เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมต้องใช้บริการรถไฟฟ้า BTS เพื่อเข้าเมืองไปทำธุระก็เจอเรื่องที่น่าจะเป็นข้อคิดในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลบนรถไฟฟ้ามาเล่าสู่กันฟังเผื่อจะเป็นประโยชน์นะครับ
บนรถ
BTS ตู้ที่ผมนั่งอยู่มีคนนั่งเต็มทุกที่นั่งและมีคนยืนอยู่ในตู้นี้ประมาณ 8-9
คนซึ่งก็ไม่ได้แน่นมากนักเพราะเป็นเวลากลางวันของวันธรรมดา
เมื่อถึงสถานีหนึ่งมีคุณแม่พาลูกชายวัย 8-9 ขวบขึ้นมาบนรถ
พอขึ้นมาบนรถแล้วลูกชายของคุณแม่ก็ตรงรี่เข้ามาชี้ตรงผู้หญิงวัยกลางคนที่นั่งข้าง
ๆ ผม
(ซึ่งเธอมีกระเป๋าเดินทางแบบลากใบใหญ่และกระเป๋าสะพายใบเขื่องวางอยู่บนกระเป๋าลากอีกทีหนึ่ง)
พร้อมทั้งส่งเสียงดังว่า “จะนั่งตรงนี้..จะนั่งตรงนี้”
ฝ่ายคุณแม่ก็เหลือบตามองดูลูกชายแว๊บเดียวก็ดึงโทรศัพท์มือถือขึ้นมาไถไปมาแบบไม่สนใจอะไรมากไปกว่าการไถโทรศัพท์
ฝ่ายผู้หญิงที่นั่งข้าง ๆ ผมก็เลยต้องลุกขึ้นลากกระเป๋าให้เด็กนั่ง
ส่วนเด็กคนนี้ก็กระโดดขึ้นมานั่งและปีนเก้าอี้และร้องเพลงโดยคุณแม่ก็ยังคงเพลินกับการไถโทรศัพท์ต่อไป
ไม่มีแม้แต่การขอบคุณสักคำเดียวจากคุณแม่หรือแม้แต่จะสอนให้ลูกรู้จักขอบคุณคนที่เขาเสียสละที่นั่งให้กับตัวเองทั้ง
ๆ ที่คนที่เสียสละก็มีข้าวของพะรุงพะรัง
แถมเมื่อลูกของตัวเองปีนเก้าอี้และร้องเพลงเสียงดังรบกวนคนที่นั่งข้าง
ๆ คุณแม่ก็ไม่ได้คิดจะบอกกับลูกหรือสอนให้ลูกรู้ว่ามารยาทในที่สาธารณะควรเป็นยังไง
แต่กลับไปให้ความสำคัญกับการไถโทรศัพท์มากกว่า
ตรงนี้แหละครับที่ผมเอามาเป็นข้อคิดว่าหลายครั้งที่องค์กรส่งพนักงานเข้าอบรมเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนก็จะเกิดประเด็นว่าไม่ได้ช่วยปรับพฤติกรรมของพนักงานให้ดีขึ้น
หรือแม้แต่หลายครั้งที่ผมเป็นกรรมการวินัยสอบสวนการทำความผิดของพนักงานแล้วพบว่าแม้บริษัทออกหนังสือตักเตือนแล้วก็ยังฝ่าฝืนทำความผิดซ้ำเดิมอีก
เช่น อยากได้ต้องได้ (กรณีลักขโมย) หรืออยากทำอะไรตามใจตัวเองก็จะทำอย่างนั้นโดยไม่สนใจว่าสิ่งที่ทำจะถูกหรือผิดหรือจะมีผลอะไรต่อไป
(เช่น การมาสาย, ขาดงาน)
เหมือนคำพังเพยที่ว่า
“ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” ครับ
ผมไม่รู้ว่าอนาคตของเด็กคนนี้เมื่อเติบโตต่อไปจะมีพฤติกรรมต่อไปเป็นยังไง
รู้แต่ว่าเรื่องที่เล่าให้ฟังนี้คงจะทำให้คนที่เป็นพ่อเป็นแม่คนที่อยากเห็นอนาคตลูกที่มีพฤติกรรมที่ดีต่อไปจะนำไปเป็นข้อคิดในการเลี้ยงดูลูกต่อไป
และผมยังเชื่อตามหัวข้อข้างต้นนี้ว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จำเป็นต้องเริ่มจากครอบครัวเสียก่อนครับ