วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

โครงสร้างเงินเดือนกับโครงสร้างค่าจ้างไม่เหมือนกัน

            ถึงวันนี้ยังมีความเข้าใจที่สับสนกันระหว่างโครงสร้างเงินเดือน (Salary Structure) กับโครงสร้างค่าจ้างหรือโครงสร้างค่าตอบแทน (Compensation Structure) ว่าเหมือนกันหรือไม่อย่างไร 

           หลายคนอาจจะไปเข้าใจว่ามันคือตัวเดียวกัน ผมก็เลยขออธิบายให้เห็นความแตกต่างให้ชัดเจนเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับทั้งสองโครงสร้างดังนี้

1.      โครงสร้างเงินเดือน (Salary Structure) ทำมาจากการสำรวจตลาดค่าตอบแทนโดยนำตำแหน่งต่าง ๆ ในแต่ละ Job Grade (ที่ผ่านการประเมินค่างานแล้ว) ไปดูว่าตลาดเขาจ่ายกันอยู่เท่าไหร่ แล้วออกแบบโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทให้แข่งขันกับตลาดได้ โดยใช้เงินเดือนมูลฐาน (Base Salary หรือ Basic Salary) เป็นตัวกำหนดกระบอกเงินเดือน (Min ถึง Max) ในแต่ละ Job Grade

2.      เมื่อทำโครงสร้างเงินเดือนเสร็จจะมีหลักการว่าในการจ้างพนักงานเข้ามาใหม่หรือพนักงานที่ทำงานอยู่ในทุกตำแหน่งงานในแต่ละ Job Grade ควรจะมีเงินเดือนมูลฐานไม่ต่ำกว่า Min และไม่เกิน Max ของกระบอกเงินเดือนนั้น ๆ

3.      เงินอื่น ๆ ที่บวกเพิ่มขึ้นจากเงินเดือนมูลฐาน เช่น ค่าครองชีพ, ค่าภาษา, ค่าตำแหน่ง, ค่าวิชาชีพ ฯลฯ จะถือเป็นค่าจ้างหรือค่าตอบแทนอื่นที่บริษัทจ่ายเพิ่ม จึงเรียกเงินเดือนมูลฐาน+เงินอื่น ๆ ว่าเป็น “โครงสร้างค่าจ้าง” สำหรับตำแหน่งนั้น ๆ

4.      จึงสรุปได้ว่าโครงสร้างค่าจ้างจะไม่ได้ถูกกำหนดเป็นกระบอก Min-Max เหมือนโครงสร้างเงินเดือน

แต่โครงสร้างค่าจ้างคือการนำเงินเดือนมูลฐานรวมเข้ากับค่าตอบแทนตัวอื่น ๆ สำหรับแต่ละตำแหน่งงาน เพื่อให้พนักงานเห็นว่านอกเหนือจากเงินเดือนมูลฐานแล้ว   บริษัทยังจ่ายเงินเพิ่มอื่น ๆ ให้อีกเมื่อรวมกันแล้วก็จะทำให้พนักงานมีรายได้สูงมากกว่าการได้รับเงินเดือนมูลฐานเพียงตัวเดียว

5.      โครงสร้างค่าจ้างในตำแหน่งต่าง ๆ อาจจะต่างกันไปตามลักษณะงานของแต่ละตำแหน่ง เช่น ตำแหน่งที่อยู่ใน Job Grade เดียวกันก็อาจจะมีโครงสร้างค่าจ้าง (คือเงินเดือน+ค่าตอบแทนตัวอื่น ๆ) แตกต่างกันไปตามที่บริษัทเห็นสมควรก็ได้ 

6.      จากตัวอย่างโครงสร้างเงินเดือน (ตามภาพประกอบด้านล่าง) ผมขอยกตัวอย่างว่าใน Job Grade 3 จะเห็นว่าหัวหน้างานของแต่ละฝ่ายอยู่ใน Job Grade นี้ ซึ่งเงินเดือนมูลฐาน (Base Salary) ของหัวหน้างานทุกตำแหน่งของบริษัทไม่ว่าจะอยู่ในฝ่ายใดจะต้องไม่ต่ำกว่า 16,060 บาท และสูงสุดต้องไม่เกิน 32,120 บาท ตามโครงสร้างเงินเดือนของ Job Grade 3

7.      ผมสมมุติว่าใน Job Grade 3 นี้ มีหัวหน้างานสองคนคือ หัวหน้างานแผนกบัญชี กับ หัวหน้างานแผนกช่าง ทั้งสองคนนี้จะอยู่ใน Job Grade เดียวกันและอยู่ใน “โครงสร้างเงินเดือน” เดียวกัน

แต่บริษัทอาจจะมีการกำหนด “โครงสร้างค่าจ้าง” ที่แตกต่างกันตามลักษณะงาน (ดูภาพประกอบโครงสร้างค่าจ้างหัวหน้างานแผนกบัญชีกับหัวหน้างานแผนกช่าง) 

จากตัวอย่างโครงสร้างค่าจ้างดังกล่าว (ผมสมมุติว่าหัวหน้างานทั้งสองคนนี้เงินเดือนเท่ากันนะครับจะได้เห็นตัวเลขเปรียบเทียบได้ชัดหน่อย) จะเห็นได้ว่าหัวหน้างานแผนกบัญชีจะมีโครงสร้างค่าจ้างที่น้อยกว่าหัวหน้างานแผนกช่าง เพราะช่างต้องใช้วิชาชีพเฉพาะทาง บริษัทจึงมีค่าวิชาชีพเพิ่มให้อีกเดือนละ 1,000 บาท

ดังนั้นทั้งหัวหน้างานแผนกบัญชีและและหัวหน้างานแผนกช่างต่างก็จะมีเงินเดือนอยู่ในโครงสร้างเงินเดือน (ใน Job Grade 3) เดียวกันหรืออยู่ในกระบอกเดียวกัน

แต่ทั้งสองตำแหน่งนี้จะมีโครงสร้างค่าจ้างตามตำแหน่งงานที่แตกต่างกันไปตามนโยบายของบริษัท

ผมอธิบายพร้อมทั้งยกตัวอย่างมาถึงตรงนี้แล้วก็หวังว่าเราจะเข้าใจความแตกต่างระหว่าง “โครงสร้างเงินเดือน” และ “โครงสร้างค่าจ้าง”  ได้ตรงกันแล้วนะครับ

เลยขอปิดท้ายตรงนี้ว่า..

โครงสร้างเงินเดือนกับโครงสร้างค่าจ้างไม่เหมือนกัน เป็นคนละตัวกัน และจะใช้ในบริบทที่ต่างกันครับ




วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

หัวหน้ามีปัญหา..ใครควรเป็นคนแก้?

           เคยเจอหัวหน้าประเภทนี้บ้างไหมครับ.... 

1.      หัวหน้าสายโหดอารมณ์ร้ายประเภทมีวาจาเป็นอาวุธ มีดาวพุธเป็นวินาศ จุดเดือดต่ำ ฟิวส์ขาดง่าย อารมณ์ร้ายโวยวายเสียงดัง ลูกน้องทำดีไม่เคยจำ ทำพลาดไม่เคยลืม ฯลฯ

2.      หัวหน้าสายเสียด (สี) พูดจาดูถูก ชอบเสียดสี ถากถาง หรือชอบกลั่นแกล้งลูกน้องที่ตัวเองไม่ชอบหน้าก็เลยปฏิบัติกับลูกน้องเหมือนทาสในเรือนเบี้ยที่นายท่านจะทำยังไงกับลูกน้อง ลูกน้องห้ามหือ

3.      หัวหน้าสาย (ลำ) เอียง ประเมินผลการปฏิบัติงานลูกน้องแบบไม่ยุติธรรม เลือกปฏิบัติมีลูกรักและลูกชังสำหรับหัวหน้า ใครที่เป็นลูกรักก็ได้เกรดสวยขึ้นเงินเดือนและได้โบนัสเยอะ ได้รับการเสนอให้เลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งเร็ว 

         แต่ถ้าใครเป็นลูกชังล่ะก็ไม่ได้ผุดได้เกิดง่าย ๆ หรอก หรือลูกรักมาสายได้หัวหน้าไม่ว่า แต่ถ้าเป็นลูกชังมาสายล่ะโดนเฉ่งโดนใบเตือนแถมหักเงิน

4.      หัวหน้าสายนายทุนปล่อยเงินกู้คิดดอกเบี้ยกับลูกน้อง หรือเป็นเจ้ามือหวยหรือรับซื้อหวยจากลูกน้อง

5.      หัวหน้าสายเฉื่อย ทำงานเพียงผ่านไปวัน ๆ ลูกน้องจะพึ่งพาอาศัยจะถามอะไรตอบคำเดียวว่า “ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้” ไปจัดการกันเอาเอง ถ้ามีคำชมรับไว้แต่ถ้างานมีปัญหาลูกน้องก็รับไป ทำตัวเป็นตรายางแค่เซ็นชื่อหรือทำงานแบบรักษาเก้าอี้เอาไว้เท่านั้น

6.      หัวหน้าสายนำเสนอ (หน้า) พอลูกน้องเสนอผลงานดีก็ไปนำเสนอ สามารถพรีเซ็นต์ได้เก่งคล่องแคล่วดูน่าเชื่อถือแต่ที่จริงแล้วเป็นไอเดียของลูกน้องทั้งนั้นแหละ พอได้รับคำชมก็รับไว้เต็ม ๆ แต่พองานผิดพลาดพร้อมจะโบ้ยว่าลูกน้องคนนั้นเป็นคนทำหรือเอาดีเข้าตัวเอาชั่วโยนลูกน้องนั่นแหละครับ

            ฯลฯ

             จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาผมมักจะพบว่า เมื่อคนระดับหัวหน้าที่มีปัญหาตามตัวอย่างข้างต้น หัวหน้า (หรือผู้บริหาร) ที่อยู่ระดับสูงขึ้นไปมักจะ “วางเฉย” กับปัญหาเหล่านี้ในแบบ “หลับตาข้างหนึ่ง” !!

             ตราบใดที่หัวหน้าที่มีปัญหาเหล่านี้ยังทำผลงานให้ไม่มีปัญหาอะไร หัวหน้าที่สูงขึ้นไปก็ยังไม่ว่ากล่าวตักเตือนอะไรทั้งนั้น 

             หรือจะเรียกว่าลอยตัวอยู่เหนือปัญหาก็ได้ครับ!!

               ผลก็คือลูกน้องที่มีทางไป ก็จะขอย้ายไปหน่วยงานอื่น หรือถ้าย้ายไม่ได้ก็ขอลาออก ซึ่งก็จะทำให้หน่วยงานนั้นมีอัตราการลาออกสูง ส่วนคนที่ยังอยู่ก็ทำงานไปวัน ๆ ตามที่หัวหน้าสั่งเพราะยังไม่มีทางไปแต่ถ้าหากมีทางไปเมื่อไหร่ก็ไม่ทนอยู่เหมือนกันแหละ

บางบริษัทก็หนักกว่านั้น คือแทนที่จะให้หัวหน้าผู้บังคับบัญชาไปว่ากล่าวตักเตือนหัวหน้าที่มีปัญหาเหล่านี้  MD กลับสั่งให้ HR ไปตักเตือนหัวหน้างานเหล่านี้เสียอีก

              ตกลงใครเป็นผู้บังคับบัญชาหัวหน้าที่มีปัญหาเหล่านี้กันแน่?

              ปัญหาเหล่านี้จะยังคงวนเวียนซ้ำซากอยู่อย่างนี้ ตราบใดที่ผู้บริหารระดับสูงยังไม่กล้าหรือไม่คิดจะจัดการอย่างจริงจัง ซึ่งเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับ “ภาวะผู้นำ” ของผู้บริหารระดับสูงแหละครับ

              ผมมักจะพบว่าถ้าองค์กรไหน MD หรือ CEO อ่อนในเรื่องภาวะผู้นำ เป็นคนขี้เกรงใจ ไม่กล้าว่ากล่าวตักเตือน ไม่กล้า Feedback ลูกน้องแล้วล่ะก็ ปัญหาเหล่านี้จะมีสะสมอยู่เยอะมาก ยิ่งนานวันยิ่งแก้ไขยาก

            แต่ถ้าองค์กรไหนมี MD หรือ CEO ที่มีทักษะในการบริหารงานบุคคลที่ดี ก็จะพบว่าปัญหาเหล่านี้จะมีน้อยถึงน้อยมาก

              เพราะองค์กรสะท้อนผู้นำครับ

              ถึงตรงนี้เลยขอปิดท้ายว่า....

            “ปัญหายังไม่น่ากลัวเท่ากับการไม่คิดแก้ปัญหา” 

แล้วท่านที่เป็นหัวหน้าผู้บริหารในแต่ละระดับพร้อมที่จะเริ่มคิดแก้ปัญหาเหล่านี้บ้างแล้วหรือยัง

หวังว่าคงไม่ตอบกลับมาว่าก็ส่งหัวหน้ามีปัญหาเหล่านี้ไปเข้าอบรมหลักสูตรภาวะผู้นำนะครับ

                                           ..........................

วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

How to พัฒนาคนในให้พร้อมทดแทน

             เรื่องที่ผมจะเล่าให้ท่านฟังวันนี้ผมว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้วล่ะ เป็นเรื่องที่เรามักจะเคยได้ยินอยู่บ่อย ๆ ซ้ำไปซ้ำมาจนคล้าย ๆ กับจะเป็นปรากฎการณ์แบบเดจาวู (Dejavu) กันไปแล้ว จนทุกวันนี้ผมไปบรรยายที่บริษัทไหนก็ยังได้ยินเรื่องทำนองนี้อยู่บ่อย ๆ ซึ่งก็คล้าย ๆ กับตอนที่ผมทำงานประจำอยู่ก็เคยประสบพบมากับตัวเองแบบเดียวกันนี้

            ก็เรื่องที่ฝ่ายบริหาร (บางคน) ไม่ยอมเปิดใจรับความสามารถของคนใน แต่เชื่อคนนอกมากกว่าคนในน่ะสิครับ !

            ยกตัวอย่างเช่น....

1.      ฝ่ายบุคคลเสนอจัดการอบรมหลักสูตร “เทคนิคการสัมภาษณ์ให้กับ Line Manager” ที่จะต้องไปทำหน้าที่สัมภาษณ์ผู้สมัครงานเพื่อให้คัดเลือกคนที่มีคุณสมบัติเหมาะตรงตามที่บริษัทคาดหวัง โดยแจ้งไปที่ MD ว่าจะมีวิทยากรภายในคือ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลเป็นผู้สอน ซึ่ง MD ก็อาจจะมีคำถามกลับมาว่า “HR จะสอนได้เร๊อ..ผมว่าเอาวิทยากรภายนอกมาสอนจะดีกว่ามั๊ง น่าเชื่อถือดี....ฯลฯ” แปลความหมายได้ว่าถ้า HR สอนเองก็ไม่น่าเชื่อถือ แต่ถ้าเสียตังค์จ้างวิทยากรภายนอกมาสอนจะได้น่าเชื่อถือ ??

2.      ผู้จัดการแผนกจัดซื้อลาออก แทนที่บริษัทจะพิจารณาผู้ช่วยผู้จัดการแผนกจัดซื้อให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน ก็จะมีคำพูดทำนองที่ว่า “ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกจัดซื้อยังมือไม่ถึง ยังเลื่อนเป็นผู้จัดการแผนกจัดซื้อไม่ได้หรอก....หาคนนอกเข้ามาแทนก็แล้วกัน....”

ฯลฯ

สรุปก็คือพอเชื่อว่าคนในทำไม่ได้ก็เลยต้องไปจ้างคนนอกเข้ามาทำแทน

แล้วหลายครั้งที่ก็พบว่าการจ้างคนนอกเข้ามาทำงานก็ไม่ได้ดีกว่าที่จะให้คนในทำสักเท่าไหร่นัก

หรือเข้ามาไม่นานก็ลาออกเพราะไม่สามารถปรับตัวอยู่กับบริษัทได้ แล้วบริษัทก็ต้องมาหาคนใหม่ (ซึ่งก็คงจะเป็นคนนอกอีกนั่นแหละ) มาทำอีก แล้วก็เกิดปัญหาซ้ำซากในแบบเดิม

แล้วจะแก้ไขยังไงกันดีล่ะในเรื่องนี้ ?

เอาอย่างนี้ดีไหมครับ                     

1.      ผู้บริหารระดับสูงและ HR เอาผังองค์กรมากางดูแล้วตกลงร่วมกันว่ามีตำแหน่งอะไรบ้างที่เป็นตำแหน่งหลัก (Key Position) ของบริษัทที่จำเป็นจะต้องสร้างคนเตรียมเอาไว้ทดแทนกันได้ในอนาคตกรณีที่เจ้าของตำแหน่งหลักตาย ย้าย เกษียณ ลาออก

2.      เอา JD (Job Description) ของตำแหน่งหลักมาวิเคราะห์ร่วมกันว่าจากงานและความรับผิดชอบรวมถึง Spec ต่าง ๆ ในตำแหน่งหลักนั้น ๆ ควรจะมีแผนพัฒนาระยะยาว (Development Roadmap) ยังไงบ้าง

3.      ผู้บริหารระดับสูงและ HR ร่วมกันพิจารณาว่าใครควรจะเป็นทายาท (Successor) ในตำแหน่งหลักนั้น ๆ

4.      ประเมินศักยภาพของ Successor ว่ามีจุดแข็งจุดอ่อนอะไร แล้วเตรียมทำแผนพัฒนารายบุคคล (Individual Development-IDP) สำหรับ Successor โดยดูประกอบกับ Development Roadmap ในตำแหน่งหลัก

5.      พัฒนา Successor ตาม IDP

6.      ประเมินและติดตามผลการพัฒนาโดยผู้บังคับบัญชาของ Successor

ถ้าบริษัทไหนมีระบบ Competency ก็พัฒนา Successor โดยอาจใช้ Development Roadmap ของรระบบ Competency มาประกอบด้วยก็ได้ครับ

อ่านมาถึงตรงนี้ก็เชื่อว่าจะได้ไอเดียไปประยุกต์ใช้ได้แล้วนะครับ

                                     ........................

วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

วิเคราะห์ภาพรวมข้อมูลการขึ้นเงินเดือนและจ่ายโบนัสปี 2567-2568

 1.      เปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนประจำปีเฉลี่ย = 4% สูงสุด 8% ต่ำสุด 1% เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยปีละ 5% (ตั้งแต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้งมาจนถึงปัจจุบัน) ก็ถือว่าลดลงเล็กน้อย

2.      เปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือน Talent = 9.4% ปกติค่าเฉลี่ยการปรับเงินเดือนเมื่อ Promote หรือการปรับเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษให้กับ Talent จะมีค่าเฉลี่ยตลาดประมาณ 10% เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลในปีนี้ก็ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย (ลดลง 0.6%) เช่นเดียวกัน

3.      จากภาพข้างล่างจะพบความต่างของเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนประจำปีระหว่างเกรดคือ

3.1 ระหว่างเกรด A (5.7%) และ เกรด B (4.5%) =27%

3.2 ระหว่างเกรด B (4.5%) และ เกรด C (3.4%) = 32%

3.3 ระหว่างเกรด C (3.4%) และ เกรด D (2.1%) = 62%

3.4 ระหว่างเกรด D (2.1%) และ เกรด E (1.1%) =91%

จากข้อมูลข้างต้นพบว่าเปอร์เซ็นต์ความห่างระหว่างผลการปฏิบัติงานเกรด C และเกรด B (ข้อ 3.2) คือ 32% จะมีเปอร์เซ็นต์แรงจูงใจสูงกว่าผลการปฏิบัติงานจากเกรด B เป็นเกรด A (ข้อ 3.1) คือ 27%

มีข้อคิดคือพนักงานที่มีผลงานในเกรด A เป็นคนที่มีผลงานขั้นดีเยี่ยมแต่กลับได้รับผลตอบแทนที่น้อยกว่าพนักงานที่มีผลงานในเกรดที่ต่ำกว่า ซึ่งจะทำให้คนที่มีผลงานดีเยี่ยมเกรด A จะเกิดความรู้สึกว่าทำไมถึงผลตอบแทนการทำงานที่ได้รับจึงต่ำกว่าคนที่มีผลงานในเกรดต่ำกว่า

ตรงนี้จึงฝากเป็นข้อคิดในการกำหนดเปอร์เซ็นต์ความต่างของการขึ้นเงินเดือนของแต่ละบริษัทเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับคนที่มีผลการปฏิบัติงานดีมาก (เกรด A) ว่าจะควรจะมีเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นที่จูงใจเพียงพอหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่มีผลการปฏิบัติงานในเกรดที่ต่ำกว่า

4.      คนที่มีผลงานในเกรด E ยังได้รับการขึ้นเงินเดือน 1.1% คำถามคือทำไมถึงยังขึ้นเงินเดือนให้กับคนที่มีผลงานแย่ที่สุด ถ้าบริษัทไม่ขึ้นเงินเดือนให้แล้วนำงบประมาณตรงนี้ไปให้กับคนที่ทำงานดีจะสร้างแรงจูงใจให้กับคนที่ทำงานดี และเป็นการตอบหลัก Equal work equal pay จะดีกว่าหรือไม่

5.      การจ่ายโบนัสเฉลี่ย 2.3 เดือน สูงสุด 8 เดือน ต่ำสุด 2.5 เดือน เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยการจ่ายโบนัสในปีที่ผ่านมาคือเฉลี่ย 2.5 เดือนก็ถือว่าลดลงเล็กน้อย (ลดลง 0.2 เดือน)

6.      จ่ายโบนัสแบบ Fixed Bonus = 2.1 เดือน Variable = 2.5 เดือน Fixed+Variable = 3 เดือน มีข้อสังเกตคือการจ่ายแบบ Fixed Bonus แม้จะมองแบบรวม ๆ ว่าทำให้พนักงาน “รู้สึก” ว่าเป็นธรรม เป็นสิ่งที่ควรได้รับเนื่องจากการทำงานมาโดยตลอด แต่ผลคือทั้งคนที่ขยันและขี้เกียจก็จะได้โบนัสเท่ากัน

การจ่ายโบนัสแบบ Fixed Bonus จึงไม่ใช่คำตอบของ Equal work equal pay เช่นเดียวกับการวิเคราะห์ในข้อ 4

คนที่ผลงานดีตั้งใจทำงานพัฒนาตัวเองก็จะได้รับโบนัสเท่ากับคนที่ผลงานไม่ดีทำงานไปวัน ๆ ซึ่งปัจจุบันบริษัทส่วนใหญ่จะจ่ายโบนัสตามหลักการ Pay for Performance จะทำให้คนทำงานดีมีฝีมือเกิดแรงสูงใจในการทำงานมากกว่าการจ่ายแบบ Fixed Bonus

หวังว่าข้อมูลและการวิเคราะห์ข้างต้นจะทำให้ได้ข้อคิดเพื่อนำไปใช้ในการขึ้นเงินเดือนและจ่ายโบนัสประจำปีนี้ให้เหมาะกับองค์กรของท่านต่อไปนะครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก HR Center ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ



วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ควรทำโครงสร้างเงินเดือนกี่กระบอกดี?

            ก่อนจะตอบคำถามนี้ คงต้องอธิบายหลักการพื้นฐานในการออกแบบโครงสร้างเงินเดือนกันเสียก่อน

หลักก็คือถ้ามีกระบอกเงินเดือนมากจะเปรียบเหมือนเรามีบ้านที่มีเนื้อที่มาก เราก็จะออกแบบโครงสร้างเงินเดือนได้หลากหลายตามที่ผู้ออกแบบต้องการ

แต่ถ้าเรามีบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยน้อย จะออกแบบอะไรก็จะทำไม่ได้มากนัก

นี่คือหลักการพื้นฐานเบื้องต้น

คราวนี้มาตอบคำถามข้างต้นคือ

ควรจะทำโครงสร้างเงินเดือนกี่กระบอกดี?

ตอบได้ว่าขึ้นอยู่กับ

1.      นโยบายของนายใหญ่ (MD หรือ CEO นั่นแหละ) ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องมานั่งคุยกับ HR ว่าบริษัทของเราควรจะจัดระดับชั้นสักกี่ Job Grade ถึงจะเหมาะสมซึ่งต้องคิดเรื่องของ Career Path โอกาสความก้าวหน้าของพนักงานควบคู่กันไปด้วย

เช่น บริษัทใหญ่มีจำนวนพนักงานเยอะแต่นายใหญ่มีนโยบายอยากให้เป็น Broadband คือมีระดับชั้นไม่มากนัก 4-6 Job Grade ก็พอ จะได้มีการทำงานได้อย่างคล่องตัว รวดเร็ว Agile ถ้านโยบายเป็นอย่างนี้ก็จะมีโครงสร้างเงินเดือน 4-6 กระบอกตามนโยบาย

แต่ถ้านายใหญ่บอกว่า 4-6 Job Grade น้อยเกินไปเพราะจะทำให้โอกาสก้าวหน้า (Career Path) ของพนักงานจะมีน้อย เดี๋ยวคนจะลาออกกันเยอะเพราะคนไม่เห็นทางก้าวหน้า ควรจะมีสัก 8 Job Grade จะเหมาะกว่า อย่างนี้ก็จะมีโครงสร้างเงินเดือน 8 กระบอก

2.      ขนาดขององค์กร ในบริษัทขนาดเล็กมีพนักงานจำนวนน้อยจะไปทำให้มี Job Grade มากก็ไม่เหมาะเพราะจะมีแต่กล่องไม่มีคนมาลงในตำแหน่งตามกล่องนั้น ๆ ก็เลยเป็นไฟท์บังคับที่ต้องทำโครงสร้างเงินเดือนน้อยกระบอกตามจำนวน Job Grade ของบริษัท

แต่ถ้าถามว่าบริษัทควรจะมีกี่ Job Grade ดี?

ความเห็นส่วนตัวของผมคือ 8-12 Job Grade ครับ คือบริษัทขนาดกลาง ๆ มีจำนวนคนหลักร้อยก็ควรจะวาง Career Path ไว้ประมาณ 8 Job Grade ดังนั้นก็จะมีโครงสร้างเงินเดือน 8 กระบอก แต่ถ้าบริษัทใหญ่กว่านั้นก็อาจจะทำเพิ่มเป็น 9-12 กระบอกก็ได้ตามนโยบาย

แล้วถ้านายใหญ่บอกว่าไม่อยากให้มีกระบอกเงินเดือนมากเกินไป อยากให้เป็น Broadband 4-6 Job Grade จะได้ไหม

ความเห็นส่วนตัวของผมยังเห็นว่า Broadband จะมีปัญหาในเรื่อง Career Path และค่านิยมเกี่ยวกับความก้าวหน้าของคนทำงานฝั่งเอเชียในขณะที่ฝั่งตะวันตกเขาอาจจะไม่ค่อยสนใจเรื่องตำแหน่ง หัวโขน นามบัตรมากนัก แม้จะมีข้อดีคือการทำงานจะดูแคล่วคล่องว่องไวก็ตาม

เรื่องนี้ก็ต้องคุยกันและหาข้อสรุประหว่างฝ่ายบริหารกับ HR แหละครับ

ซึ่งการออกแบบโครงสร้างเงินเดือนแบบมีกระบอกน้อย ๆ หรือมาก ๆ ก็ใช้หลักการเดียวกัน แต่วิธีคิดออกแบบในรายละเอียดจะมีความแตกต่างกันคือการออกแบบโครงสร้างเงินเดือนแบบน้อยกระบอก 4-6 Job Grade จะเอาตำราหรือทฤษฎีมาเป็นกรอบบังคับไม่ได้ จะต้องอาศัยประสบการณ์ของคนออกแบบที่หนัางานเป็นหลัก

ในขณะที่การออกแบบโครงสร้างเงินเดือนที่มี 8 Job Grade ขึ้นไปก็จะทำได้สบายกว่ากันเยอะเลย

เรื่องสำคัญคือบริษัทต้องหาจุดสมดุลระหว่าง Job Grade กับ Career Path ให้ดี

อ่านมาถึงตรงนี้ก็เชื่อว่าน่าจะเคลียร์ทุกประเด็นแล้วนะครับ

                                    ..............................

วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

คนที่เงินเดือนตันคือคนที่ทำงานไม่ดีใช่หรือไม่?

             คำตอบคือทั้งใช่และไม่ใช่

ใช่” ในกรณีที่ผลงานไม่ดี ขาดความรับผิดชอบในงาน ทำงานไม่ได้ตามเป้าหมาย หรือพฤติกรรมมีปัญหาประเภทมาสายเป็นนิจ ลากิจสม่ำเสมอ เผลอ ๆ มีลาป่วยแถมอีกต่างหาก

อย่างนี้คงไม่มีหัวหน้าคนไหนอยากจะเสนอ Promote ให้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น 

เมื่อ Promote ให้รับผิดชอบในค่างาน (Job Value-JV) งานใน Job Grade สูงขึ้นไปไม่ได้ เงินเดือนก็ต้องตัน (เงินเดือนถึง Max)

เพราะ JV ของตำแหน่งงานที่ทำอยู่ทุกวันนี้มีอยู่เท่านั้นเอง

ไม่ใช่” ก็คือทำงานได้ตามปกติ รับผิดชอบงานได้ตามที่ได้รับมอบหมาย แต่ไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้รับผิดชอบงานที่สูงไปกว่าปัจจุบันได้

เรียกว่าทำงานได้ดีในแบบเดิม ๆ งานก็ไม่ได้เสียหายอะไร แต่ Promote ไม่ได้เพราะข้อจำกัดในการพัฒนาตัวเอง

ถ้าพนักงานสามารถพัฒนาตัวเองให้สามารถรับผิดชอบใน JV ที่สูงขึ้นไปใน Job Grade ถัดไปได้ ก็จะไปอยู่ในกระบอกเงินเดือนที่สูงกว่าปัจจุบัน เงินเดือนก็จะไม่ตันและจะก้าวหน้าต่อไป

แต่สิ่งสำคัญคือ HR จะต้องตรวจสอบโครงสร้างเงินเดือนของเราว่ายังสามารถแข่งขันกับตลาดได้อยู่หรือไม่

ถ้าพบว่าโครงสร้างเงินเดือนในกระบอกใดที่ MP ต่ำกว่าตลาด HR ก็ต้อง Update โครงสร้างเงินเดือนให้สามารถแข่งขันได้

เพราะถ้าเคยมี (หรือเคยทำ) โครงสร้างเงินเดือน แต่ไม่เคย Update บ้างเลย แล้วยังใช้ต่อมา 5 ปี 10 ปี อย่างนี้พนักงานก็เงินเดือนตันกันเป็นแถวแหละครับ

คำถามคือวันนี้บริษัทเคย Update โครงสร้างเงินเดือนบ้างหรือยัง?

                             ..............................

วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ไม่มี HR ก็อย่าเพิ่งทำโครงสร้างเงินเดือน

             โครงสร้างเงินเดือนเป็นจุด "เริ่มต้น" ไม่ใช่ "จุดจบ" ถ้ายังไม่มี HR Manager หรือ HR ที่รับผิดชอบ อย่าเพิ่งทำโครงสร้างเงินเดือนไม่งั้นจะเสียเงินหรือเสียเวลาเปล่า เพราะ....

            1. ถ้าทำเอง ใครจะเป็นคนทำ

            2. ถ้าจ้างที่ปรึกษามาทำใครจะเป็นคนประสานงานตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นโครงการ

            3. เมื่อทำโครงสร้างเงินเดือนเสร็จ (ไม่ว่าทำเองหรือจ้างที่ปรึกษามาทำ) ใครจะเป็นคนดูแลบริหารจัดการโครงสร้างเงินเดือนให้คำแนะนำกับฝ่ายบริหารเรื่องข้อมูลหรือวิธีการบริหารค่าตอบแทน เช่น เมื่อมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำบริษัทจะต้องปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิใหม่หรือไม่อย่างไร และคนเก่าจะต้องปรับเงินเดือนด้วยหรือไม่หรือปรับด้วยวิธีใด ฯลฯ

            4. ใครจะเป็นคนสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานในกรณีที่พนักงานเงินเดือนต่ำกว่า Min หรือสูงกว่า Max

            5. ใครจะเป็นคนคอยติดตามสำรวจตลาดค่าตอบแทนในตลาดแรงงานว่าตอนนี้เป็นยังไงบ้าง ถึงเวลาที่จะ update โครงสร้างเงินเดือนได้แล้วหรือยัง

            6. เมื่อมีการปรับโครงสร้างองค์กร มีตำแหน่งงานใหม่ๆเกิดขึ้นใครจะเป็นคนนำเสนอฝ่ายบริหารว่าควรจะต้องประเมินค่างานในตำแหน่งเกิดใหม่เหล่านั้น

            7. ใครจะเป็นคนดูแลเรื่องการปรับเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษสำหรับ Talent หรือดูแลการปรับเงินเดือนกรณีพนักงานได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรือการจ้างผู้สมัครงานให้สอดคล้องกับโครงสร้างเงินเดือน

            8. ใครจะเป็นคนดูแลเรื่องเงินเดือนของพนักงานให้สอดคล้องกับ Career Path

            9. ใครจะเป็นดูแล Update โครงสร้างเงินเดือนเมื่อถึงเวลาที่จะต้อง Update

            ฯลฯ

            ที่ผมบอกมานี้เป็นแค่เพียงตัวอย่างเบื้องต้นแบบง่ายๆเพื่อให้คนที่เป็นผู้บริหารได้ไอเดียว่าการทำโครงสร้างเงินเดือนไม่ใช่ว่าบริษัทมีเงินอยาก (จ้างที่ปรึกษา) ทำก็ทำได้เลย เพราะหลังจากทำโครงสร้างเงินเดือนเสร็จแล้วยังต้องมีกิจกรรมที่จำเป็นจะต้องมีผู้รับผิดชอบซึ่งก็คือ HR ต้องทำหลังจากนี้อีกหลายเรื่องและเป็นเรื่องการปฏิบัติแบบต่อเนื่องในระยะยาว

          จากที่บอกมานี้ถึงเป็นความจำเป็นว่าถ้าจะทำโครงสร้างเงินเดือนก็ควรจะต้องมี HR เสียก่อน

             ที่เขียนเรื่องนี้เพราะมักจะมีบริษัทสอบถามผมมาว่าอยากจะทำโครงสร้างเงินเดือน แต่พอถามว่ามี HR ที่รับผิดชอบหรือยังก็ได้รับคำตอบว่า HR เพิ่งลาออกไป หรือ จะให้ผู้จัดการฝ่ายบัญชีมาทำแทนให้ ฯลฯ

คือพูดง่ายๆว่ายังไม่มี HR แหละครับแต่ผู้บริหารบอกว่า "อยากทำ"

            ผมก็เลยต้องอธิบายเหมือนข้างต้น และจะสรุปว่าถ้ายังไม่มี HR ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ก็อย่าเพิ่งเสียตังค์หรือเสียเวลาทำโครงสร้างเงินเดือนเลยครับ สู้เอาเวลาไปหา HR ที่รับผิดชอบเรื่องเหล่านี้มาให้ได้เสียก่อน

          เพราะการมีโครงสร้างเงินเดือนไม่ใช่ "จุดจบ" แบบ Happy ending แต่เพิ่งจะเป็นจุด "เริ่มต้น" ของการมีกติกาในการบริหารค่าตอบแทนที่จำเป็นจะต้องมีคนดูแลไปอย่างต่อเนื่องหลังจากการทำโครงสร้างเงินเดือนเสร็จด้วยนะครับ

                               ..........................

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

จะกดปุ่มดีหรือไม่?

             ผมเคยดูหนังทีวีเป็นซีรีย์แนวลึกลับเรื่อง Twilight Zone มานานมากแล้วน่าจะเกิน 30 ปีขึ้นไป แต่ก็ยังจำเนื้อเรื่องนี้ได้เพราะเนื้อหาของหนังเรื่องนี้มันโดนใจและทำให้ผมได้ข้อคิดสะกิดใจจนจำได้ถึงเดี๋ยวนี้เลยล่ะครับ

            ค่ำวันหนึ่งมีชายแปลกหน้ามากดกริ่งหน้าห้องพักของชายหนุ่มเจ้าของห้องที่กำลังนั่งคิดนั่งเครียดเพราะตกงานมาหลายเดือนแล้วยังหางานทำไม่ได้ เงินทองก็ร่อยหรอไปมากกำลังกลุ้มใจว่าจะทำยังไงกับชีวิตของตัวเองดี

            เมื่อชายหนุ่มเจ้าของห้องเปิดประตูก็พบกับชายแปลกหน้าคนดังกล่าวพร้อมกับกล่องสีดำสนิทปิดทึบหมดทุกด้านขนาดกล่องใส่นาฬิกาใบหนึ่งถืออยู่ในมือ

          ที่ด้านบนของกล่องมีปุ่มสีแดงปุ่มหนึ่งเด่นชัด

            เมื่อชายหนุ่มเจ้าของห้องอนุญาตให้ชายแปลกหน้าร่างสูงใหญ่ที่มีบุคลิกขรึมนิ่งแววตาเป็นประกายกล้าแข็งก้าวเข้ามาในห้อง

            ชายแปลกหน้าก็พูดทักทายปฏิสันถารกับชายหนุ่มราวกับจะล่วงรู้ปัญหาของชายหนุ่มเป็นอย่างดี แล้วก็ถามว่าอยากจะได้เงินก้อนโตไหม

เงินนี้จะได้มาง่าย ๆ และไม่ได้ให้เขาไปทำผิดกฎหมายบ้านเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น

            ซึ่งแน่นอนว่าใครล่ะครับจะตอบว่าไม่อยากได้ในยามที่กำลังเดือดร้อนเรื่องเงิน

            ชายแปลกหน้าจึงบอกกับชายหนุ่มว่า “สิ่งที่คุณจะต้องทำไม่ยากเย็นอะไรเลย เพียงแค่คุณกดปุ่มสีแดงบนกล่องใบนี้เท่านั้น

และเมื่อคุณกดปุ่มสีแดงบนกล่องใบนี้จะมีสัญญาณออกจากกล่องไบนี้ไปยังระบบเชื่อมต่อของเรา แล้วคุณก็จะได้รับเงินโอนเข้าบัญชี 100,000 ดอลลาร์ทันที”

            ชายหนุ่มแทบจะคว้ากล่องใบนี้มากดปุ่มเลยนะครับ แต่ชายแปลกหน้ายกมือห้ามไว้แล้วพูดด้วยน้ำเสียงที่นิ่งเรียบและเยือกเย็นว่า

          “คุณฟังเงื่อนไขให้จบเสียก่อน ทันทีที่คุณกดปุ่มจะมีคนเสียชีวิตทันที 1 คน

แต่คุณไม่ต้องกังวลใจไปเพราะคนที่เสียชีวิตจากการกดปุ่มจะไม่ใช่ตัวคุณหรือไม่ใช่ญาติพี่น้องของคุณอย่างแน่นอน

และเมื่อคุณกดปุ่มลงไปแล้วจะมีสัญญาณจากกล่องใบนี้ไปยังระบบของเรา

แล้วเราจะโอนเงินเข้าบัญชีของคุณทันที

            คุณมีเวลาคิดและตัดสินใจตั้งแต่เวลานี้จนถึงหกโมงเช้า

และเมื่อถึงหกโมงเช้าวันพรุ่งนี้ผมจะมารับกล่องใบนี้คืน”

แล้วชายแปลกหน้าก็วางกล่องเอาไว้และขอตัวกลับไป

            ชายหนุ่มพยายามหาเครื่องไม้เครื่องมือในบ้านเช่นไขควงมางัดแงะเจ้ากล่องใบนี้เพื่ออยากจะรู้ว่ามันมีอะไรอยู่ในกล่องบ้างโดยพยายามไม่ให้ไปถูกปุ่มสีแดงบนกล่อง

            เวลาผ่านไปหลายชั่วโมงที่เขาพยายามงัดแงะเพื่อสำรวจกล่องใบนี้ให้ได้  

แต่ไม่ว่าเขาจะพยายามสักเท่าไหร่เขาก็ไม่สามารถจะเปิดกล่องใบนี้ออกมาได้

          ในที่สุดเขาก็ตั้งกล่องใบนี้เอาไว้บนโต๊ะแล้วก็เริ่มคิดว่าเราควรจะกดปุ่มดีหรือไม่

            ใจหนึ่งก็คือว่ากดไปเถอะก็เงินตั้งหนึ่งแสนเหรียญแน่ะไม่ใช่น้อยเลยนะ แต่อีกมโนธรรมฝ่ายดีก็แย้งว่าแต่ถ้าเรากดปุ่มลงไปเราได้เงินมาก็จริง แต่จะต้องมีคนตายเพราะเรานะ  

แล้วคนที่ตายเพราะเราเขาก็มีญาติพี่น้องมีคนที่เขารัก

แล้วญาติพี่น้องของคนที่ตายเพราะเราเขาจะรู้สึกยังไงที่เราเป็นคนฆ่า เราเป็นฆาตกรนะ

            แต่ความคิดอีกฝั่งหนึ่งก็โต้กลับมาว่าก็ไม่เห็นเป็นไรนี่ ก็คนที่ตายไม่ใช่ญาติพี่น้องเราสักหน่อย เป็นใครก็ไม่รู้ที่เราก็ไม่รู้จัก ญาติพี่น้องของคนที่ตายเพราะเราเขาก็ไม่รู้จักเราอยู่แล้ว

ทุก ๆ นาทีโลกนี้ก็ต้องมีคนตายอยู่แล้วนี่นา จะมีคนตายเพิ่มอีกสักคนก็ไม่เห็นเป็นไร เขาไม่ได้ตายเพราะเราหรอกน่า กดปุ่มไปเถอะ

            เรียกว่าชายหนุ่มคนนี้มีทั้งความคิดฝั่งชั่วร้ายและความคิดฝ่ายดีต่อตีต่อสู้กันอยู่ในหัวตลอดทั้งคืนจนรุ่งสางว่าจะกดปุ่มดีหรือไม่ เดี๋ยวก็เอื้อมมือไปจะกดปุ่มแต่ก็ชะงักแล้วดึงมือกลับ

            จนกระทั่งอีกไม่กี่วินาทีจะหกโมงเช้าตามเงื่อนไข 5-4-3-2

          ในที่สุดชายหนุ่มก็ตัดสินใจกดปุ่มสีแดง!!

            พร้อม ๆ กันนั้นเองเสียงกริ่งประตูห้องก็ดังขึ้นจนชายหนุ่มสะดุ้งโหยง

            เมื่อชายหนุ่มไปเปิดประตูก็เจอชายแปลกหน้าคนเดิมเดินเข้ามาหยิบกล่องสีดำแล้วพูดว่า “เงินหนึ่งแสนดอลล่าร์ถูกโอนเข้าบัญชีของคุณเรียบร้อยแล้วขอให้คุณมีความสุขกับเงินจำนวนนี้อย่างเต็มที่ ผมจะนำกล่องใบนี้ไปตั้งรหัสใหม่ และค่ำคืนนี้ผมจะนำไปให้คนที่มีปัญหาอย่างคุณตัดสินใจแบบเดียวกัน

            แต่คุณวางใจได้ว่าเราจะไม่นำกล่องนี้ไปให้ญาติพี่น้องของคุณ”

            และประโยคสุดท้ายสิ ชายลึกลับบอกด้วยน้ำเสียงเย็นเยียบจนชายหนุ่มรู้สึกเย็นวาบว่า....

            “และแน่นอนว่าเงื่อนไขก็จะเหมือนกับของคุณ นั่นคือคนที่จะเสียชีวิตไม่ใช่ญาติพี่น้องของคนกดปุ่มอย่างแน่นอน”

            ชายหนุ่มเจ้าของห้องยืนงงตกตะลึง แล้วชายแปลกหน้าลึกลับก็เดินออกจากห้องไป....

            ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว

          ลองถามใจตัวเองดูสิครับว่า....

ถ้าเป็นเรา ๆ จะกดปุ่มไหม?

#กฎแห่งกรรม

#อิทัปปัจจยตา