วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เงินช่วยเหลือสวัสดิการถือเป็นค่าจ้างหรือไม่ ?

            เรื่องของ “ค่าจ้าง” มักจะเป็นปัญหาในการตีความอยู่เสมอในทางกฎหมายแรงงานว่าเงินอะไรที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างแล้วจะถือว่าเป็นค่าจ้าง หรือเงินอะไรที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างแล้วไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง ซึ่งการตีความเรื่องของค่าจ้างก็ต้องไปดูมาตรา 5 ของกฎหมายแรงงานว่าหมายถึงอะไร
            ผมก็เลยขอยกมาตรา 5 ในเรื่องของค่าจ้างมาให้ท่านดูอีกครั้งดังนี้ครับ
มาตรา 5 ….ค่าจ้าง”  หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้
            จากความหมายของค่าจ้างข้างต้นนั้น ในบริษัทต่าง ๆ ก็จะมีเงินที่จ่ายให้กับพนักงานในรูปแบบต่าง ๆ กันไป เช่น เงินเดือน (ซึ่งอันนี้แน่นอนอยู่แล้วว่าเป็นค่าจ้าง), ค่าตำแหน่ง (นี่ก็เป็นค่าตอบแทนการทำงานก็ถือว่าเป็นค่าจ้างเหมือนกัน), ค่าวิชาชีพ, ค่าภาษา (นี่ก็ถือเป็นค่าตอบแทนการทำงานที่ต้องใช้วิชาชีพหรือใช้ภาษาในการทำงาน),  ค่าครองชีพที่จ่ายให้เท่ากันทุกคนและจ่ายเป็นจำนวนเท่ากันทุกเดือนโดยไม่ได้มีเงื่อนไขอะไร ฯลฯ เหล่านี้ก็ต้องนับรวมเป็นค่าจ้างในความหมายตามมาตรา 5 ซึ่งผมได้อธิบายไปในบทก่อนหน้านี้แล้วนะครับ
            ก็อาจจะมีคำถามต่อมาอีกว่า “แล้วเงินที่เป็นสวัสดิการล่ะ..ถือเป็นค่าจ้างด้วยหรือไม่ ?”
            ตอบได้ว่าถ้าเป็นเงินที่บริษัทจ่ายให้พนักงานเป็นเงินช่วยเหลือพนักงานในลักษณะของการให้สวัสดิการจริง โดยมีระเบียบและหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินสวัสดิการนั้นอย่างชัดเจน เงินสวัสดิการนั้นไม่ถือว่าเป็นค่าจ้างครับ
            ยกตัวอย่างเช่น บริษัท รวยไม่เลิก จำกัด มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ เมื่อบริษัทย้ายพนักงานไปทำงานต่างภูมิลำเนาบริษัทก็มีสวัสดิการช่วยเหลือพนักงานที่ถูกย้ายไปต่างจังหวัดคือจะมีบ้านพักให้แต่ถ้าพนักงานเห็นว่าบ้านพักของบริษัทไม่ถูกฮวงจุ้ยหรือคับแคบไม่ถูกใจอยากจะหาบ้านพักอยู่เอง บริษัทก็จะมีเงินสวัสดิการช่วยเหลือค่าเช่าบ้านให้เดือนละ 1,000 บาท
นอกจากนี้ถ้าพนักงานคนไหนถูกย้ายไปทำงานต่างภูมิลำเนาบริษัทก็ยังมีสวัสดิการช่วยเหลือค่าเดินทางให้อีกเดือนละ 1,000 บาท เพราะพนักงานอาจจะต้องเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดตามเวลาที่เหมาะสม
            ยัง..ยังไม่พอบริษัทยังมีสวัสดิการเงินช่วยเหลือค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าอีกเดือนละ 4,000 บาท (ช่วยเหลือค่าน้ำประปาเดือนละ 2,000 บาท ช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเดือนละ 2,000 บาท) ซึ่งบริษัทก็มีระเบียบสวัสดิการเหล่านี้ชัดเจน
          เงินช่วยเหลือสวัสดิการตามลักษณะที่ผมบอกมาข้างต้นนี่แหละครับที่ไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง
            ลองมาดูคำพิพากษาศาลฎีกาเหล่านี้สิครับ
            ฎ.1528/2548
เดิมนายจ้างให้ลูกจ้างนำใบเสร็จรับเงินค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า มาเบิกเงินสวัสดิการได้ ต่อมาเพื่อความสะดวกของลูกจ้าง จึงเหมาจ่ายเป็นรายเดือนประจำ เงินค่าน้ำ ค่าไฟฟ้านั้นเป็นสวัสดิการตามเจตนารมณ์เดิมไม่ใช่ค่าตอบแทนในการทำงาน ไม่ใช่ค่าจ้าง ไม่ต้องนำมาคำนวณค่าชดเชย....
          หรือฎ. 2967/2555
“ค่าเช่าบ้านและค่าพาหนะเป็นค่าจ้างที่จะนำมารวมเป็นค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วยหรือไม่ เห็นว่าสัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างระบุว่า ตกลงจ่ายค่าจ้างจำนวนเงิน 22,000 บาท และสวัสดิการค่าเช่าบ้านเดือนละ 1,000 บาท ค่าเดินทางเดือนละ 1,000 บาท ในกรณีที่ลูกจ้างไม่ต้องการบ้านพักก็จะช่วยเหลือค่าเช่าบ้านเดือนละ 1,000 บาท
จึงเห็นได้ว่าการตกลงจ่ายเงินดังกล่าวตามสัญญาจ้างของนายจ้างกับลูกจ้างมีเจตนามาตั้งแต่แรกที่จะให้เป็นสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างนอกเหนือจากค่าจ้างที่กำหนดไว้เป็นเดือน 
แม้ค่าเช่าบ้านและค่าพาหนะนายจ้างจะจ่ายให้ลูกจ้างเป็นประจำทุกเดือนโดยไม่มีเงื่อนไขว่าต้องนำเอกสารหรือหลักฐานมาเบิกจ่าย ก็เป็นเพียงวิธีการจ่ายเงินในลักษณะเหมาจ่ายเพื่อความสะดวกในทางปฏิบัติและมิได้แสดงว่าคู่สัญญาจะเปลี่ยนเจตนาให้สวัสดิการนั้นกลายเป็นค่าจ้าง
เงินค่าเช่าบ้านและเงินค่าพาหนะจึงไม่ใช่ค่าจ้างตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541”
            เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ผมเชื่อว่าท่านจะเข้าใจความแตกต่างกันระหว่างเงินที่เป็น “ค่าจ้าง” และเงินที่เป็น “สวัสดิการ” ได้ชัดเจนขึ้นแล้วนะครับ
            เมื่อก่อนเรามักจะคิดว่าเงินอะไรก็ตามที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างเป็นประจำเท่ากันทุกเดือนก็น่าจะกลายเป็นค่าจ้างทุกตัวนั้น ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนโดยจะดูข้อเท็จจริงว่าเงินที่นายจ้างจ่ายนั้นเป็นเรื่องของสวัสดิการจริงหรือไม่ มีการระบุเรื่องสวัสดิการเอาไว้อย่างไร และมีวิธีปฏิบัติในเรื่องการให้สวัสดิการเป็นอย่างไร เป็นต้น
            ซึ่งหากท่านดูแนวคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นแล้วผมเชื่อว่าท่านคงได้ไอเดียนำไปทำเรื่องนี้ให้ถูกต้องมากยิ่งขึ้นแล้วนะครับ
            คราวนี้ก็อยู่กับท่านแล้วล่ะครับที่จะนำเรื่องนี้กลับไปปรับปรุงระเบียบเงินสวัสดิการของบริษัทให้มีความถูกต้องและสอดคล้องกับกฎหมายแรงงานต่อไปครับ

…………………………….