วันพุธที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การลาป่วยควรลากับ HR หรือต้นสังกัด ?

            คำถามตามหัวเรื่องข้างต้นมาจากคนที่บอกว่าเป็นมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่ง ที่ไม่อยากจะลาป่วยกับหัวหน้างานเพราะหัวหน้างานเป็นคนเข้มงวดในการทำงานก็เลยตั้งกระทู้ถามผู้คนในเว็บไซด์แห่งหนึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่าท่านที่ทำงานด้าน HR คงจะมีคำตอบที่ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งเดี๋ยวเราค่อยมาเฉลยกัน

            แต่คำถามข้างต้นยังไม่ทำให้ผมแปลกใจเท่ากับคำตอบของคนที่เข้ามาตอบกระทู้นี้น่ะสิครับ คำตอบที่มีคือ....

“เราว่าน่าจะโทรลาป่วยกับ HR ได้นะคะเพราะเขาเป็นคนควบคุมระบบการทำงานของพนักงานอยู่แล้ว การคิดค่าแรง การขาดลามาสายมันก็ต้องมาทาง HR อยู่ดี ถึงแม้จะลาที่หัวหน้ายังไงเรื่องมันก็ต้องมาทาง HR ดังนั้นเมื่อลากับทางหัวหน้าไม่สะดวกก็น่าจะลากับทาง HR ได้ค่ะ บริษัทของเราก็เป็นอย่างนี้....”

ทุกวันนี้ยังมีคนอีกไม่น้อยที่ยังคิดว่าเรื่องอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับผู้คนในบริษัทก็ต้องเป็นเรื่องของฝ่ายบุคคล (เพราะมีคำว่า “คน” เหมือนกัน) ดังนั้น ถ้าพนักงานจะลาป่วย ลากิจ ลาพักร้อน ก็ให้มาลากับ HR หรือถ้าพนักงานคนไหนแต่งกายผิดระเบียบ, มาสาย, อู้งาน,  เกเร, ขาดงาน, ทำงานไม่ดี, มีปัญหาอะไรก็ตาม ฯลฯ ก็ให้หัวหน้างานส่งตัวพนักงานเหล่านั้นมาให้ HR ทำการว่ากล่าวตักเตือนตั้งแต่การตักเตือนด้วยวาจา, ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร

จนถึงหนักที่สุดคือถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็ให้ HR เป็นคนเลิกจ้างพนักงานที่มีปัญหาออกไปเสียเลย !!

คือดูเหมือนกับว่า  HR มีอำนาจล้นฟ้าอยู่ในบริษัท จะดุด่าว่ากล่าวตักเตือนใคร หรือไล่ใครออกก็ได้ทำนองนั้นแหละครับ

          ถ้าบริษัทไหนยังมีวิธีการบริหารจัดการอยู่แบบนี้ คำถามก็คือ  “แล้วจะมีหัวหน้างานไว้ทำ....อะไรหรือครับ” ?

            เพราะหัวหน้างานก็เปรียบเสมือนพ่อแม่ที่ต้องอยู่กับลูกทุกวัน ทำงานร่วมกันทุกวันถ้าพ่อแม่ไม่อบรมสั่งสอนลูกของตัวเอง จะไปโบ้ยหน้าที่นี้ให้กับครูหรือโรงเรียนเป็นคนสั่งสอนเพียงผู้เดียวอย่างนี้จะเป็นพ่อเป็นแม่ได้ยังไง เพราะหัวหน้างานทำงานอยู่กับลูกน้องทุกวันก็ต้องรู้จักลูกน้องแต่ละคนดีว่าใครเป็นยังไง และจะต้องกล้าที่จะว่ากล่าวตักเตือนลูกน้องเมื่อทำผิดได้ และขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักการให้รางวัลเมื่อลูกน้องทำความดีนะครับ เพราะนี่คือบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของคนที่เป็นหัวหน้างานครับ

กลับมาประเด็นการลาป่วยกับทาง HR นี่ก็เหมือนกัน ผมอยากจะอธิบายดังนี้

1. จริงอยู่ที่ HR เป็นคนดูแลในเรื่องของการเก็บข้อมูลการมาทำงานของพนักงาน, การคำนวณค่าจ้างเงินเดือน, โอที หากพนักงานขาดงาน HR ก็จะเป็นคนทำเรื่องไม่จ่ายค่าจ้างในวันที่พนักงานขาดงาน

2. แต่การปฏิบัติงานของ HR ตามข้อ 1 นั้น เป็นการทำงานในบทบาทของหน่วยงานที่เป็นคนรวบรวมเอกสารข้อมูล, ออกรายงานการป่วย สาย ลา ขาด หรือคำนวณการจ่ายค่าจ้างเงินเดือน, โอที ฯลฯ ให้กับพนักงานทั้งบริษัทตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้วให้ถูกต้อง หรือพูดง่าย ๆ ว่าทำเรื่องจ่ายเงินหรือหักเงินไปตามข้อมูลเอกสารหลักฐานที่มีตามหน้าที่ของ HR แต่ไม่ใช่ทำในฐานะของหัวหน้างานที่จะมีอำนาจอนุมัติให้พนักงานทั้งบริษัทลาป่วย, ลากิจ, มาสาย, หรืออนุมัติให้ขาดงานได้นะครับ

3. ดังนั้น หากพนักงานในฝ่ายอื่น (ที่ไม่ใช่พนักงานในฝ่าย HR) มาลาป่วย, ลากิจ, ลาพักร้อน ฯลฯ ทาง HR จะตัดสินใจอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้ลาได้ยังไง เพราะ HR ไม่ใช่หัวหน้าโดยตรงของพนักงานที่มาขอลา ผมยกตัวอย่างเช่น ถ้า HR อนุญาตให้พนักงานคนนี้ลาป่วย แล้วถ้าหัวหน้างานของพนักงานที่ลาป่วยคนนี้มาโวยกับฝ่าย HR ว่า “คุณอนุญาตให้เขาลาป่วยได้ยังไง คุณรู้ไหมว่าตอนนี้งานของฝ่ายผมเร่งด่วนมาก แล้วคุณรู้ได้ยังไงว่าเขาป่วยจริง คุณเป็นหัวหน้าของเขาเหรอ ฯลฯ” ถามว่าถ้าท่านเป็น HR ท่านจะตอบคำถามหัวหน้างานยังไงครับ

4. ที่ผมขีดเส้นใต้คำว่า “บริษัทของเราก็เป็นอย่างงี้....” ข้างต้นน่ะ ผมแปลกใจว่า HR ของบริษัทที่คนตอบกระทู้นี้ได้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของ HR หรือเปล่าว่าตัวเองมีบทบาทหน้าที่แค่ไหนอย่างไร กำลังวางบทบาทตัวเองเข้าไปล้ำเส้นหัวหน้างานคนอื่น ๆ ในบริษัทหรือไม่ ซึ่งผมมั่นใจว่าคนที่เป็น HR มืออาชีพจะต้องรู้บทบาทหน้าที่ของงาน HR ของตัวเองดีพอและจะไม่ทำอย่างนี้แน่ ๆ 

ที่ผมบอกมาข้างต้นทั้งหมดนั้น ผมอยากจะบอกกับท่านว่า “ผู้จัดการฝ่ายบุคคลตัวจริงคือหัวหน้างาน”

            ดังนั้น ผมก็ยังยืนยันคำตอบสำหรับคำถามนี้ว่า หากพนักงานจะลาป่วย (รวมถึงการลาทุกประเภท) ก็ยังต้องไปลากับหัวหน้างานโดยตรง ไม่ใช่ไปลากับ HR ครับ

            แต่ถ้าบริษัทไหนยังให้พนักงานไปลากับฝ่าย HR ก็คงต้องตั้งคำถามกับบริษัทนั้นแล้วล่ะครับว่า บริษัทนั้นจ้าง HR มืออาชีพมาทำงานในสิ่งที่ HR มืออาชีพควรทำ

หรือแค่จ้างใครสักคนที่มีอาชีพทำงาน HR (แบบไม่รู้จริง) กันแน่ครับ ?


……………………………….