วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ความแตกต่างระหว่างโครงสร้างเงินเดือนและโครงสร้างค่าตอบแทน

             ถึงวันนี้ก็ยังมีคำถามถึงความแตกต่างระหว่างโครงสร้างเงินเดือน (Salary Structure) และ โครงสร้างค่าตอบแทน (Compensation Structure) (หรือบางคนก็เรียกว่าโครงสร้างค่าจ้างก็มี) ว่าเหมือนกันหรือไม่อย่างไร ผมก็เลยขออธิบายให้เห็นความแตกต่างให้ชัดเจนเพื่อทำความเข้าใจในทั้งสองคำดังนี้ครับ

1.        โครงสร้างเงินเดือน (Salary Structure) ทำมาจากการสำรวจตลาดค่าตอบแทนโดยนำตำแหน่งต่าง ๆ ในแต่ละ Job Grade (ที่ผ่านการประเมินค่างานแล้ว) ไปดูว่าตลาดเขาจ่ายกันอยู่เท่าไหร่ แล้วออกแบบโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทให้แข่งขันกับตลาดได้ โดยใช้เงินเดือนมูลฐาน (Base Salary) เป็นตัวกำหนดกระบอกเงินเดือน (Min-Max) ในแต่ละ Job Grade

2.        เมื่อทำโครงสร้างเงินเดือนเสร็จจะมีหลักการว่าในการจ้างพนักงานเข้ามาใหม่หรือพนักงานที่ทำงานอยู่ในทุกตำแหน่งงานในแต่ละ Job Grade ควรจะมีเงินเดือนมูลฐานไม่ต่ำกว่า Min และไม่เกิน Max ของกระบอกเงินเดือนนั้น ๆ

3.        เงินอื่น ๆ ที่บวกเพิ่มขึ้นจากเงินเดือนมูลฐาน เช่น ค่าครองชีพ, ค่าภาษา, ค่าตำแหน่ง, ค่าวิชาชีพ ฯลฯ จะถือเป็นค่าจ้างหรือค่าตอบแทนอื่นที่บริษัทจ่ายเพิ่ม จึงเรียกรวมเงินเดือนมูลฐาน+ค่าตอบแทนอื่นว่าเป็น “โครงสร้างค่าตอบแทน” หรือ “โครงสร้างค่าจ้าง” สำหรับตำแหน่งนั้น ๆ

4.        จึงสรุปได้ว่าโครงสร้างค่าตอบแทนจะไม่ได้ถูกกำหนดเป็นกระบอก Min-Max เหมือนโครงสร้างเงินเดือน แต่โครงสร้างค่าตอบแทนคือการนำเงินเดือนมูลฐานรวมเข้ากับค่าตอบแทนตัวอื่น ๆ สำหรับแต่ละตำแหน่งงานเพื่อให้พนักงานเห็นว่านอกเหนือจากเงินเดือนมูลฐานแล้ว   บริษัทยังจ่ายเงินเพิ่มอื่น ๆ ให้อีกเมื่อรวมกันแล้วก็จะทำให้พนักงานมีรายได้สูงมากกว่าการได้รับเพียงเงินเดือนมูลฐานเพียงตัวเดียว

5.        โครงสร้างค่าตอบแทนในตำแหน่งต่าง ๆ อาจจะต่างกันไปตามลักษณะงานของแต่ละตำแหน่ง เช่น ตำแหน่งที่อยู่ใน Job Grade เดียวกันก็อาจจะมีโครงสร้างค่าตอบแทน (คือเงินเดือน+ค่าตอบแทนตัวอื่น ๆ) แตกต่างกันไปตามที่บริษัทเห็นสมควรก็ได้ โดยขอให้ท่านดูตัวอย่างที่ผมยกมาดังนี้

ตัวอย่างที่ 1 โครงสร้างเงินเดือน (สมมุติ) ของบริษัทแห่งหนึ่งเป็นดังนี้


      จากโครงสร้างเงินเดือนข้างต้น ผมขอยกตัวอย่างว่าใน Job Grade 2 ก็จะมีตำแหน่ง Supervisor ของแต่ละฝ่ายอยู่ใน Job Grade นี้ ซึ่งเงินเดือนมูลฐาน (Base Salary) ของ Supervisor ทุกตำแหน่งของบริษัทไม่ว่าจะอยู่ในฝ่ายใดจะต้องไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท และสูงสุดต้องไม่เกิน 45,000 บาทตามโครงสร้างเงินเดือนของ Job Grade 2

      ผมสมมุติว่าใน Job Grade 2 นี้ มี Supervisor สองคนคือ Supervisor แผนกจัดซื้อ กับ Supervisor แผนกซ่อมบำรุง ซึ่งแม้ Supervisor ทั้งสองคนนี้จะอยู่ใน Job Grade เดียวกันและอยู่ใน “โครงสร้างเงินเดือน” เดียวกัน แต่บริษัทอาจจะมีการกำหนด “โครงสร้างค่าตอบแทน” ที่แตกต่างกันตามลักษณะงาน เช่น

      จากตัวอย่างข้างต้น (ผมสมมุติว่าในที่นี้บังเอิญ Supervisor ทั้งสองคนนี้เงินเดือนเท่ากันนะครับจะได้เห็นตัวเลขเปรียบเทียบได้ชัดหน่อย) จะเห็นได้ว่าตำแหน่ง Supervisor แผนกจัดซื้อจะมีโครงสร้างค่าตอบแทนที่น้อยกว่า Supervisor แผนกซ่อมบำรุงในเรื่องของค่าวิชาชีพที่ใครก็ตามถ้าเป็น Supervisor แผนกซ่อมบำรุงจะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 1,000 บาท

จะเห็นได้ว่าทั้ง Supervisor แผนกจัดซื้อและ Supervisor แผนกซ่อมบำรุงจะมีเงินเดือนอยู่ในโครงสร้างเงินเดือน (ใน Job Grade 2) เดียวกันหรืออยู่ในกรอบของ Min ถึง Max เดียวกัน ซึ่งบริษัทจะต้องจ่ายเงินเดือนให้ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท และสูงสุดไม่เกิน 45,000 บาท ตามตัวอย่างนี้สมมุติให้ Supervisor ทั้งสองคนนี้มีเงินเดือนเท่ากันคือ 20,000 บาทซึ่งก็ถือว่ายังอยู่ในโครงสร้างเงินเดือนของ Job Grade 2

      แต่ทั้งสองตำแหน่งนี้จะมี “โครงสร้างค่าตอบแทน” ตามตำแหน่งงานที่แตกต่างกันไปตามนโยบายของบริษัท ดังนั้นตำแหน่ง Supervisor คนอื่น ๆ ใน Job Grade 2 ก็อาจจะมีโครงสร้างค่าตอบแทนที่แตกต่างกันไปได้ตามลักษณะงานที่ต่างกันไปในแต่ละตำแหน่งในลักษณะเดียวกับที่ผมยกตัวอย่างของ Supervisor สองตำแหน่งมาให้ดูข้างต้น

      ผมอธิบายพร้อมทั้งยกตัวอย่างมาถึงตรงนี้แล้วก็หวังว่าเราจะเข้าใจความแตกต่างระหว่าง “โครงสร้างเงินเดือน” และ “โครงสร้างค่าตอบแทน”  ได้ตรงกันแล้วนะครับ

            จึงขอปิดท้ายตรงนี้ว่า..

โครงสร้างเงินเดือนกับโครงสร้างค่าตอบแทน (หรือบางคนอาจจะเรียกว่าโครงสร้างค่าจ้าง) ไม่เหมือนกันและเป็นคนละตัวกันซึ่งจะใช้ในบริบทที่ต่างกันครับ



………………………………..