วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2567

9 มายาคติเกี่ยวกับการลาป่วย

             เรื่องของการลาป่วยก็เป็นดราม่าของคนทำงานอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหายอดฮิตอยู่เสมอ ๆ ผมก็เลยรวบรวมมายาคติในเรื่องนี้มาคุยกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันตามนี้

1.      พนักงานมีสิทธิลาป่วยได้ตามที่ “ป่วยจริง” ไม่ใช่ลาป่วยได้ 30 วัน ผมจะได้ยินได้ฟังอยู่เสมอแบบปากต่อปากว่าพนักงานมีสิทธิลาป่วยได้ปีหนึ่งไม่เกิน 30 วัน ก็ต้องบอกอีกครั้งว่าไม่ใช่นะครับ

ถ้าพนักงาน “ป่วยจริง” เช่น ป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบต้องนอนพักรักษาตัว 2 เดือนก็ต้องให้พนักงานลาป่วยตามที่ป่วยจริงครับ ส่วนเรื่องของ 30 วันคือบริษัทจะต้องจ่ายค่าจ้างให้ไม่น้อยกว่า 30 วันทำงาน (ตรงนี้แหละครับที่มักจะทำให้เกิดความสับสนกันไปว่าให้ลาป่วยได้ไม่เกิน 30 วัน) แต่ถ้าพนักงานลาป่วยจริงมากกว่า 30 วันทำงานแล้วบริษัทจะจ่ายค่าจ้างให้มากกว่านั้นก็ไม่ว่ากัน

2.      ถ้าพนักงานเจ็บป่วยเนื่องมาจากการทำงานบริษัทจะนำเข้าไปรวมกับสิทธิลาป่วยไม่ได้ เช่น แก๊สในสายการผลิตรั่วพนักงานสูดดมเข้าไปแล้วต้องไปนอนแอดมิทที่โรงพยาบาล 2 วัน ก็ต้องถือเป็นการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ไม่เกี่ยวกับสิทธิลาป่วยตามปกติจึงจะเอา 2 วันนี้เข้าไปรวมกับสิทธิลาป่วยตามปกติไม่ได้นะครับ

3.      ถ้าพนักงานลาป่วยตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปแล้วไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดง บริษัทจะไม่อนุญาตให้พนักงานลาป่วย อันนี้ก็ผิดนะครับ เพราะมาตรา 32 เปิดโอกาสให้พนักงานชี้แจงได้ถ้าหากไม่มีใบรับรองแพทย์ ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่พนักงานป่วยจริงแต่ไม่มีเงินไปหาหมอแล้วนอนพักอยู่ที่บ้าน

ดังนั้นก็ต้องมาดูข้อเท็จจริงกันว่าพนักงาน “ป่วยจริง” หรือไม่ ถ้าพนักงานป่วยจริงก็ต้องให้พนักงานลาป่วย แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่าพนักงานไม่ได้ป่วยจริงบริษัทก็ถือว่าแจ้งป่วยเท็จและไม่อนุมัติให้ลาป่วยได้ครับ

4.      บริษัทจะออกระเบียบว่าจะรับใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่รับใบรับรองแพทย์จากคลีนิกและจะไม่อนุมัติให้ลาป่วยโดยถือว่าเป็นการขาดงาน แบบนี้ก็ทำไม่ได้ครับ เพราะถ้าพนักงานป่วยจริงและมีใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งไม่ว่าจะเป็นแพทย์คลินิกหรือโรงพยาบาลบริษัทก็ต้องรับและต้องให้พนักงานลาป่วยตามจำนวนวันที่ใบรับรองแพทย์กำหนด

5.      พนักงานลาป่วย 1-2 วันไม่ต้องแสดงใบรับรองแพทย์ บริษัทจะออกระเบียบว่าบริษัทจะอนุมัติการลาป่วยก็ต่อเมื่อพนักงานต้องเอาใบรับรองแพทย์มาให้เท่านั้นไม่ว่าจะลาป่วยกี่วันก็ตาม ถ้าไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดงบริษัทจะไม่อนุมัติการลาป่วยและถือเป็นขาดงาน ระเบียบแบบนี้ขัดกฎหมายแรงงานครับ

6.      การลาป่วยบ่อย การเจ็บป่วยเรื้อรังจนขาดสมรรถภาพในการทำงานตามปกติบริษัทสามารถเลิกจ้างได้ แต่ต้องจ่ายค่าชดเชยและถือเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม

7.      พนักงานที่แจ้งลาป่วยเท็จถือเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร (ก็คือไม่ได้ป่วยจริงนั่นแหละเช่นเมื่อคืนไปกินเหล้าเลิกตีสามแล้วแฮ๊งค์มาทำงานไม่ไหวก็เลยลาป่วย) ถ้าเกิน 3 วัน บริษัทอาจเลิกจ้างได้

8.      บริษัทจะออกระเบียบห้ามพนักงานลาป่วยก่อนและหลังวันหยุดไม่ได้ เช่น ห้ามพนักงานลาป่วยวันศุกร์ (หยุดเสาร์-อาทิตย์) และวันจันทร์  หลักก็คือถ้าหากพนักงานป่วยจริงวันใดก็ต้องอนุมัติให้ลาป่วยตามที่ป่วยจริงครับ

9.      บริษัทสามารถพิสูจน์การลาป่วยเท็จของพนักงานได้ด้วยการไปเยี่ยมหรือหาหลักฐานอื่นประกอบได้ แทนที่จะดูจากใบรับรองแพทย์เพียงอย่างเดียว ถ้าลูกน้องมีพฤติกรรมลาป่วยที่ชวนสงสัยคนที่เป็นหัวหน้าก็ควรจะต้องไปดูลูกน้องบ้างว่าเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นยังไงอาการมากน้อยแค่ไหน ป่วยจริงหรืออู้งานจะได้มีหลักฐานชัดเจนว่าป่วยจริงหรือป่วยปลอม

หวังว่าที่แชร์มา 9 เรื่องนี้น่าจะทำให้ทั้งคนที่เป็นหัวหน้าและคนที่เป็นลูกน้องเข้าใจตรงกันเรื่องการลาป่วยและลดปัญหาในเรื่องนี้ลงได้บ้างนะครับ

.........................