วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558

บริษัทขอลดเงินเดือนลงหลังทดลองงานทำยังไงดี

            เรื่องที่ผมเอามาแชร์ในวันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นได้อยู่เสมอในองค์กรที่ยังไม่มีความเป็นมืออาชีพ และไม่มีหลักในการบริหารค่าตอบแทนที่ดี

            เรื่องก็มีอยู่ว่านส.วันดี (นามสมมุติ) สมัครเข้าทำงานในบริษัทแห่งหนึ่งโดยมีข้อตกลงกันว่าคุณวันดีต้องทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน จันทร์ถึงศุกร์ เวลาทำงาน 8.00-18.00 น. (วันละ 9 ชม.ทำงาน) หยุด 2 วันคือเสาร์-อาทิตย์ ได้รับเงินเดือนระหว่างทดลองงานเดือนละ 20,000 บาท (ทดลองงาน 120 วัน) หลังทดลองงานจะปรับขึ้นให้เป็น 22,000 บาท แล้วแต่ผลการทำงานในระหว่างทดลองงาน

            คุณวันดีก็ตกลงรับเงื่อนไขเข้าทำงาน

            แต่พอทำงานผ่านไป 1 เดือนเศษ ๆ  ผู้บริหารก็เรียกคุณวันดีไปพบและบอกว่าอยากจะขอให้คุณวันดีลดเงินเดือนลงเหลือเดือนละ 18,000 บาท และเพิ่มวันทำงานเป็นให้มาทำงานในทุกวันเสาร์เต็มวันอีกต่างหาก โดยให้เหตุผลว่าคุณวันดียังทำงานไม่ได้อย่างที่คุยกันไว้ และบริษัทมีความจำเป็นต้องให้พนักงานทุกคนมาทำงานในวันเสาร์เพิ่มขึ้นไม่ใช่เฉพาะคุณวันดีคนเดียว

            คุณวันดีแกก็คงจะงงสตั๊นท์ไปพักหนึ่งแหละครับ แกก็เลยขอฝ่ายบริหารกลับมาตั้งสติก่อนจะไปให้คำตอบอีกครั้งว่าจะโอเคตามที่ผู้บริหารขอดีหรือไม่

            ถ้าท่านเป็นคุณวันดีท่านจะตัดสินใจยังไงครับ ?

            ก่อนตัดสินใจผมขอชี้ประเด็นที่สำคัญในเรื่องนี้ก่อน....ดังนี้ครับ

1. การลดค่าจ้างลงโดยลูกจ้างไม่ได้ยินยอมถือเป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างซึ่งผิดกฎหมายแรงงาน ตามพรบ.แรงงานสัมพันธ์มาตรา 20 “เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับแล้ว ห้ามมิให้นายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า”
2. การขอเพิ่มวันทำงานจากสัปดาห์ละ  5 วันมาเป็นสัปดาห์ละ 6 วัน นั้น นอกจากจะผิดกฎหมายแรงงานตามข้อ 1 แล้ว ยังทำให้ชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ละ 45 ชั่วโมง (ทำงาน 5 วัน ๆ ละ 9 ชั่วโมงไม่รวมเวลาพักกลางวัน 1 ชั่วโมง) มาเป็นสัปดาห์ละ 54 ชั่วโมง ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้ตามมาตรา 23 ต้องไม่เกินสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง

            เมื่อคุณวันดีรู้อย่างงี้แล้วก็อยู่ที่ตัวของแกเองนะครับว่ายังอยากจะอยู่กับบริษัทที่มีการบริหารจัดการแบบ “ตามใจฉัน” และเอาเปรียบพนักงานอย่างนี้ต่อไปหรือไม่ หรือคุณวันดีจะไปหาบริษัทที่มีการบริหารค่าตอบแทนที่ชัดเจนไม่ชักเข้าชักออกเหมือนบริษัทนี้จะดีกว่า

            เพราะนี่ขนาดยังเพิ่งทำงานมาได้แค่เดือนเดียวยังทดลองงานอยู่ ผู้บริหารยังออกลายมาขนาดนี้แล้วถ้าเป็นพนักงานประจำต่อไปจะถูกเอาเปรียบเรื่องอื่นอีกหรือไม่ก็คงต้องไปเล่นเกมวัดดวงกันผู้บริหารบริษัทนี้กันอีกในอนาคตมั๊งครับ

             เรื่องที่ผมเล่ามานี้ยังมีให้เห็นได้อยู่เป็นประจำในบริษัทที่มีผู้บริหารที่ไม่เคยเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานเลยว่าอะไรบ้างที่ทำไปแล้วจะผิดกฎหมายแรงงาน

ซึ่งในมุมมองของผม ๆ ว่าผู้บริหารในระดับต่าง ๆ ของบริษัทควรจะต้องหันมาเห็นความสำคัญและให้ความสนใจกับเรื่องเหล่านี้ เพื่อจะได้รู้ว่าอะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ เพราะถ้าผู้บริหารทำอะไรที่ผิดกฎหมายแรงงานอย่างนี้ในยุคนี้เป็นยุคของโลกออนไลน์แล้วนะครับ บริษัทของท่านก็จะถูกนำขึ้นมาโพสให้สาธารณะเขาได้รับรู้ว่าผู้บริหารของบริษัทปฏิบัติอะไรที่ผิดกฎหมายแรงงานกับพนักงานบ้าง ซึ่งจะทำให้บริษัทเสียภาพลักษณ์ชื่อเสียงและจะแก้ไขกลับคืนมาก็ยาก

            ดังนั้น ถ้าผู้บริหารในระดับต่าง ๆ ของบริษัทจะสนใจศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานในปัจจุบันก็ไม่ใช่เรื่องยาก  เพียงแต่ท่านพิมพ์สิ่งที่ต้องการรู้เข้าไปในกูเกิ้ล เช่น “ลดเงินเดือนพนักงานทำได้หรือไม่” ก็จะพอรู้แนวทางบ้างแล้ว หรือหาเวลาไปเข้าอบรมเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานบ้างก็จะทำให้ท่านเข้าใจเรื่องเหล่านี้ดีขึ้น

            อีกเรื่องหนึ่งคือสไตล์ในการบริหารจัดการแบบ “ตามใจฉัน” ฉันเป็นผู้บริหารจะทำยังไงกับลูกน้องก็ได้โดยไม่ต้องมีหลักการหรือมีคุณธรรมใด ๆ น่ะ ผมรับรองได้ว่าผู้บริหารประเภทนี้จะหาลูกน้องเก่ง ๆ มีฝีมือมาทำงานอยู่ด้วยยาก หรือแม้มาอยู่ด้วยไม่นานก็มักจะลาออกไป จะมีเหลือก็เพียงลูกน้องที่ไม่มีที่จะไปและยอมรับการบังคับบัญชาแบบอำนาจนิยมได้ก็อยู่ไปแบบวัน ๆ ในที่สุดทั้งผู้บริหารและบริษัทนั้น ๆ ก็จะไม่มีศักยภาพที่ดีขึ้นและเสียความสามารถในการแข่งขันไปในที่สุดครับ


……………………………….