วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2559

ค่าจ้าง-เงินเดือน-รายได้ มีความหมายยังไงในกฎหมายแรงงาน

            ผมได้รับคำถามหนึ่งที่น่าสนใจดี ซึ่งเชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจจะยังไม่รู้หรือยังงง ๆ กับคำเหล่านี้ว่าต่างกันยังไง ก็เลยอยากจะเอาคำเหล่านี้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กันในวันนี้ครับ

            คำถามมีอยู่ว่า

1. พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งเงินเดือน 20,000 บาท ได้รับค่าครองชีพเดือนละ 2,000 บาท ค่าภาษา 3,000 บาท ถามว่าในทางกฎหมายแรงงานแล้วพนักงานคนนี้จะมี “รายได้” เดือนละ 25,000 บาท ใช่หรือไม่ ?

2. คำว่า “เงินเดือน” กับ “รายได้” ในทางกฎหมายแรงงานแตกต่างกันอย่างไร

ตอบได้อย่างนี้ครับ

ในกฎหมายแรงงานแล้วมีแต่คำว่า “ค่าจ้าง” เท่านั้น

ไม่มีคำว่า “เงินเดือน” หรือคำว่า “รายได้” หรือ “เงินได้” ใด ๆ ทั้งสิ้น

            ซึ่งในมาตรา 5 ของกฎหมายแรงงานก็ได้ระบุความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” เอาไว้ดังนี้ครับ....

ค่าจ้างหมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้

            ดังนั้น ในบริษัทห้างร้านองค์กรต่าง ๆ ที่มีชื่อเรียกการจ่ายค่าตอบแทนว่า “เงินเดือน” หรือคำอื่น ๆ ก็จะต้องนำค่าตอบแทนที่จ่ายในชื่อต่าง ๆ นั้นมาเทียบกับมาตรา 5 ของกฎหมายแรงงานดูว่าเงินค่าตอบแทนเหล่านั้นอะไรเป็น “ค่าจ้าง” อะไรไม่ใช่ “ค่าจ้าง”

            เช่นในข้อ 1 ที่บอกว่าพนักงานได้เงินเดือน ๆ ละ  20,000 บาท จะเห็นได้ว่า “เงินเดือน” ที่พนักงานได้รับนี้เป็น “เงิน” ที่พนักงานและบริษัทตกลงกันจ่ายเพื่อเป็นค่าตอบแทนการทำงาน (คือพูดง่าย ๆ ว่าก็เพราะพนักงานทำงานให้บริษัท บริษัทถึงได้จ่ายเงินเดือนให้ 20,000 บาท ถ้าไม่ทำงานให้บริษัทก็จะไม่จ่ายเงินเดือนให้) ตามสัญญาจ้าง (ซึ่งต้องมีการสัญญิงสัญญาว่าจะรับเข้ามาทำงานและพนักงานก็ตกลงที่จะมาทำงานด้วยอัตราเงินเดือนเท่านี้) สำหรับระยะเวลาการทำงานปกติคือทำงานวันละ 8 ชั่วโมง (ตามข้อบังคับการทำงานของบริษัท)

            เห็นไหมครับว่าจากที่ผมเปรียบเทียบเทียบความหมายของเงินเดือนข้างต้นนี้จะเข้าได้กับนิยามของคำว่า “ค่าจ้าง” ตามมาตรา 5 ทั้งหมด ดังนั้น “เงินเดือน” เดือนละ 20,000 บาทตามตัวอย่างนี้ก็คือ “ค่าจ้าง” ตามกฎหมายแรงงานแหง ๆ

          ส่วนเงินค่าตอบแทนอื่น ๆ เช่น ค่าครองชีพเดือนละ 2,000 บาท และค่าภาษาเดือนละ 3,000 บาทล่ะ เป็นค่าจ้างด้วยหรือไม่ ?

            ถึงแม้บริษัทจะเรียกเงินที่จ่ายให้แตกต่างออกเป็นคำว่า “ค่าครองชีพ” หรือ “ค่าภาษา” แล้วก็ตาม เราก็ต้องนำลักษณะการจ่ายค่าตอบแทนเหล่านี้มาเปรียบเทียบกับความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” ตามมาตรา 5 (ข้างต้น) ด้วยเช่นเดียวกันถึงจะตอบได้ว่าเงินเหล่านี้เป็น “ค่าจ้าง” หรือไม่

            ในกรณีนี้หากบริษัทจ่ายค่าครองชีพให้พนักงานเท่ากันทุกเดือน ๆ ละ 2,000 บาท โดยไม่เคยมีการปรับค่าครองชีพให้สอดคล้องกับสภาวะการครองชีพจริง ๆ แม้แต่วันที่เป็นวันหยุดก็ยังได้ค่าครองชีพไปด้วย คือพูดง่าย ๆ ว่ายังไงบริษัทก็จ่ายค่าครองชีพให้พนักงานทุกคน ๆ ละ 2,000 บาทต่อเดือนมานานหลายปีแล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้ “ค่าครองชีพ” ที่จ่ายแบบนี้ก็ถือเป็นค่าตอบแทนการทำงานเพราะเหตุว่าใครเข้ามาทำงานในบริษัทก็จะต้องได้ค่าครองชีพ 2,000 บาทเท่ากันทุกคนแบบแน่นอน ดังนั้น “ค่าครองชีพ” นี้ก็เป็น “ค่าจ้าง” โดยนัยยะเดียวกันกับเงินเดือนข้างต้นครับ

            ส่วนค่าภาษาเดือนละ 3,000 บาทล่ะ อันนี้ง่ายเลยครับ คือถ้าพนักงานคนไหนต้องใช้ภาษาต่างประเทศ บริษัทก็เลยต้องจ่ายค่าภาษาให้เดือนละ 3,000 บาท ถ้าใครไม่ได้ใช้ภาษาต่างประเทศบริษัทก็จะไม่จ่ายค่าภาษาให้ อย่างนี้ “ค่าภาษา” ก็คือค่าตอบแทนการทำงาน (ที่ต้องใช้ภาษาต่างประเทศ) อย่างชัดแหนวเลยครับ ดังนั้น “ค่าภาษา” ก็คือ “ค่าจ้าง” ไปด้วยอีกตัวหนึ่ง

            จากที่ผมอธิบายมาทั้งหมดนี้ก็สรุปได้ว่า “ค่าจ้าง” ของพนักงานคนนี้คือ 25,000 บาท ซึ่งค่าจ้างนี้จะใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าล่วงเวลา, ค่าทำงานในวันหยุด หรือเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยอีกด้วยนะครับ

            ส่วนคำถามที่ 2 ที่ถามว่า “เงินเดือนกับรายได้ในทางกฎหมายแรงงานแตกต่างกันอย่างไร” นั้น สำหรับท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้คงจะตอบได้แล้วนะครับว่า....

            คำว่า “เงินเดือน” และคำว่า “รายได้” ไม่มีนิยามไว้ในกฎหมายแรงงานน่ะสิครับ เมื่อสองคำนี้ไม่อยู่ในกฎหมายแรงงานจึงไม่ต้องมาตอบว่ามันแตกต่างกันอย่างไรจึงป่วยการที่จะไปคิดถึงคำว่ารายได้

          แต่ในทางกฎหมายแรงงานจะต้องมาตีความกันว่าเงินใดบ้างที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างนั้นเป็น “ค่าจ้าง” หรือไม่ อย่างนี้ต่างหากครับ

            ตอนนี้ทุกท่านคงเข้าใจในคำว่า “ค่าจ้าง” ดีขึ้นแล้วนะครับ


………………………………………….