมดนะครับ เพียงแต่แค่เป็นการแชร์ไอเดียในวิธีที่ผมเคยทำมาเท่านั้น  ซึ่งอาจจะเหมาะหรือไม่เหมาะกับบริษัทของท่านก็ได้แต่สิ่งที่ผมต้องการคืออยากให้ท่านลองคิดต่อยอดหรือพัฒนาวิธีการเหล่านี้ให้ดีขึ้นกว่าเดิมมากกว่าครับ

            โดยวัตถุประสงค์ของเรื่องที่เล่ามาทั้งหมดนี้ก็เพื่อต้องการให้ท่านมีการบริหารค่าตอบแทนที่เสมอภาคและเป็นธรรม จะได้ลดปัญหาดราม่าในบริษัทของท่านให้น้อยลงยังไงล่ะครับ

 

………………………………