วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

คำถามที่ HR ต้องระวังในการสัมภาษณ์

            วันนี้เป็นโลกของ Social Network ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวอะไรก็สามารถแชร์ให้ผู้คนรับรู้กันได้รวดเร็วแค่เสี้ยววินาที ถ้าเป็นเรื่องดีก็ดีไป แต่ถ้าเป็นเรื่องไม่ดีก็จะกระจายเรื่องส่งต่อกันอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นทางไลน์, เฟซบุ๊ค ฯลฯ เรื่องที่ผมจะเอามาแชร์ในวันนี้ก็เพื่ออยากจะให้เป็นข้อคิดเตือนใจสำหรับคนที่ทำงาน HR ที่มีหน้าที่ในการสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกผู้สมัครงาน

เพราะผมไปเจอการตั้งกระทู้ด่า HR ที่ทำหน้าที่สัมภาษณ์ผู้สมัครงานเกี่ยวกับการใช้คำถามต่าง ๆ ในระหว่างการสัมภาษณ์ และก็กลายเป็นกระทู้ยอดนิยมแล้วก็มีคนเข้ามาเม้นท์มาเม้าท์ด่าคนที่ทำงาน HR (ที่ไม่ใช่คนใช้คำถามไม่เหมาะสมคนนั้น) แบบเหมาเข่งว่าคนทำงาน HR พูดจาไม่ดี, ชอบเหยียดหยามคนอื่น ฯลฯ ทำให้เกิดภาพด้านลบกับอาชีพ HR เพียงเพราะคนที่ทำงาน HR บางคนเท่านั้นที่ยังขาดทักษะการสัมภาษณ์ว่าอะไรควรถามไม่ควรถามก็เลยทำให้คนที่ทำงาน HR ที่ดี ๆ พลอยถูกสังคมมองไปในภาพลบไปด้วย

            คำถามที่คนทำงาน HR บางคนใช้สัมภาษณ์ผู้สมัครงานแล้วถูกเขาด่าทางเว็บไซด์มีดังนี้ครับ

1. คำถามล้อเลียนปมด้อยของผู้สมัครงาน เช่น
-          ทำไมน้องตัวเตี้ยจังเลยล่ะ หน้าตาก็สวยดีหรอกนะแต่พี่ว่าถ้าน้องสูงกว่านี้อีกสักหน่อยก็คงจะดี
-          คุณผิวด๊ำดำนะ ตอนเด็ก ๆ ชอบตากแดดล่ะสิ พี่อยากได้คนขาวกว่านี้น่ะ
-          ฟันหน้าคุณยื่นมากไปนิดหนึ่งนะถ้าไปดัดฟันให้เข้าไปอีกสักหน่อยหน้าตาจะดูดีกว่านี้นะ

2. คำถามแสดงทัศนคติเชิงลบหรือเชิงดูถูกผู้สมัครงาน เช่น
-          ทำไมน้องจบมาได้เกรดแค่ 2.0 เองล่ะ  แล้วยังงี้จะทำงานได้เหรอ
-          คุณยังเช่าบ้านเขาอยู่เลยเหรอทำไมไม่คิดผ่อนบ้านอยู่เองล่ะ
-          ทำไมน้องแต่งตัวมอซอจังเลย
-          พี่ว่าคนจบจากสถาบันนี้ (ที่ผู้สมัครงานจบมา) ไม่ค่อยจะสู้งานเท่าไหร่นะ

3. คำถามอยากรู้อยากเห็น (ศัพท์เทคนิคเขาเรียกว่า “เผือก” ครับ) ซอกแซกโดยไม่มีเป้าหมาย เช่น
-          คุณเป็นเกย์ (หรือเป็นทอม) หรือเปล่า
-          ทำไมน้องถึงยังไม่มีแฟนล่ะ เลือกมากล่ะสิ

4. คำถามอวดภูมิรู้ของผู้สัมภาษณ์ เช่น
-          คุณยังไม่รู้เรื่องนี้อีกเหรอ ไปอยู่ที่ไหนมาล่ะเนี่ยะ
-          ขนาดพี่ยังรู้เรื่องนี้เลยแล้วทำไมคุณถึงไม่รู้ ไม่เคยอ่านหนังสือพิมพ์บ้างหรือ

5. ไม่ได้ถามแต่ชอบพูดสั่งสอนผู้สมัครงานโดยไม่จำเป็น เช่น
-          คุณแต่งตัวอย่างนี้ออกจากบ้านไม่อายคนอื่นที่เขามองบ้างเหรอ
-          คุณรู้ไหมว่าถ้าคุณสักลายเต็มตัวอย่างนี้ไม่มีที่ไหนเขาอยากจะรับคุณเข้าทำงานหรอก
-          คุณน่ะอายุยังน้อยยังคิดอะไรไม่รอบคอบ เอาไว้คุณอายุมากกว่านี้คุณก็จะคิดเหมือนผมแหละ

นี่เป็นตัวอย่างของคำถามเพียงบางส่วนที่มักจะทำให้ผู้สมัครงานเอามาโพสบนกระทู้ออนไลน์
แล้วก็เลยมีบรรดาขาเม้นท์ขาเม้าท์เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันด่า HR หรือผู้สัมภาษณ์ที่เป็น Line Manager ที่ปากเบาชอบถามอะไรโดยไม่คิดเสียก่อนว่าอะไรควรถาม (ควรพูด) หรือไม่ควรถาม

            ซึ่งก็จะมีคนบางคนพยายามจะ “แถ” ไปได้อีกนะครับ ว่าการที่ HR ถามทำนองนี้ก็เพราะอยากจะทดสอบผู้สมัครงานว่ามีวุฒิภาวะอดทนต่อคำพูดยั่วยุของผู้สัมภาษณ์หรือไม่ เพราะในการทำงานก็อาจจะต้องเจอสถานการณ์หรือคำพูดที่ไม่ดีจากคนอื่นในที่ทำงานบ้าง

            ถ้ามีเหตุผลในการตั้งคำถามแบบแย่ ๆ ตามตัวอย่างข้างต้น ผมยังยืนยันว่าเป็นการ “แถ” อยู่นั่นเองครับ เพราะในการสัมภาษณ์น่ะมักจะใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณคนละหนึ่งชั่วโมง (บวก-ลบ) กะอีแค่ใช้คำถามยั่วยุ หรือคำถามเชิงล้อเลียนดูถูกผู้สมัครงานแบบนี้มันไม่ได้วัดในเรื่องการควบคุมอารมณ์ของผู้สมัครงานได้ชัดเจนหรอกครับ

          แถมยังจะทำให้ผู้สมัครงานรู้สึกย่ำแย่กับบริษัทนั้น ๆ หรือกับ HR คนสัมภาษณ์อีกต่างหาก !!

            อันที่จริงแล้วถ้าคนที่ทำหน้าที่สัมภาษณ์มีการเตรียมคำถามเอาไว้ล่วงหน้าแบบ Structured Interview แล้วใช้คำถามนั้นกับผู้สมัครงานแบบเดียวกันและมีเกณฑ์ในการประเมินเพื่อวัดความเหมาะตรงกับตำแหน่งงานของผู้สมัครแต่ละรายอย่างชัดเจน ก็จะลดปัญหาชนิดที่ถามแบบเทพดลใจเพราะไม่ได้เตรียมคำถามอะไรมาก่อนก็เลย  เหมือนถามไปโดยปากพาไปจนกระทั่งปากพาจนทำให้คนเขาด่าในที่สุด

          มีบางคนเคยบอกไว้ว่าถ้าเราอยากจะรู้ว่าใครฉลาดรอบรู้เรื่องนั้น ๆ ไหมให้ดูจากคำตอบของเขา แต่ถ้าเราอยากจะรู้ว่าใครฉลาดแค่ไหนให้ดูจากคำถาม

          พูดง่าย ๆ ว่าคำถามจะเป็นตัวชี้วัดสติปัญญาของคนถามได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว !!

            ดังนั้น คนที่ทำงาน HR และต้องทำหน้าที่สัมภาษณ์ควรระวังการใช้คำถามที่ไม่คิดถึงใจเขา-ใจเรา แล้วก็ทำให้ผู้สมัครงานเขาเอาไปประจานให้เสื่อมเสียภาพลักษณ์ชื่อเสียงขององค์กร รวมไปถึงคนเขาจะมองภาพของคนทำงาน HR ว่าไม่มีความเป็นมืออาชีพและจะพลอยมองภาพของ HR ในทางลบเข้าไปอีกซึ่งการแก้ชื่อเสียงภาพลักษณ์กลับมาก็ยุ่งยากกว่าการสร้างชื่อเสียอีก

            ฝากไว้เป็นข้อคิดเตือนใจสำหรับทั้งคนที่เป็น HR และท่านที่เป็นผู้บริหารขององค์กรที่ไม่ใช่ HR แต่ต้องมาทำหน้าที่เป็นผู้สัมภาษณ์ผู้สมัครงานเพื่อระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการใช้คำถามที่ไม่เหมาะสมเอาไว้ด้วยเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีกับทั้งตัวเองและองค์กรนะครับ


……………………………….

วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558

โดนโยนงานจนอยากจะลาออกวันละหลายหน..ทำไงดี ?

            เรื่องนี้มีอยู่ว่ามีน้องใหม่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยชื่อดังด้านบริหารธุรกิจ เกรดเฉลี่ย 3 กว่า ๆ เข้ามาทำงานได้ประมาณ 2 เดือน แต่ถูกรุ่นพี่ที่ทำงานอยู่มาก่อนรับน้องละน่วม คือชอบโยนงานต่าง ๆ มาให้ทำเยอะแยะไปหมดแล้วตัวเองก็ไปนั่งเล่นเฟซบุ๊คให้น้องใหม่เห็นซะอีก น้องใหม่รายนี้ก็เลยคับข้องใจเพราะถูกโยนงานทั้งหลายมาให้จนทำแทบไม่ทัน เหนื่อย ทำไปก็ไม่เห็นจะได้ประสบการณ์อะไรเพิ่มขึ้นเลย เริ่มคิดว่างานที่ทำไม่คุ้มกับเงินเดือน ๆ ละ 14,000 บาท ก็อยากจะหางานใหม่เพราะฐานะทางบ้านก็ปานกลางลาออกมาก็ยังพอมีเวลาไปหางานใหม่ได้ ตกลงแล้วน้องใหม่รายนี้ควรจะลาออกดีหรือไม่ ?

            ผมเชื่อว่าปัญหาทำนองนี้เกิดขึ้นได้กับมนุษย์เงินเดือนทุกคนไม่เฉพาะแต่พนักงานเข้าใหม่นะครับ

            วิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดก็คือการลาออก เพราะไม่ต้องคิดอะไรมากแค่เขียนใบลาออกแล้วก็ไปยื่นกับหัวหน้างานทุกอย่างก็จบสำหรับที่นี่

            แต่ก่อนที่จะตัดสินใจอย่างงั้นลองนั่งนิ่ง ๆ แล้วลองฟังผมสักนิดนึงก่อนนะครับ....

1. ทัศนคติคือทุก ๆ อย่างในชีวิต: ถ้าอยากเป็นคนที่ประสบความสำเร็จต้องหาทางเปลี่ยนวิธีคิดจากลบเป็นบวกให้ได้เสียก่อน เพราะสิ่งใด ๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วสิ่งนั้นไม่ได้ดีหรือเลวด้วยตัวของมันเองนะครับ แต่ความรู้สึก (หรือทัศนคติ) ของเราที่มีต่อสิ่งที่เกิดขึ้นต่างหากที่จะทำให้มันดีหรือเลว

2. มองวิกฤตเป็นโอกาส : ถ้าตั้งสติคิดได้ตามข้อ 1 แทนที่เราจะคิดว่าทำไมใคร ๆ ก็โยนงานอะไรก็ไม่รู้มาให้เราทำตั้งเยอะแยะไม่ยุติธรรมเลย ก็ลองกลับมาคิดเสียใหม่ว่าแล้วเราได้เรียนรู้งานใหม่ ๆ ที่พี่ ๆ เขาโยนมาให้เรามากขึ้นกว่าเดิมบ้างล่ะ งานเหล่านี้ทำให้เรามีประสบการณ์เพิ่มมากขึ้นในการทำงานมาก ๆ ในระยะเวลาจำกัด ทำให้เราต้องบริหารเวลากับงานได้ดีขึ้นเพื่อส่งงานให้ได้ตรงเวลา เมื่อเราสามารถทำงานเหล่านี้ได้มันก็จะเป็นผลงานของเราเองเลยนะครับ ซึ่งประสบการณ์และผลงานเหล่านี้เราจะเอาไว้ไปคุยอวดใครเราก็พูดได้ด้วยความภูมิใจว่าเรื่องเหล่านี้เราก็ผ่านมันมาแล้ว

3. ฝึกทักษะในการแก้ปัญหา : จากงานที่โดนโยนมาเยอะแยะเหล่านั้น จะทำให้เรามีโอกาสที่จะรู้จักวิธีแก้ปัญหา จัดการกับปัญหาต่าง ๆ เพื่อทำให้งานสำเร็จให้ได้ ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้เกิดจากประสบการณ์จริงในภาคปฏิบัติที่ไม่มีสอนเฉพาะเจาะจงในตำราเล่มไหน  เรียกว่าเราได้เรียนกระบวนการแก้ปัญหาและตัดสินใจจากหน้างานจริง ๆ เลย  ซึ่งในวันข้างหน้าประสบการณ์เหล่านี้เรายังเอาไว้ยกเป็นตัวอย่างให้คำแนะนำกับรุ่นน้องต่อ ๆ ไปได้อีกนะครับเรียกว่ามีนิทานจากเรื่องจริงมาเล่าให้ลูกน้องฟังกันไม่หมดเลยแหละ แถมบางเรื่องอาจจะดูซีเรียสในตอนที่เจอปัญหา แต่เมื่อผ่านปัญหานั้นมาได้ก็กลายเป็นเรื่องขำ ๆ ในภายหลังไปเลยก็มี

4. ฝึกความอดทน : ประสบการณ์แบบนี้จะช่วยฝึกการควบคุมอารมณ์ตัวเอง เพราะในชีวิตการทำงานนั้นจะต้องมีบ้างแหละครับที่ “เราต้องทำในสิ่งที่เราไม่อยากทำ และไม่ได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ” ดังนั้นความอดทนและสู้งานเป็นคุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งที่องค์กรต้องการ พูดง่าย ๆ คือเก่งงานแค่ไหนแต่ถ้าไม่อดทนก็เติบโตยากนะครับ

5. ถ้าหนีปัญหาคงจะต้องหนีไปเรื่อย ๆ : ถ้าน้องใหม่คนนี้ตัดสินใจแก้ปัญหานี้ด้วยการลาออกทันทีที่เจอปัญหา ผมก็อยากจะบอกว่านี่ไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เป็นการ “หนีปัญหา” มากกว่า และถ้าตัดสินใจลาออกทันทีแบบนี้ทั้งที่ทำงานได้ประมาณ 2 เดือน แล้วน้องไปเจอปัญหาทำนองเดียวกันนี้ในที่ทำงานใหม่น้องจะทำยังไงครับ ? จะลาออกอีกไหม ? แล้วน้องจะรู้ได้ยังไงล่ะครับว่างานที่ใหม่จะมีปัญหาน้อยกว่านี้ ถ้าจะลาออกเพื่อหนีปัญหามิต้องลาออกทุก ๆ ครั้งที่เจอปัญหาหรือ ?

        เอาล่ะนะครับผมพูดให้ฟังมาจนขนาดนี้แล้วถ้าน้องใหม่คนนี้จะยังตัดสินใจลาออกทั้ง ๆ ที่เพิ่งทำงานมาได้แค่ 2 เดือนก็เชิญตามสะดวกเลยนะครับ เป็นสิทธิของท่าน....

        จากปัญหาที่น้องใหม่รายนี้ (ซึ่งหมายถึงคนทำงานทุกคนแม้จะไม่ใช่น้องใหม่ก็ตาม) เจอ ก็ไม่ต่างจากในอดีตสมัยที่ผมเพิ่งจบและเริ่มทำงานใหม่ ๆ เจอในลักษณะปัญหาคล้าย ๆ กัน ซึ่งผมเองก็เคยคิดคล้าย ๆ กับน้องใหม่คนนี้คืออยากจะยื่นใบลาออกตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ทำงานด้วยซ้ำไป เพราะในที่ทำงานแห่งนั้นไม่มีการสอนงานอะไรที่เป็นระบบเลย แถมมีการโบ้ยงานโยนงานมาสารพัด แต่พอผมกลับไปบ้านเริ่มใจเย็นลง มีสติมากขึ้นรุ่งขึ้นเช้าผมก็มาทำงานต่อไปตามปกติจนกระทั่งอยู่ในที่ทำงานแห่งนั้นมาได้ตั้งเก้าปี (ทั้ง ๆ ที่อยากจะลาออกตั้งแต่สัปดาห์แรก)

และสิ่งที่ผมได้รับจากวันนั้นมาถึงวันนี้ก็คือความรู้และประสบการณ์ในงานยาก ๆ หลาย ๆ เรื่องที่คนอื่นเขาไม่อยากทำแต่ผมถูกสั่งให้ทำ (ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้อยากจะทำด้วยนะครับ) แต่ก็ต้องทำจนกระทั่งงานนั้น ๆ  สำเร็จลงได้ ทำให้มีประสบการณ์เรื่องราวต่าง ๆ จากชีวิตการทำงานจริงมาเล่าสู่กันฟังที่หาซื้อที่ไหนไม่ได้นอกจากต้องเจอมาเอง ซึ่งบทเรียนจากประสบการณ์เหล่านี้จะทำให้เรามีคุณค่าและมูลค่าเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ เมื่ออายุตัวและอายุงานเพิ่มขึ้น

          เพราะผมเชื่อว่าทุกองค์กรอยากได้คนที่พร้อมจะสู้กับปัญหาและเป็นนักแก้ปัญหามากกว่าคนที่เอาแต่หนีปัญหา..จริงไหมครับ ?


…………………………….

วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558

บริษัทขอลดเงินเดือนลงหลังทดลองงานทำยังไงดี

            เรื่องที่ผมเอามาแชร์ในวันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นได้อยู่เสมอในองค์กรที่ยังไม่มีความเป็นมืออาชีพ และไม่มีหลักในการบริหารค่าตอบแทนที่ดี

            เรื่องก็มีอยู่ว่านส.วันดี (นามสมมุติ) สมัครเข้าทำงานในบริษัทแห่งหนึ่งโดยมีข้อตกลงกันว่าคุณวันดีต้องทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน จันทร์ถึงศุกร์ เวลาทำงาน 8.00-18.00 น. (วันละ 9 ชม.ทำงาน) หยุด 2 วันคือเสาร์-อาทิตย์ ได้รับเงินเดือนระหว่างทดลองงานเดือนละ 20,000 บาท (ทดลองงาน 120 วัน) หลังทดลองงานจะปรับขึ้นให้เป็น 22,000 บาท แล้วแต่ผลการทำงานในระหว่างทดลองงาน

            คุณวันดีก็ตกลงรับเงื่อนไขเข้าทำงาน

            แต่พอทำงานผ่านไป 1 เดือนเศษ ๆ  ผู้บริหารก็เรียกคุณวันดีไปพบและบอกว่าอยากจะขอให้คุณวันดีลดเงินเดือนลงเหลือเดือนละ 18,000 บาท และเพิ่มวันทำงานเป็นให้มาทำงานในทุกวันเสาร์เต็มวันอีกต่างหาก โดยให้เหตุผลว่าคุณวันดียังทำงานไม่ได้อย่างที่คุยกันไว้ และบริษัทมีความจำเป็นต้องให้พนักงานทุกคนมาทำงานในวันเสาร์เพิ่มขึ้นไม่ใช่เฉพาะคุณวันดีคนเดียว

            คุณวันดีแกก็คงจะงงสตั๊นท์ไปพักหนึ่งแหละครับ แกก็เลยขอฝ่ายบริหารกลับมาตั้งสติก่อนจะไปให้คำตอบอีกครั้งว่าจะโอเคตามที่ผู้บริหารขอดีหรือไม่

            ถ้าท่านเป็นคุณวันดีท่านจะตัดสินใจยังไงครับ ?

            ก่อนตัดสินใจผมขอชี้ประเด็นที่สำคัญในเรื่องนี้ก่อน....ดังนี้ครับ

1. การลดค่าจ้างลงโดยลูกจ้างไม่ได้ยินยอมถือเป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างซึ่งผิดกฎหมายแรงงาน ตามพรบ.แรงงานสัมพันธ์มาตรา 20 “เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับแล้ว ห้ามมิให้นายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า”
2. การขอเพิ่มวันทำงานจากสัปดาห์ละ  5 วันมาเป็นสัปดาห์ละ 6 วัน นั้น นอกจากจะผิดกฎหมายแรงงานตามข้อ 1 แล้ว ยังทำให้ชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ละ 45 ชั่วโมง (ทำงาน 5 วัน ๆ ละ 9 ชั่วโมงไม่รวมเวลาพักกลางวัน 1 ชั่วโมง) มาเป็นสัปดาห์ละ 54 ชั่วโมง ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้ตามมาตรา 23 ต้องไม่เกินสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง

            เมื่อคุณวันดีรู้อย่างงี้แล้วก็อยู่ที่ตัวของแกเองนะครับว่ายังอยากจะอยู่กับบริษัทที่มีการบริหารจัดการแบบ “ตามใจฉัน” และเอาเปรียบพนักงานอย่างนี้ต่อไปหรือไม่ หรือคุณวันดีจะไปหาบริษัทที่มีการบริหารค่าตอบแทนที่ชัดเจนไม่ชักเข้าชักออกเหมือนบริษัทนี้จะดีกว่า

            เพราะนี่ขนาดยังเพิ่งทำงานมาได้แค่เดือนเดียวยังทดลองงานอยู่ ผู้บริหารยังออกลายมาขนาดนี้แล้วถ้าเป็นพนักงานประจำต่อไปจะถูกเอาเปรียบเรื่องอื่นอีกหรือไม่ก็คงต้องไปเล่นเกมวัดดวงกันผู้บริหารบริษัทนี้กันอีกในอนาคตมั๊งครับ

             เรื่องที่ผมเล่ามานี้ยังมีให้เห็นได้อยู่เป็นประจำในบริษัทที่มีผู้บริหารที่ไม่เคยเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานเลยว่าอะไรบ้างที่ทำไปแล้วจะผิดกฎหมายแรงงาน

ซึ่งในมุมมองของผม ๆ ว่าผู้บริหารในระดับต่าง ๆ ของบริษัทควรจะต้องหันมาเห็นความสำคัญและให้ความสนใจกับเรื่องเหล่านี้ เพื่อจะได้รู้ว่าอะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ เพราะถ้าผู้บริหารทำอะไรที่ผิดกฎหมายแรงงานอย่างนี้ในยุคนี้เป็นยุคของโลกออนไลน์แล้วนะครับ บริษัทของท่านก็จะถูกนำขึ้นมาโพสให้สาธารณะเขาได้รับรู้ว่าผู้บริหารของบริษัทปฏิบัติอะไรที่ผิดกฎหมายแรงงานกับพนักงานบ้าง ซึ่งจะทำให้บริษัทเสียภาพลักษณ์ชื่อเสียงและจะแก้ไขกลับคืนมาก็ยาก

            ดังนั้น ถ้าผู้บริหารในระดับต่าง ๆ ของบริษัทจะสนใจศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานในปัจจุบันก็ไม่ใช่เรื่องยาก  เพียงแต่ท่านพิมพ์สิ่งที่ต้องการรู้เข้าไปในกูเกิ้ล เช่น “ลดเงินเดือนพนักงานทำได้หรือไม่” ก็จะพอรู้แนวทางบ้างแล้ว หรือหาเวลาไปเข้าอบรมเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานบ้างก็จะทำให้ท่านเข้าใจเรื่องเหล่านี้ดีขึ้น

            อีกเรื่องหนึ่งคือสไตล์ในการบริหารจัดการแบบ “ตามใจฉัน” ฉันเป็นผู้บริหารจะทำยังไงกับลูกน้องก็ได้โดยไม่ต้องมีหลักการหรือมีคุณธรรมใด ๆ น่ะ ผมรับรองได้ว่าผู้บริหารประเภทนี้จะหาลูกน้องเก่ง ๆ มีฝีมือมาทำงานอยู่ด้วยยาก หรือแม้มาอยู่ด้วยไม่นานก็มักจะลาออกไป จะมีเหลือก็เพียงลูกน้องที่ไม่มีที่จะไปและยอมรับการบังคับบัญชาแบบอำนาจนิยมได้ก็อยู่ไปแบบวัน ๆ ในที่สุดทั้งผู้บริหารและบริษัทนั้น ๆ ก็จะไม่มีศักยภาพที่ดีขึ้นและเสียความสามารถในการแข่งขันไปในที่สุดครับ


……………………………….

วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558

บริษัทมีสิทธิลดเงินเดือนลูกจ้างชั่วคราวหรือไม่ ?



            วันนี้ผมมีเรื่องน่าสนใจมาแลกเปลี่ยนกับท่านอีกแล้วครับ
            เรื่องของสัญญาจ้างพนักงานชั่วคราวที่ผมเคยแลกเปลี่ยนกับท่านไปหลายครั้งแล้วนั่นแหละ!
            แต่สำหรับครั้งนี้ผมนำเอามาแชร์กับท่านเพื่ออยากจะทบทวนว่าเราเข้าใจเรื่องทำนองนี้ตรงกันหรือไม่ เพื่อที่จะได้นำไปเป็นหลักคิดเพื่อให้มีการปฏิบัติในเรื่องการจ้างงานที่ถูกต้อง และจะได้รู้ว่าอะไรที่ยังไม่ถูกต้องยังไงล่ะครับ
            เรื่องของเรื่องก็คือ....
            บริษัท PQR เป็นธุรกิจโรงแรมทำสัญญาจ้างพนักงานชั่วคราวมาตั้งแต่ปี 2553 โดยจ้างเข้ามาทำงานเกี่ยวกับการจัดโปรโมชั่นในการขายห้องพักซึ่งมีลักษณะงานเหมือนกับพนักงานประจำทั่วไปที่ทำหน้าที่ทำนองเดียวกัน สัญญาจ้างที่ทำก็เป็นแบบปีต่อปีอัตราเงินเดือน ๆ ละ 20,000 บาท ในสัญญาระบุว่าบริษัทจะพิจารณาการต่อสัญญาจากผลงานในปีที่ผ่านมา ถ้าปีที่ผ่านมามีผลงานที่น่าพอใจบริษัทก็จะต่อสัญญาจ้างไปอีก 1 ปี แต่บริษัทสงวนสิทธิไว้ว่าถ้าผลการปฏิบัติงานในปีที่ผ่านมาไม่เป็นที่น่าพอใจบริษัทก็จะไม่ต่อสัญญาโดยบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด ๆ ให้กับพนักงาน
            ซึ่งพนักงานคนดังกล่าวก็ทำงานและได้ต่อสัญญามาจนถึงปัจจุบัน
            ปัญหามาเกิดตรงที่ว่าในตอนนี้บริษัทมีปัญญาทางด้านการเงิน ก็เลยขอให้พนักงานชั่วคราวลดเงินเดือนลงจากจากเดิมโดยอ้างว่าถ้าไม่ได้รับความร่วมมือบริษัทก็อาจจะต้องปิดบริษัท
            บริษัทก็เลยทำสัญญาออกมาฉบับหนึ่งมีใจความทำนองที่ว่าพนักงานยินดีที่จะลดเงินเดือนลงแล้วให้พนักงานเซ็นชื่อในสัญญาดังกล่าว
          คำถามก็คือ....
1.      บริษัทสามารถลดเงินเดือนพนักงานชั่วคราวได้หรือไม่ และ….
2.      ถ้าพนักงานไม่เซ็นสัญญาลดเงินเดือนตัวเองจะได้ไหม ?
            เอาล่ะครับ..ท่านที่เคยอ่านเรื่องทำนองนี้ที่ผมเคยแชร์ไปแล้วจะตอบได้ไหมครับ ?
            คำตอบก็คือ....
1.      บริษัทจะลดเงินเดือนพนักงาน (ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำหรือชั่วคราว) ได้ครับ ถ้า....(มีคำว่า"ถ้า”) พนักงานคนนั้น ๆ เซ็นยินยอมให้บริษัทลดเงินเดือนของตัวเองลง แต่ถ้าพนักงานไม่เซ็นยินยอม อยู่ดี ๆ บริษัทจะมาลดเงินเดือนลงไม่ได้ครับ เพราะผิดกฎหมายแรงงานแหงแซะ
2.      คำถามว่า “แล้วไม่เซ็นสัญญาลดเงินเดือนของตัวเองจะได้ไหม” ก็ต้องกลับไปดูข้อ1แล้วล่ะครับว่าเราอยากจะลดเงินเดือนตัวของเราหรือไม่ล่ะ ถ้าไม่อยากให้เงินเดือนของเราลดลงก็อย่าไปเซ็น แต่ถ้าเซ็นก็แปลว่าเรายอมที่จะลดเงินเดือนของเราลงไปเองจะไปโทษใครล่ะครับ ดังนั้นก่อนจะเซ็นอะไรก็ต้องคิดให้ดี ๆ ว่าควรจะเซ็นดีหรือไม่ ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรานั่นเองครับ
จากเรื่องนี้ผมเชื่อว่าท่านที่เคยอ่านเรื่องทำนองนี้ไปแล้วจะต้องมีความเห็นเพิ่มเติมอีกดังนี้คือ

1.      แม้บริษัท PQR จะอ้างว่าสัญญาจ้างแบบปีต่อปีเป็นสัญญาจ้างแบบ “สัญญาจ้างที่มีระยะเวลา” คือมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการจ้างที่ชัดเจนในสัญญาก็ตาม แต่สัญญาจ้างที่มีลักษณะข้างต้นนี้ เมื่อไปถึงศาลแรงงานก็เชื่อได้เลยว่าศาลท่านจะต้องวินิจฉัยว่าเป็น “สัญญาจ้างแบบไม่มีระยะเวลา” ซึ่งก็หมายถึงเป็นสัญญาจ้างลูกจ้างประจำนั่นเอง เพราะสัญญาทำนองนี้เป็นสัญญาที่ศาลท่านเคยพิพากษาว่านายจ้างเจตนาจะหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานให้กับลูกจ้างเมื่อนายจ้างต้องการเลิกจ้างลูกจ้างน่ะสิครับ
2.      จากผลที่ผมอธิบายตามข้อ 1 ดังนั้นแม้บริษัทจะอ้างว่าพนักงานที่จ้างเป็น “ลูกจ้างชั่วคราว” ก็จริง แต่ในทางกฎหมายแรงงานถือว่าเป็น “ลูกจ้าง” (หรือจะเรียกภาษาคนทำงานว่าลูกจ้างประจำหรือพนักงานประจำก็ได้ครับ) แล้วโดยจะนับอายุงานตั้งแต่วันเข้าทำงานวันแรกมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกรณีข้างต้นพนักงานคนนี้ก็มีสภาพเป็นพนักงานประจำมาตั้งแต่วันเริ่มงานในปี 2553 แล้วแหละครับ ซึ่งจะต้องได้สิทธิประโยชน์และสวัสดิการเหมือนพนักงานประจำอื่น ๆ อีกด้วย
3.      ในกรณีนี้ ถ้าหากพนักงานคนนี้ไม่ยอมเซ็นชื่อลดเงินเดือนตัวเองลง และบริษัทจะเลิกจ้างบริษัทก็
จะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานตามมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงาน (ไปดูในกฎหมายแรงงานนะครับว่าทำงานมากี่ปีนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่าไหร่) รวมถึงต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับพนักงานคนนี้อีกด้วย จะมาโมเมไม่จ่ายค่าชดเชยโดยอ้างว่าเป็นพนักงานชั่วคราวไม่ได้ ซึ่งค่าชดเชยนี้จะคำนวณจากค่าจ้างอัตราสุดท้ายคูณจำนวนวันตามอายุงานตามมาตรา 118
ดังนั้นสมมุติว่าถ้าท่านไปเซ็นยินยอมลดเงินเดือนตัวเองลงในวันนี้แล้วอีก 3 เดือนข้างหน้าบริษัทหาเหตุเลิกจ้าง บริษัทก็จะจ่ายค่าชดเชยโดยคิดฐานค่าจ้างจากเงินเดือนใหม่ที่ลดลงไปจากเดิมซึ่งลูกจ้างก็จะเสียประโยชน์เพราะจะได้ค่าชดเชยลดลงครับ ดังนั้นจึงต้องคิดให้ดี ๆ ในเรื่องนี้
            ผมพูดมาถึงตรงนี้ก็คงขึ้นอยู่กับเจ้าของคำถามนี้แล้วว่า “ตกลงท่านจะเซ็นยินยอมลดเงินเดือนตัวเองดีหรือไม่” ล่ะครับ

…………………………………