วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2557

เลิกจ้างเพราะผลงานไม่ดีระหว่างทดลองงานเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่

            เป็นเรื่องปกติที่เมื่อบริษัทรับคนเข้ามาทำงานใหม่ ๆ มักจะต้องมีการทดลองงานกันเสียก่อน เพราะอาจจะเป็นไปได้ที่พนักงานใหม่ทำงานไม่ได้อย่างที่บริษัท (โดยหัวหน้างาน) คาดหวังไว้ แต่กฎหมายแรงงานไม่ได้มีการบัญญัติเรื่องการทดลองงานไว้เป็นการเฉพาะว่านายจ้างจะให้ลูกจ้างทดลองงานได้กี่วัน

          แต่ส่วนใหญ่เราจะพบว่าบริษัทมักให้พนักงานทดลองงานกัน 120 วัน

            ผมเคยถามผู้เข้าอบรมว่าทำไมถึงต้องทดลองงาน 120 วันด้วยล่ะ จะให้ทดลองงาน 60 วัน หรือ 180 วัน หรือทดลองงานกัน 1 ปีจะได้หรือไม่ ?

            บางคนก็ตอบว่า “เกินกว่า 120 วันไม่ได้เพราะกฎหมายแรงงานกำหนดให้ทดลองงานได้ไม่เกิน 120 วัน” ??

            แต่พอผมบอกให้ลองไปหาดูสิว่าทั้ง 166 มาตราในกฎหมายแรงงานน่ะ มีข้อความในมาตราไหนบอกไว้อย่างที่ตอบมาบ้าง

            ก็สรุปได้ว่าไม่มีข้อความทำนองนี้ในกฎหมายแรงงานนะครับ

            แต่ที่บริษัทมักนิยมให้ทดลองงานกันไม่เกิน 120 วัน ก็เพราะในมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงานเขาพูดถึง “ค่าชดเชย” ตามอายุงานในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่ได้ทำความผิดทางวินัยร้ายแรงงานครับ

            นั่นคือ ถ้านายจ้างรับลูกจ้างเข้ามาทำงานแล้วมีอายุงานตั้งแต่ 120 วันขึ้นไป (นับแต่วันเข้าทำงาน) หากนายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างด้วยสาเหตุผลการปฏิบัติงานไม่ดี ไม่เป็นที่น่าพอใจก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน และจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างอีกด้วยนะครับ

            ดังนั้น ถ้าลูกจ้างทดลองงานมีผลการปฏิบัติงานในระหว่างการทดลองงานไม่เป็นที่น่าพอใจ ไม่ผ่านการประเมินผลทดลองงาน แต่อายุงานยังไม่เกิน 120 วัน นายจ้างก็สามารถบอกเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย (แต่ค่าบอกกล่าวล่วงหน้ายังต้องจ่ายอยู่นะครับ)

          นี่ถึงเป็นที่มาว่าบริษัทส่วนใหญ่มักจะกำหนดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานทดลองงานและแจ้งผลให้พนักงานทราบไม่เกิน 120 วัน ถ้าจะพูดกันตรง ๆ ก็คือถ้าพนักงานมีผลงานไม่ดีระหว่างทดลองงานบริษัทจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีบอกเลิกจ้างเท่านั้นแหละครับ

            แต่มันมีประเด็นเพิ่มจากตรงนี้ก็คือ....

          แล้วถ้าบริษัทแจ้งเลิกจ้างพนักงานด้วยเหตุที่มีผลการปฏิบัติงานไม่ดี ไม่ผ่านทดลองงานแล้ว พนักงานจะสามารถไปฟ้องศาลแรงงานว่าบริษัทกลั่นแกล้งเลิกจ้างไม่เป็นธรรม (Unfair dismissal) ได้หรือไม่

            เพราะตามพรบ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พศ.2522 มาตรา 49 บอกไว้ว่าหากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ลูกจ้างมีสิทธิฟ้องต่อศาลแรงงาน ขอศาลพิพากษาให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงาน หรือชดใช้ค่าเสียหายได้

            แล้วกรณีเลิกจ้างเพราะลูกจ้างไม่ผ่านทดลองงานจะเข้าข่ายนี้ และฟ้องร้องได้หรือไม่ ?
            ลองมาดูแนวคำพิพากษากันก่อนดีไหมครับ

            “นายจ้างจ้างลูกจ้างเข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ โดยให้ทดลองงานโดยมีกำหนดเวลา 180 วัน ครบกำหนดทดลองงานวันที่ 13 กันยายน 2528 แต่ผลการปฏิบัติงานของลูกจ้างไม่เหมาะสมที่จะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ นายจ้างจึงเลิกจ้างในวันที่ 3 กันยายน 2528 โดยให้มีผลเลิกจ้างในวันที่ 15 กันยายน 2528 ซึ่งเลยวันกำหนดทดลองงานไป 2 วัน นายจ้างย่อมมีสิทธิเลิกจ้างได้ จะถือว่าเป็นกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหาได้ไม่” (ฎ.3965/2529)

            หรือในกรณีบริษัททำสัญญาจ้างโดยมีการระบุข้อความทำนองนี้ในสัญญาจ้างคือ....

            “ในระยะเวลาทดลองงาน หากบริษัทฯได้พิจารณาเห็นว่าผลการปฏิบัติงานของท่านไม่เป็นที่น่าพอใจหรือด้วยเหตุผลอื่นใดก็ตาม บริษัทฯมีสิทธิยกเลิกการจ้างงานโดยไม่ต้องแจ้งให้ท่านทราบล่วงหน้าและท่านไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเงินชดเชยแต่อย่างใดทั้งสิ้น หมายความว่าในระหว่างทดลองงาน หากนายจ้างเห็นว่าผลการปฏิบัติงานของลูกจ้างไม่เป็นที่น่าพอใจ นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้าง....กรณีนี้จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม” (ฎ.2364/2545)

            จากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น คงจะตอบคำถามตามหัวข้อในวันนี้ได้แล้วนะครับว่า การเลิกจ้างพนักงานทดลองงานเนื่องจากผลการปฏิบัติงานไม่เป็นที่น่าพอใจนั้น บริษัทสามารถทำได้และไม่เข้าข่ายเลิกจ้างไม่เป็นธรรมครับ

            แต่ผมมีความคิดเห็นส่วนตัวจากประสบการณ์ทำงานว่า ในกรณีพนักงานไม่ผ่านทดลองงานนั้น บริษัทควรเชิญพนักงานมาพูดคุย แจ้งผลว่าเขาทำงานบกพร่องยังไง และเหตุใดถึงไม่ผ่านทดลองงาน แล้วให้เขาเขียนใบลาออกไปเพื่อไม่ให้เขาเสียประวัติเวลาเขาต้องไปสมัครงานในบริษัทอื่นต่อไป ซึ่งเขาก็จะได้กรอกใบสมัครงานในบริษัทแห่งใหม่ได้อย่างสบายใจว่าเขา “ลาออก” จากบริษัทเดิม ไม่ใช่ถูก “เลิกจ้าง” เพราะไม่ผ่านการทดลองงาน ซึ่งจะทำให้บริษัทแห่งใหม่ตะขิดตะขวงใจเรื่องนี้และอาจทำให้เขาพลาดโอกาสที่จะได้งานในบริษัทใหม่ก็เป็นได้

            แถมยังทำให้บริษัทไม่ต้องเสียเวลาไปขึ้นศาลแรงงานด้วยเรื่องทำนองนี้อีกด้วยจะดีกว่าไหมครับ ?

            ยึดหลัก “ใจเขา-ใจเรา” น่ะครับ


…………………………….