วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เกร็ดความรู้กฎหมายแรงงาน (ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ ?)


            องค์กรมีกฎระเบียบ ประเทศชาติก็ต้องมีกฎหมายถ้าใครจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายแล้วก็ทำผิดกฎหมายก็ไม่ได้ใช่ไหมครับ วันนี้ผมก็จะพาท่านมาสู่เรื่องของกฎหมายแรงงานซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายใกล้ตัวของคนทำงานทุกคนไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างพนักงานไปจนกระทั่งผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการที่ควรรู้แล้วก็ควรจะปฏิบัติให้ถูกต้องเพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง

            วันนี้เรามาลองทดสอบความรู้ในเรื่องกฎหมายแรงงานกันดูไหมครับว่าท่านมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน

            เรามาเริ่มกันเลยนะครับ

          ให้ท่านอ่านข้อความแต่ละข้อและกาเครื่องหมาย “ถูก” หน้าข้อที่ท่านคิดว่าถูก และกาเครื่องหมาย “ผิด” หน้าข้อที่ท่านคิดว่าผิด

1.      สภาพการจ้างงานเกิดได้ด้วยการทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเท่านั้น ถ้าไม่มีสัญญาจ้างก็ไม่ถือว่าเกิดสภาพการจ้าง ลูกจ้างจะไปฟ้องร้องอะไรไม่ได้

2.      เมื่อรับผู้สมัครงานเข้าทำงานไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งใดก็ตาม บริษัทสามารถแจ้งให้พนักงานใหม่วางเงินค้ำประกันความเสียหาย ถ้าพนักงานหาเงินค้ำประกันไม่ได้ก็ให้หาคนค้ำประกันการทำงานแทน

3.      กฎหมายแรงงานระบุให้บริษัทสามารถทดลองงานพนักงานเข้าใหม่ได้ไม่เกิน 120 วัน

4.      หากพนักงานทดลองงานทำงานไม่เป็นที่น่าพอใจและอายุงานยังไม่เกิน 120 วัน บริษัทสามารถเลิกจ้างพนักงานทดลองงานได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า

5.      หากบริษัทเลิกจ้างพนักงาน บริษัทจะต้องจ่ายค่าจ้าง, ค่าล่วงเวลา, ค่าทำงานในวันหยุด, ค่าล่วงเวลาในวันหยุดภายใน 7 วันนับแต่วันที่บอกเลิกจ้าง

6.      หากบริษัททำสัญญาจ้างพนักงานชั่วคราวแบบมีระยะเวลาครั้งละ 1 ปี โดยจะต่อสัญญาหรือไม่ตาม หากผลงานไม่ดี บริษัทสามารถไม่ต่อสัญญาและเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และค่าบอกกล่าวล่วงหน้า เพราะเป็นเงื่อนไขในสัญญาจ้าง

7.      พนักงานชั่วคราวไม่จำเป็นต้องมีสวัสดิการให้เหมือนพนักงานประจำ เพราะเป็นพนักงานคนละประเภท

8.      พนักงานมีสิทธิลาป่วยได้ไม่เกิน 30 วันทำงาน

9.      พนักงาน Outsource ไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี

10.  บริษัทมีกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกสิ้นเดือน บริษัทแจ้งเลิกจ้างพนักงานเนื่องจากผลงานไม่ดีในวันที่ 1 กรกฎาคม โดยไม่ต้องมาทำงานในวันที่ 2 กรกฎาคมเป็นต้นไป บริษัทจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือนตามกฎหมาย

11.  พนักงานจะลาออกได้ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติตามระเบียบบริษัทเสียก่อน ถ้าบริษัทยังไม่อนุมัติแล้วพนักงานไม่มาทำงานในวันที่ระบุในใบลาออก ก็จะถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ถ้าเกินกว่า 3 วัน บริษัทสามารถเลิกจ้างพนักงานดังกล่าวโดยไม่จ่ายค่าจ้างได้

12.  วันเพ็ญได้รับเงินเดือน 12,000 บาท ได้รับค่าภาษาเดือนละ 3,000 บาทเนื่องจากเป็นเลขานุการต้องใช้ภาษาอังกฤษในการทำงาน ค่าล่วงเวลาของวันเพ็ญจะคิดจากฐานเงินเดือน 12,000 บาท ส่วนค่าภาษาไม่ต้องนำมารวมเพราะค่าภาษาไม่ใช่เงินเดือน

เป็นยังไงบ้างครับ....ท่านกาเครื่องหมายถูกไปกี่ข้อ และกาเครื่องหมายผิดไปกี่ข้อ ?

ลองมาดูเฉลยกันดังนี้นะครับ

1.      ผิด : สภาพการจ้างเกิดขึ้นได้แม้ไม่มีสัญญาจ้าง การกวักมือเรียกให้มาทำงาน, การพูดด้วยวาจาเชิญชวนให้มาทำงานก็ถือว่าเกิดสภาพการจ้างขึ้นแล้วครับ

2.      ผิด : นายจ้างจะให้ลูกจ้างต้องวางเงินค้ำประกันได้ก็ต่อเมื่อเป็นงานที่มีลักษณะหรือสภาพการทำงานที่ลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้างที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้เท่านั้น ไม่ใช่เรียกเงินค้ำประกันได้ทุกตำแหน่งนะครับ

3.      ผิด : ไม่มีมาตราไหนในกฎหมายแรงงานที่ระบุให้มีการทดลองงาน 120 วันเลยนะครับ เพียงแต่ในมาตรา 118 พูดถึงเรื่องการจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานหากลูกจ้างทำงานตั้งแต่ 120 วันแต่ไม่ครบ 1 ปี หากนายจ้างจะเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดทางวินัยที่เป็นกรณีร้ายแรง หากจะเลิกจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน ก็เลยทำให้บริษัทต่าง ๆ นำมากำหนดเป็นระยะเวลาทดลองงานเพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายในกรณีที่ลูกจ้างไม่ผ่านทดลองงานยังไงล่ะครับ

4.      ผิด : การเลิกจ้างพนักงานทดลองงานเพราะเหตุว่าทำงานไม่ดี ไม่ว่าจะทำงานมากี่วันก็ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าครับ

5.      ผิด : จะต้องจ่ายภายใน 3 วันนับแต่วันเลิกจ้างครับ (ตามมาตรา 70)

6.      ผิด : เพราะสัญญาทำนองนี้คือสัญญาจ้างที่ไม่มีระยะเวลานั่นเอง ดังนั้นจึงต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน (ตามมาตรา 118) ครับ

7.      ผิด : ลูกจ้างที่ทำงานมาตั้งแต่ 120 วันไปแล้วทางกฎหมายแรงงานถือว่าเป็น “ลูกจ้าง” โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างรายเดือน จะมีแต่คำว่า “ลูกจ้าง” เท่านั้น ดังนั้นบริษัทก็จะต้องจัดให้มีสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเหมือนกันครับ

8.      ผิด : พนักงานสามารถลาป่วยได้ตามที่ป่วยจริง แต่นายจ้างสามารถจ่ายค่าจ้างให้ไม่เกิน 30 วันทำงาน (จะจ่ายเกิน 30 วันทำงานได้นะครับแต่น้อยกว่านี้ไม่ได้)

9.      ผิด : ตามมาตรา 11/1 ลูกจ้าง Outsource ที่ทำงานเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ว่าจ้าง (ผู้ประกอบกิจการ) บริษัทผู้ว่าจ้างก็จะต้องจัดให้ลูกจ้าง Outsource ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเหมือนกับลูกจ้างของตนเองอย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ ดังนั้นลูกจ้าง Outsource จึงมีสิทธิในเรื่องวันหยุดพักผ่อนประจำปีเมื่อทำงานมาแล้วครบ 1 ปีครับ

10.  ผิด : เพราะการบอกกล่าวล่วงหน้าจะต้องบอก ณ วันจ่ายค่าจ้างเพื่อให้มีผลในรอบการจ่ายค่าจ้างถัดไป ในกรณีนี้จ่ายค่าจ้างทุกสิ้นเดือน แต่ไปบอกเลิกจ้างเอาในวันที่ 1 กรกฎาคม ก็เสมือนกับไปบอกเอา ณ วันที่ 31 กรกฎาคมซึ่งจะมีผลในรอบการจ่ายค่าจ้างถัดไปคือวันที่ 31 สิงหาคม เมื่อบอกให้ลูกจ้างไม่ต้องมาทำงานในวันที่ 2 กรกฎาคม นายจ้างก็จะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าในเดือนกรกฏาคม 1 เดือน และรอบการจ่ายค่าจ้างถัดไปคือ 31 สิงหาคมอีก 1 เดือน ดังนั้นจึงต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 2 เดือนถึงจะถูกต้องครับ

11.  ผิด : พนักงานจะลาออกเมื่อไร หากระบุวันที่มีผลไว้ในใบลาออกก็จะมีผลในวันนั้นไม่จำเป็นต้องให้บริษัทอนุมัติแต่อย่างใด เพราะถือว่าลูกจ้างไม่ประสงค์จะทำงานกับนายจ้างอีกต่อไป แม้บริษัทจะมีกฎระเบียบว่าจะต้องยื่นใบลาออกล่วงหน้าก็ตาม แต่ถ้าพนักงานแจ้งระบุวันที่ลาออกวันไหนก็จะมีผลตามที่ระบุในใบลาออกทันที (แต่พนักงานที่ดีก็ควรจะทำตามกฎระเบียบของบริษัทนะครับ)

12.  ผิด : ค่าจ้างของวันเพ็ญคือ 12,000+3,000 = 15,000 บาท ดังนั้นฐานค่าจ้างในการคำนวณค่าล่วงเวลาคือ 15,000 บาท ถึงจะถูกต้องครับ เพราะค่าภาษาเป็น “ค่าจ้าง” เนื่องจากเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามมาตรา 5 ครับ

เป็นยังไงบ้างครับ หากท่านใดกา “ผิด” หมดทุกข้อก็แสดงว่าท่านมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานดีพอสมควรเลยนะครับ และท่านควรจะศึกษาหาความรู้ในเรื่องนี้ไว้บ้างไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารหรือพนักงานก็ตาม

          เพราะใครจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้....จริงไหมครับ ?



…………………………………………….