วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

มาสายให้หักวันลาพักร้อนเป็นรายชั่วโมง..ได้ด้วยเหรอ ?

            วันนี้มีเรื่องแปลก ๆ ในการบริหารคนมาเล่าสู่กันฟังอีกแล้วครับ

            ก็เรื่องการมาสายนี่แหละครับ

            ผมว่าทุกบริษัทก็จะมีข้อบังคับการทำงานที่พูดถึงเรื่องโทษทางวินัยเกี่ยวกับการมาสายอยู่แล้ว เช่น การตักเตือนด้วยวาจา ถ้ายังมาสายซ้ำก็จะถูกตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร หรือมีผลกับเรื่องเบี้ยขยัน หรือมีผลกับการขึ้นเงินเดือนประจำปี/จ่ายโบนัส การเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง ฯลฯ

            จนกระทั่งถ้ามาสายผิดซ้ำคำเตือนก็อาจจะถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยใด ๆ

            แต่บริษัทแห่งนี้มาแปลกอีกแล้วครับท่าน !

          คือบริษัทไปออกหลักเกณฑ์ว่าถ้าพนักงานมาสาย 1 ชั่วโมงก็ให้เขียนใบลาพักร้อน 1 ชั่วโมง (สิทธิพักร้อน 1 วัน = 8 ชั่วโมง)

            จะเรียกว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ในการลงโทษคนมาสายด้วยวิธีที่พอฟังแล้วผมได้แต่บอกว่า “อิหยังวะ” ก็ได้มั๊งครับ

            เพราะเป็นการเอาเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันมาโยงเข้าด้วยกันยิ่งกว่าวิชา Gat เชื่อมโยงซะอีก 5555

            เมื่อ HR บริษัทแห่งนี้ถามผมว่าทำอย่างนี้ได้ไหม

            ก็ได้แต่ตอบไปอย่างนี้ครับ

1.      การมาสายเป็นเรื่องของความผิดทางวินัย เมื่อพนักงานทำความผิดทางวินัยก็ควรมีการดำเนินการทางวินัยตามข้อบังคับการทำงาน เช่น การตักเตือนด้วยวาจา, ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ฯลฯ ไปจนถ้าพนักงานฝ่าฝืนผิดซ้ำคำเตือนจนต้องเลิกจ้างก็ว่ากันไปในเรื่องของความผิดทางวินัย

2.      การลาพักร้อน ซึ่งถ้าจะพูดให้ถูกต้องคือ “วันหยุดพักผ่อนประจำปี” เป็นสิทธิของลูกจ้างที่นายจ้างจะต้องกำหนดให้ลูกจ้างหยุดล่วงหน้าหรือตามที่ตกลงกัน ไม่ใช่วันลาเหมือนกับลาป่วย ลากิจ ลาคลอดนะครับ ตามมาตรา 30 ก็บอกไว้ชัดเจนว่าเมื่อลูกจ้างทำงานมาครบ 1 ปี นายจ้างต้องกำหนดให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่าปีละ 6 วันทำงาน

แถมระเบียบของบริษัทต่าง ๆ มักจะระบุเอาไว้ด้วยว่าการลาพักร้อนจะต้องยื่นใบลาล่วงหน้า (เช่น 3 วันหรือ 5 วัน) ไม่ใช่เมื่อวานหายไปไม่มาทำงานแล้วโผล่มาวันนี้ก็มายื่นใบลาพักร้อนของเมื่อวาน

จะเห็นได้ว่าการมาสายกับการลาพักร้อนเป็นคนละเรื่องกันเลยนะครับ แล้วบริษัทเอาสองเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันนี้มาโยงกันได้ยังไง

เหมือนกับเรากำลังดูหนังเรื่องขุนช้างกับขุนแผนกำลังแย่งตัวนางวันทองอยู่ดี ๆ แล้วกัปตันอเมริกาก็โผล่เข้ามาชิงตัวนางวันทองไปจากทั้งสองขุนทำนองนั้นแหละครับ

นี่ก็เหมือนกัน เมื่อพนักงานมาสาย 1 ชั่วโมง แต่บริษัทกลับไปให้พนักงานเขียนใบลาพักร้อนมา 1 ชั่วโมง

แทนที่จะถามว่าทำอย่างนี้ได้ไหม ?

ผมว่าฝ่ายบริหารควรกลับไปตั้งคำถามตัวเองดูอีกครั้งหนึ่งดีไหมครับว่าจะทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร ทำแล้วจะแก้ปัญหาการมาสายได้จริงหรือไม่ แล้วถ้าวันใดวันหนึ่งพนักงานไปฟ้องศาลแรงงานว่าบริษัทไม่ได้ทำตามมาตรา 30 ทำให้เขาไม่ได้รับสิทธิการหยุดพักผ่อนประจำปี ขอให้บริษัทจ่ายค่าพักร้อนคืนกลับให้เขา เพราะบริษัทบังคับให้เอาไปหักกับเวลามาสาย

บริษัทจะไปตอบศาลว่ายังไง

ได้แต่บอกให้ HR ไปให้คำแนะนำฝ่ายบริหารให้คิดวิเคราะห์แยกแยะเหตุและผลตามที่ผมบอกไปข้างต้นนี้แหละครับ

ถ้าฝ่ายบริหารรับฟังก็ยังพอจะแก้ไขให้กลับมาปฏิบัติให้ถูกต้องเพื่อแก้ปัญหาการมาสายให้ตรงจุดได้

แต่ถ้าไม่ฟังและยังยืนยันจะเอาเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันมาโยงเข้าด้วยกันอย่างนี้ต่อไป ก็คงเหมือนกับการวางกับระเบิดไว้ในบริษัทที่รอวันเกิดปัญหาในอนาคตแหละครับ