วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

การสัมภาษณ์แบบกลุ่มจะวัดผลได้อย่างไร


            ผมไปเห็นคำถามนี้จากเว็บไซด์แห่งหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการไปสอบสัมภาษณ์เข้าทำงาน โดยบริษัทแห่งนั้นจัดให้มีการสอบสัมภาษณ์แบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมแล้วช่วยกันคิดและนำเสนอผลงาน ซึ่งจะมีกรรมการสัมภาษณ์คอยให้คะแนน

ปัญหาก็มีอยู่ว่าผู้ถามปัญหานี้เป็นคนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในกลุ่มนี้แต่นำเสนอไม่เก่งเลยทำให้ถูกมองข้ามไป แถมคนที่นำเสนอเก่งพูดเก่งก็ไม่ใช่คนคิดออกไอเดียอะไรในกลุ่มเลย แต่นำไอเดียของคนต้นคิด (ซึ่งพูดไม่เก่ง)  ในกลุ่มไปนำเสนอจนดูเหมือนเป็นผลงานของตัวเองแล้วคาดว่าน่าจะได้คะแนนไป ซึ่งผู้ถามก็ไม่ได้ให้รายละเอียดนะครับว่าตกลงสรุปแล้วทั้งคนที่ถามปัญหานี้ หรือคนที่เอาผลงานของเพื่อนในกลุ่มไปนำเสนอได้รับการคัดเลือกเข้าทำงานหรือไม่ แต่ผู้ถามสงสัยว่ากรรมการสัมภาษณ์จะใช้เกณฑ์ในการตัดสินใจยังไงเพราะผู้ถามรู้สึกว่าเกิดความไม่ยุติธรรม เนื่องจากคนที่เป็นคนคิดคนทำแต่นำเสนอไม่เก่งถูกแย่งผลงานไปนำเสนอโดยคนพูดคนนำเสนอได้ดีกว่า

            จากคำถามนี้ผมอยากจะขอแชร์ประสบการณ์ในเรื่องนี้แบบเล่าสู่กันฟังเพื่อไขข้อข้องใจดังนี้นะครับ

1.      ผมเคยเป็นคณะกรรมการสัมภาษณ์ผู้สมัครงานแบบกลุ่มในบริษัทที่มีวิธีการคล้ายคลึงกันนี้ ซึ่งบริษัทนั้นเขาจะมีเกณฑ์ (Criteria) ในการคัดเลือกที่ชัดเจนเอาไว้ล่วงหน้า เช่น

1.1  สมมุติมีผู้สมัครที่เข้าสอบสัมภาษณ์ในรุ่นนี้ 20 คน ก็จะมีกรรมการ 4 คน กรรมการ 1 คนจะดูพฤติกรรมของผู้สมัคร (ในระหว่างการทดสอบ) 5 คน

1.2  บริษัทจะมีหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนผู้สมัครในตำแหน่งนั้น ๆ ว่าต้องการให้กรรมการสัมภาษณ์ประเมินความสามารถ (Competency) ของผู้สมัครงานว่าเหมาะสมกับตำแหน่งงานนี้หรือไม่ เช่น ทักษะการนำเสนอ, ทักษะการแก้ปัญหาและตัดสินใจ,ความคิดสร้างสรรค์, ภาวะผู้นำ, ความมุ่งมั่น เป็นต้น ซึ่งบางบริษัทก็จะมีการถ่วงน้ำหนักขีดความสามารถเหล่านี้เอาไว้ด้วยว่า Competency ตัวไหนมีมาก-น้อยแค่ไหน

1.3  กรรมการสัมภาษณ์จะสังเกตพฤติกรรมของผู้สมัครที่ตัวเองจะต้องดูแล (ตามตัวอย่างนี้คือกรรมการ 1 คนดูผู้สมัคร 5 คน) ว่าในระหว่างที่มอบหมายให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ นั้นผู้สมัครแต่ละละคนจะมี Competency ในแต่ละตัว (ที่กำหนดเอาไว้ก่อนล่วงหน้าตามตัวอย่างข้อ 1.2) อยู่ในระดับไหน แล้วก็จะให้คะแนนไปตาม Competency นั้น ๆ ของผู้สมัครแต่ละคนลงในใบประเมินผลเป็นรายบุคคล

1.4  ดังนั้น ในกรณีที่เป็นปัญหาเช่นที่ถามมาคือผู้สมัครบางคนที่เป็นคนคิดสร้างสรรค์ได้ดีมีความมุ่งมั่น แต่ขาด Competency ในการนำเสนอ หรือขาดภาวะผู้นำ กรรมการสัมภาษณ์ก็จะให้คะแนนไปตามเกณฑ์ของแต่ละปัจจัยแบบแยกส่วนในการพิจารณา พูดง่าย ๆ คือ Competency ตัวไหนของผู้สมัครที่ดีหรือไม่ดีก็ให้คะแนนกันไปตามเนื้อผ้า แล้วจะนำคะแนนของทุกเรื่องมาประมวลผลดูคะแนนรวมก่อนว่าโดยภาพรวมแล้วผู้สมัครคนไหนบ้างที่สอบผ่านในภาพรวม

1.5  จากข้อ 1.4 ก็จะเห็นได้ว่าผู้สมัครที่คิดสร้างสรรค์ได้ดี, มีความมุ่งมั่นในการทำงานในกลุ่มก็จะได้คะแนนในเรื่องนี้สูง แต่ถ้าขาดภาวะผู้นำหรือการนำเสนอไม่ดีก็จะทำให้เสียคะแนนส่วนนี้ไป ในทำนองเดียวกันคนที่นำผลงานของเพื่อนมาเสนอแต่ตัวเองไม่ได้คิดงานเองก็จะได้คะแนนในเรื่องการนำเสนอแต่เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ก็จะได้คะแนนน้อยลงไป เป็นต้น ซึ่งตรงนี้เป็นความรับผิดชอบของคนที่เป็นกรรมการประจำกลุ่มจะต้องสังเกตพฤติกรรมของผู้สมัครอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว

1.6  เมื่อจบกิจกรรมกลุ่มทั้งหมดแล้วก็จะมีการสัมภาษณ์แบบปกติตัวต่อตัว (กรรมการสัมภาษณ์ 1 คนกับผู้สมัครที่ตนเองต้องประเมินทีละคน)

1.7  เมื่อสรุปคะแนนภาพรวมแล้วค่อยมาคัดเลือกว่าใครสอบผ่านใครไม่ผ่าน ซึ่งกรรมการทั้ง 4 คน (ตามตัวอย่างนี้) ก็จะต้องมาประชุมตัดสินใจร่วมกันว่าผู้สมัครรายไหนที่เหมาะกับตำแหน่งงานนี้มากที่สุด และตำแหน่งงานนี้จะรับกี่ตำแหน่ง

1.8  วิธีการที่ผมบอกมานี้มักจะใช้กับบริษัทที่มีคนสนใจสมัครเข้าทำงานมาก ๆ ซี่งไม่ค่อยได้ใช้กันในบริษัทกลางถึงเล็ก (SMEs) ซึ่งบริษัททั่วไปมักจะใช้วิธีการทดสอบข้อเขียน (บ้าง) และส่วนใหญ่ก็มีการสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกผู้สมัครงานแบบปกติทั่วไป แต่ที่แย่คือบริษัทอีกไม่น้อยที่ใช้วิธีการสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกคนแบบไม่ได้เตรียมการอะไรเลยแม้แต่เตรียมคำถามก่อนการสัมภาษณ์หรือที่เรียกว่า “Unstructured Interview” ยิ่งทำให้ได้คนที่ไม่เหมาะสมเขามาเป็นปัญหากับบริษัทมากขึ้นไปอีก

วิธีการที่ผมเล่ามาข้างต้นคือการสรรหาคัดเลือกสำหรับบริษัทที่มีรูปแบบที่มีการทดสอบแบบกิจกรรมกลุ่มซึ่งจะมีการเตรียมกิจกรรม, หลักเกณฑ์การให้คะแนนตาม Competency ที่ต้องการ รวมถึงคำถามที่เตรียมไว้สำหรับการสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือก (Structured Interview) ผู้สมัครงานแล้ว คงจะพอให้ท่านได้เข้าใจแล้วนะครับว่าบริษัทที่เขาทดสอบผู้สมัครงานแบบเป็นกลุ่มเขามีการคัดเลือกกันยังไง ซึ่งถ้าใครเด่นเรื่องไหนหรือด้อยเรื่องไหนก็จะว่ากันไปตามเรื่องนั้น ๆ แล้วคณะกรรมการก็จะมาสรุปกันอีกครั้งว่าใครจะเหมาะที่สุดสำหรับตำแหน่งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้สมัครงานแล้วล่ะครับว่ามี Competency เหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้น ๆ หรือไม่

                        และข้อเขียนนี้คงเป็นประโยชน์และเป็นแนวคิดให้เกิดไอเดียสำหรับบริษัทที่กำลังคิดจะคัดเลือกผู้สมัครด้วยวิธีนี้นะครับ

 

……………………………………