วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

โพสด่าบริษัทบนสื่อออนไลน์ผิดแค่ไหน ?

             ปัจจุบันเป็นยุคของสมาร์ทโฟนและคนส่วนใหญ่ล้วนแต่มีสื่อโซเชียลอยู่ในมือไม่ว่าจะเป็นเฟสบุ๊ก, ไลน์, อินสตาแกรม ฯลฯ

            คนที่ใช้สื่อโซเชียลเหล่านี้ก็ต้องระมัดระวังในการโพสรูปหรือข้อความใด ๆ ที่ต้องไม่ไปละเมิดคนอื่นให้เกิดความเสียหาย เพราะปัจจุบันก็มีพรบ.คอมฯ ออกมากำกับเพื่อควบคุมการใช้สื่อเหล่านี้เพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม

            แม้ว่าจะมีพรบ.คอมฯ แต่ก็ยังเห็นมีการสร้างข่าวปลอม (Fake News) ดันไปโพสข้อความหมิ่นประมาทบุคคลอื่นให้เห็นอยู่เป็นประจำ คนที่ทำผิดก็ถูกแจ้งความดำเนินคดีกันไป

แล้วก็จะมีซีน “ไหว้สวย รวยกระเช้า” และเหตุผลที่คนฟังมักจะร้องยี้ว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์”

แล้วถ้าพนักงานที่มือไวกว่าสติหรืออารมณ์พาไป ที่ไม่พอใจผู้บริหาร ไม่พอใจบริษัทแล้วไปโพสต่อว่าหรือด่าบริษัทในสื่อออนไลน์ล่ะจะมีผลยังไง ?

ก็คงต้องตอบว่า “อย่าหาทำ” เพราะจะทำให้ตกงานได้ทันที

            เพราะการกระทำดังกล่าวถือว่าจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายตามข้อ (2) ของมาตรา 119 และยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาดังนี้

ฎ.8206/2560

“....การเขียนข้อความ บ่น/ตัดพ้อ นายจ้าง ย่อมมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในการบริหารของนายจ้าง ซึ่งมีความสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการของลูกค้า การกระทำของลูกจ้างที่โพสต์บ่น/ตัดพ้อนายจ้างจึงเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (2) และเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง และสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 นายจ้างเลิกจ้างได้ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า....

      หวังว่าแนวคำพิพากษาข้างต้นจะช่วยเตือนสติคนที่เป็นลูกจ้างให้คิดให้ดีก่อนที่จะโพสอะไรที่สุ่มเสี่ยงทำให้ตัวเองต้องตกงานโดยไม่ได้รับเงินค่าชดเชยใด ๆ นะครับ ทำงานมากี่ปีก็ตกงานได้ทันทีแบบปุ๊บปั๊บรับโชคเอาง่าย ๆ

      แม้จะไหว้สวยรวยกระเช้าหรือจะบอกว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่นายจ้างคงจะตอบกลับมาว่า “งั้นบริษัทก็จะเลิกจ้างให้ไปวนเวียนอยู่แถวราชบุรีหรือแถวสุพรรณบุรี” ก็แล้วกัน

      เข้าใจตรงกันแล้วนะครับ ว่าต่อไปนี้ก่อนจะโพสอะไรในสื่อออนไลน์ก็ต้องมีสติคิดให้ดี เพราะถ้าขาดสติโพสสิ่งที่ไม่สมควรไปเมื่อไหร่ สตังค์ก็จะหายไปเพราะตกงานได้ทันทีครับ