วันพุธที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2557

การพัฒนาพนักงานอย่างเป็นระบบควรทำอย่างไร


            วันนี้ทุกบริษัทมักจะพัฒนาพนักงานด้วยวิธีการฝึกอบรมกันเป็นหลักใช่ไหมครับ โดยประมาณปลาย ๆ ปีฝ่ายบุคคลก็จะสำรวจสอบถามไปยังบรรดาผู้บริหารในฝ่ายต่าง ๆ ในบริษัทว่าในปีหน้าบริษัทควรจะจัดหลักสูตรฝึกอบรมอะไรให้กับพนักงานในฝ่ายนั้น ๆ ดี ซึ่งเมื่อผู้บริหารแต่ละฝ่ายแจ้งหลักสูตรที่ต้องการให้บริษัทจัดฝึกอบรมมายังฝ่ายบุคคลแล้ว  ฝ่ายบุคคลก็จะนำมาทำแผนจัดฝึกอบรมในปีหน้านำเสนอกรรมการผู้จัดการเพื่อขออนุมัติงบประมาณ เมื่อได้รับอนุมัติแผนการฝึกอบรม (ซึ่งจะมีหลักสูตรตามที่แต่ละฝ่ายเสนอมา) แล้วก็จะจัดการอบรมตามแผนต่อไป

            จากกระบวนการที่ผมบอกมาข้างต้นก็ดูแล้วเหมือนจะดีนะครับ เพราะฝ่ายบริหารระดับสูงก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพนักงาน มีหลักสูตรฝึกอบรมแต่ละปีไว้ในแผนงาน แถมมีงบประมาณให้จัดอบรมตามแผน ซึ่งก็น่าจะทำให้พนักงานในบริษัทได้รับการพัฒนา (คือได้รับการฝึกอบรมตามแผน) มีความรู้ความสามารถเก่งขึ้นเรื่อย ๆ

          แต่ถ้าผมจะถามว่า “นี่คือการพัฒนาพนักงานอย่างเป็นระบบแล้วหรือไม่  ?” และ “บริษัทใช้งบประมาณในการพัฒนาพนักงานด้วยวิธีการดังกล่าวข้างต้นน่ะคุ้มค่าแล้วจริงหรือ ?

            เพราะจากประสบการณ์ที่ผมเจอมาก็คือ

1.      หลักสูตรฝึกอบรมที่สอบถามมาจากแต่ละฝ่ายน่ะ มักจะเป็นหลักสูตรผู้บริหารแต่ละฝ่ายคิดว่า “น่าจะ” จำเป็นสำหรับพนักงานในฝ่ายของตัวเอง โดยหลายหลักสูตรก็ไม่มีที่มาที่ไป เช่น ฝ่ายที่ไม่จำเป็นต้องทำงานติดต่อกับลูกค้าภายนอกอะไร แต่ผู้จัดการต้องการให้ลูกน้องแต่งกายดีเพราะตัวผู้จัดการเป็นคนแต่งตัวเนี้ยบและอยากให้ลูกน้องแต่งตัวดีก็เลยใส่หลักสูตร “การพัฒนาบุคลิกภาพที่เป็นเลิศ” สำหรับฝ่ายตัวเองเข้ามา แถมหลักสูตรนี้ก็จัดเฉพาะปีนี้พอปีหน้าก็เปลี่ยนเป็นหลักสูตรอื่นที่ผู้จัดการเห็นสมควรต่อไป

2.      หลักสูตรตามข้อ 1 นี่แหละครับที่ผมมักจะเรียกเล่น ๆ ว่าหลักสูตรฝึกอบรมแบบ “เทพดลใจ” หรือหลักสูตร “จิตสัมผัส” ก็ได้ คือจะเป็นหลักสูตรฝึกอบรมแบบแล้วแต่ผู้บริหารของแต่ละฝ่ายจะคิดจะบอกมาที่ฝ่ายบุคคล แต่ละปีก็จะเปลี่ยนหลักสูตรไปโดยไม่มีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน

3.      ดังนั้นงบประมาณที่ใส่ลงไปในการจัดฝึกอบรมในแต่ละปีก็จะเหมือนกับ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” เพราะบริษัทเพียงแค่จัดฝึกอบรมไปตามแผน และหลักสูตรฝึกอบรมในแต่ละหลักสูตรก็ไม่มีทิศทางที่ชัดเจนว่าจะพัฒนาพนักงานไปในด้านไหนยังไง ขาดการติดตามผลการฝึกอบรมว่าพนักงานที่เข้าอบรมแล้วจะนำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมเป็นมรรคเป็นผลบ้างหรือเปล่า ฯลฯ ดังนั้น ส่วนใหญ่ของงบประมาณที่จัดฝึกอบรมไปก็มีแนวโน้มจะสูญเปล่า

ถ้าอย่างงั้นควรจะทำยังไงดีล่ะ ?

ผมเสนอวิธีการอย่างง่าย ๆ แบบนี้ดีไหมครับ....

1.      บริษัทควรจะต้องให้แต่ละฝ่ายค้นหาสมรรถนะขีดความสามารถของแต่ละฝ่ายขึ้นมาก่อน  ซึ่งศัพท์เทคนิคจะเรียกว่าการค้นหา Functional Competency (บางตำราจะเรียกว่า Job Competency หรือ Technical Competency หรือ Specific Competency ก็ว่ากันไป) โดยการทำ Workshop ให้ผู้บริหารและพนักงานในแต่ละฝ่ายมาช่วยกันระดมความคิดเพื่อหาว่าในฝ่ายของตนเองต้องการคนที่มีสมรรถนะความสามารถยังไงถึงจะเหมาะสมที่จะมาทำงานในฝ่ายนี้ได้

2.      เมื่อสามารถค้นหา Functional Competency ได้แล้ว ผู้บริหารและพนักงานในแต่ละฝ่ายก็มาช่วยกันคิดอีกครั้งหนึ่งว่า เพื่อที่จะทำให้คนในฝ่ายของเรามีสมรรถนะในงานอย่างที่หาไว้ตอนแรกนั้น ฝ่ายของเราควรจะมีหลักสูตรฝึกอบรม (หรือวิธีการพัฒนารูปแบบอื่นนอกเหนือจากการฝึกอบรม) อะไรบ้างที่สอดคล้องกับ Functional Competency ซึ่งเมื่อพนักงานผ่านการฝึกอบรม (หรือพัฒนา)  แล้วจะทำให้มีขีดความสามารถมีความรู้มีทักษะและมีคุณลักษณะในงานได้อย่างที่ฝ่ายของเราต้องการ

3.      นำหลักสูตร (หรือแผนการพัฒนารูปแบบอื่นนอกเหนือจากการฝึกอบรม) ใส่เข้าไว้ในแผนการพัฒนาพนักงาน (ในฝ่ายนั้น ๆ ) ระยะยาวที่เรียกว่าทำแผนพัฒนาพนักงานแบบ “Training & Development Roadmap” หมายถึงการกำหนดแผนการพัฒนาพนักงานในฝ่ายของเราอย่างชัดเจนว่าตั้งแต่พนักงานเข้ามาใหม่ในปีที่ 1 เขาจะได้รับการฝึกอบรมด้วยหลักสูตรอะไรบ้าง ปีที่ 2 เขาจะต้องเข้าอบรมหลักสูตรอะไร ปีที่ 3 เขาจะต้องเข้าอบรมหลักสูตรอะไร เมื่อเลื่อนเป็นหัวหน้าแผนกในปีที่ 4 จะได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรอะไร  ฯลฯ โดยหลักสูตรหรือการพัฒนาที่พนักงานจะได้รับการฝึกอบรมนั้นจะเป็นไปตาม Functional Competency เป็นหลัก จะไม่มีหลักสูตรฝึกอบรมประเภทเทพดลใจ หรือหลักสูตรจิตสัมผัสเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป

4.      มีการติดตามผลการฝึกอบรม (หรือการพัฒนา) พนักงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ว่าเมื่อพนักงานได้รับการพัฒนาแล้ว มีความรู้ความสามารถในงาน (ที่สอดคล้องกับ Functional Competency) มากขึ้นหรือไม่อย่างไรเพื่อปรับวิธีการพัฒนาให้เหมาะสม หรือในกรณีที่ไม่สามารถพัฒนาพนักงานบางรายให้มีขีดความสามารถตามที่ฝ่ายนั้นต้องการได้ ก็อาจจะต้องมาพิจารณาดูว่าพนักงานคนนั้น ๆ มีขีดความสามารถเหมาะกับงานด้านใดเพื่อโยกย้ายไปทำงานที่เหมาะกับขีดความสามารถของพนักงานต่อไป

5.      เมื่อเป็นอย่างที่ผมแนะนำมาข้างต้นแล้ว บริษัทจะใช้งบประมาณในการพัฒนาพนักงานอย่างคุ้มค่า และวัดผลรวมถึงติดตามผลการพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรม มีทิศทางในการพัฒนาพนักงานแบบชัดเจน ทำให้การลงทุนพัฒนาพนักงานไม่สูญเปล่าเหมือนที่เป็นมา

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ผมเชื่อว่าท่านคงจะเห็นภาพวิธีการพัฒนาพนักงานในยุคใหม่มากขึ้นแล้วนะครับ คราวนี้ก็อยู่ที่ว่าท่านที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรจะเริ่มต้นทำแผนการพัฒนาพนักงานอย่างเป็นระบบอย่างที่ผมบอกมานี้แล้วหรือยังล่ะครับ ?

 

………………………………….