วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ไม่ผ่านทดลองงาน บริษัทจะบอกให้เขียนใบลาออกได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ?



วันนี้ผมได้รับคำถามนี้มาทางอีเมล์อีกแล้วครับท่าน !!
            คำถามทำนองนี้มีมาบ่อย ๆ แม้จะมีคำพูดหนึ่งที่ว่า “ประชาชนจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้” คำว่า “ประชาชน” ก็หมายถึงทั้งคนที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายแรงงานก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน
            แต่ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่าทั้งนายจ้าง (ผู้บริหาร) และลูกจ้าง (พนักงาน) ต่างก็ยังไม่รู้กฎหมายแรงงานกันอยู่ไม่น้อย จึงเกิดคำถามอย่างในวันนี้หรือคำถามอื่น ๆ อยู่บ่อย ๆ
            แต่ผมมองว่าเป็นเรื่องดีที่เราจะได้นำข้อสงสัยเหล่านี้มาเล่าสู่กันฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันจริงไหมครับ
            กลับมาที่คำถามตามหัวเรื่องนี้ก่อน....ผมอธิบายอย่างนี้
1. ถ้าท่านไปอ่านมาตรา 17 ของกฎหมายแรงงาน จะสรุปใจความแบบภาษาชาวบ้านได้ว่าการเลิกจ้างนั้นจะเกิดได้ 3 กรณีคือ
1.1 สัญญาจ้างครบระยะเวลา ซึ่งหลายบริษัททำสัญญาจ้างพนักงานชั่วคราวเข้ามาโดยกำหนดระยะเวลาว่าให้ทำงานเมื่อไหร่ถึงเมื่อไหร่ เช่น จ้างมาทำงานตั้งแต่วันที่ 1 มีค.54 ถึง 28 กพ.55 ดังนั้นเมื่อถึงวันที่ 1 มีค.55 พนักงานชั่วคราวคนนี้ก็ไม่ต้องมาทำงานโดยไม่ต้องยื่นใบลาออก และบริษัทก็ไม่ต้องทำหนังสือเลิกจ้าง เพราะถือว่าสัญญาจ้างครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา พนักงานชั่วคราวคนนี้ก็พ้นสภาพลูกจ้างไปโดยสัญญาจ้่าง
1.2 กรณีที่เป็นพนักงานประจำ (ในกฎหมายเขาจะเรียกว่า “สัญญาจ้างแบบไม่มีระยะเวลา”) การเลิกสัญญาจ้างแบบไม่มีระยะเวลาก็จะทำได้ 2 กรณีคือ
1.2.1 ลูกจ้างยื่นใบลาออกให้นายจ้างทราบโดยระบุให้ชัดเจนว่าการลาออกมีผลเมื่อไหร่ก็พ้นสภาพการเป็นพนักงานในวันที่ระบุในใบลาออกนั่นแหละครับ ในกรณีที่ลูกจ้างยื่นใบลาออกนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใดๆ ให้กับลูกจ้างเนื่องจากเป็นความประสงค์ของลูกจ้างที่จะลาออกเองครับ
1.2.2 นายจ้างทำหนังสือเลิกจ้างโดยระบุให้ชัดเจนว่าจะเลิกจ้างลูกจ้างวันที่เท่าไหร่ลูกจ้างก็จะพ้นสภาพในวันที่ระบุเช่นเดียวกัน ส่วนการเลิกจ้างลูกจ้างนั้น นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ก็ต้องไปว่ากันอีกเรื่องหนึ่งว่าลูกจ้างกระทำความผิดทางวินัยร้ายแรงตามมาตรา 119 ของกฎหมายแรงงานหรือตามข้อบังคับการทำงานของนายจ้างหรือไม่นะครับ
            จะเห็นได้ว่าทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างมีสิทธิเสมอกันในการบอกเลิกสัญญาจ้างเมื่อไหร่ก็ได้จริงไหมครับ
            จากที่ผมบอกมานี้ คงจะตอบคำถามท่านได้แล้วนะครับว่า ในกรณีที่ลูกจ้างไม่ผ่านการทดลองงาน นายจ้างก็อาจจะเรียกลูกจ้างมาบอกให้เขียนใบลาออกไปได้เพราะเหตุว่าลูกจ้างมีผลการปฏิบัติงานในระหว่างทดลองงานไม่เป็นที่พึงพอใจของนายจ้าง
            แต่ถ้าลูกจ้างบอกว่าฉันไม่ยอมเขียนใบลาออก ฉันทำงานดี แต่หัวหน้าหรือบริษัทน่ะไม่ดีกลั่นแกล้งฉัน ฯลฯแล้วนายจ้างก็ยังยืนยันว่าลูกจ้างทำงานไม่ดี บริษัทก็ต้องทำหนังสือเลิกจ้างตามข้อ 1.2.2 ข้างต้น
            คราวนี้กลับมาที่ประเด็นว่า แล้วกรณีที่ลูกจ้างถูกบอกเลิกจ้างเพราะไม่ผ่านการทดลองงานจะได้ค่าชดเชยหรือไม่ ?
    2. ท่านก็ต้องไปดูมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงาน ที่บอกเอาไว้ว่าให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง (ในกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดทางวินัยร้ายแรง) โดยดูอายุงานคือ อายุงานจะต้องเริ่มตั้งแต่ครบ 120 วัน (นับจากวันเข้าทำงานถึงวันที่ถูกบอกเลิกจ้าง) ไม่เกิน 1 ปี รับค่าชดเชย 30 วัน ซึ่งค่าชดเชยนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุงานจนถึงสูงสุดคือหากอายุงานเกินกว่า 10 ปีขึ้นไปก็จะได้ค่าชดเชย 300 วันครับ
         3. จากคำถามข้างต้นนั้น เนื่องจากลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดวินัยร้ายแรง เพียงแต่ทำงานไม่ได้ตามเป้าหมาย (KPIs) หรือขายไม่ได้ตามยอดที่ตกลงกัน ฯลฯ จึงไม่ผ่านการทดลองงานซึ่งเป็นเรื่องของผลการปฏิบัติงาน ซึ่งไม่เข้าข่ายความผิดร้ายแรง ถ้าหากจะเลิกจ้างลูกจ้างมีอายุงานตั้งแต่ 120 วันขึ้นไปที่ไม่ผ่านทดลองงาน บริษัทก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานเมื่อถูกเลิกจ้าง (ให้นับตั้งแต่วันที่เข้าทำงานจนถึงวันที่ถูกเลิกจ้าง) 
            แต่ถ้าอายุงานยังไม่ถึง 120 วัน ลูกจ้างก็จะไม่ได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 นะครับ แถมยังจะกลายเป็นประวัติการทำงานว่าถูกเลิกจ้างเพราะไม่ผ่านทดลองงานอีกด้วย ซึ่งก็จะทำให้ฝ่ายบุคคลบริษัทใหม่ที่เราไปสมัครงานเขาอาจจะตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการทำงานได้อีก
            ดังนั้น ในความเห็นของผมแล้วเมื่อบริษัทนี้เขาประเมินว่าเราทำงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่เขากำหนด ไม่ได้แปลว่าเราไม่เก่ง หรือเราทำงานล้มเหลวนะครับ เป็นผมก็เขียนใบลาออกแล้วเอาเวลาไปหางานที่ตรงกับความสามารถหรือไปหาองค์กรที่เขาเห็นความสามารถของเราดีกว่าจะมาเสียเวลาทู่ซี้อยู่กับองค์กรที่เขาไม่เห็นความสามารถของเราอยู่ทำไม แถมเราก็ไม่เสียประวัติเพราะถูกเลิกจ้างอีกต่างหาก
          สู้เอาบทเรียนและประสบการณ์ที่เราได้รับเหล่านี้มาทบทวนดูว่าเรามีปัญหาอะไรจริงอย่างที่บริษัทเขาแจ้งเรามาหรือไม่แค่ไหน แล้วนำมาปรับปรุงพัฒนาตัวเองเพื่อให้ก้าวไปข้างหน้าในที่ใหม่ หรือสร้างแรงใจของเราให้ฮึดสู้ในครั้งใหม่ในที่ใหม่จะดีกว่าไหมครับ
            เพราะคนที่ประสบความสำเร็จที่ท่านเห็นล้วนแต่ไม่มีใครที่ไม่เคยพบอุปสรรคครับ ?

………………………………………