วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2567

วันหยุดวันลาและโอทีไม่ใช่สวัสดิการ

             มีคำพูดหนึ่งที่เป็นประโยคทองคือ “ประชาชนจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้”

            คนทำงานก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นนายจ้างหรือลูกจ้าง จะเป็นผู้บริหารหรือพนักงานทุกระดับก็ควรจะต้องมีความรู้กฎหมายแรงงานด้วย ไม่ใช่จะรู้กฎหมายแรงงานแต่เฉพาะคนที่ทำงาน HR เพียงฝ่ายเดียวจริงไหมครับ

            แต่ในความเป็นจริงแล้วผมก็พบว่าคนยังไม่รู้กฎหมายแรงงานยังมีอยู่เยอะไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหารหรือเป็นพนักงานก็ตาม มันก็เลยทำให้รู้สึกแย้ง ๆ กับประโยคทองข้างต้นดีเหมือนกันนะครับ

            แถมพอไม่รู้กฎหมายแรงงานก็จะทำให้เกิดปัญหาแรงงานสัมพันธ์ในองค์กรตามมาเป็นดราม่ามหากาพย์กันในหลายบริษัทตั้งแต่ปัญหาแบบเบา ๆ ไปจนถึงต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาล

            อย่างวันนี้ผมก็ขอยกตัวอย่างความไม่รู้กฎหมายแรงงานมาสักเรื่องหนึ่งที่เจอมาก็คือ

พอผมถามพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งว่า..ที่บริษัทมีสวัสดิการอะไรบ้าง?

คำตอบคือบริษัทเขามีสวัสดิการวันลาพักร้อน ลากิจ ลาป่วย โอที??

เดี๋ยว ๆ กำลังเข้าใจอะไรผิดอยู่หรือเปล่าเนี่ยะ ??

ก็เลยขอเอาเรื่องที่อธิบายพนักงานรายนี้มาเล่าสู่กันฟังว่า

1.      บริษัทจะมีการจ่ายค่าตอบแทนทางตรง เช่น เงินเดือน, ค่าครองชีพ, ค่าวิชาชีพ, ค่าภาษา, ค่ากะ, ค่าเบี้ยขยัน, ค่าตำแหน่ง, ค่าน้ำมัน ฯลฯ (ผมขอเรียกค่าตอบแทนอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากเงินเดือนว่า “สารพัดค่า” นะครับ)

ซึ่งค่าตอบแทนทางตรงทั้งหมดคือเงินเดือน+สารพัดค่านี้ HR อย่าลืมดูให้ดีด้วยนะครับว่าสารพัดค่าตัวไหนเป็น “ค่าจ้าง” ตัวไหนไม่ใช่ค่าจ้างเพื่อจะได้นำมาใช้เป็นฐานในการคำนวณสิทธิประโยชน์ให้กับพนักงานตามกฎหมายแรงงาน

2.      นอกจากค่าตอบแทนทางตรงตามข้อ 1 แต่ละบริษัทก็จะมี “สวัสดิการ” ให้กับพนักงานเพื่อช่วยเหลือชีวิตความเป็นอยู่รวมไปถึงเพื่อสร้างความผูกพันกับองค์กร เช่น การประกันสุขภาพ, ประกันชีวิต/อุบัติเหตุ, ค่าเช่าบ้าน, ค่าน้ำมัน, ค่าไฟฟ้า/น้ำประปา, เงินช่วยเหลือบุตร, เงินช่วยเหลือการแต่งงาน, เงินช่วยเหลือค่าทำศพ, การตรวจสุขภาพประจำปี ฯลฯ

ซึ่งแต่ละบริษัทก็ควรจะต้องมีระเบียบเกี่ยวกับการให้สวัสดิการที่ชัดเจนเพื่อให้มีการปฏิบัติเป็นไปตามเงื่อนไขของสวัสดิการนั้น ๆ

ส่วนวันลาพักร้อนและวันลาประเภทต่าง ๆ เช่น ลาป่วย, ลากิจ, ลาคลอด, ลาทำหมัน ฯลฯ และค่าโอทีไม่ใช่สวัสดิการนะครับ

วันหยุดทั้ง 3 ประเภทคือวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี (ที่เรามักจะเรียกกันว่า “วันลาพักร้อน” นั่นแหละ) เป็นสิทธิของลูกจ้างที่นายจ้างจะต้องเป็นผู้กำหนดให้ลูกจ้างหยุดล่วงหน้าตามกฎหมายแรงงาน

ส่วนวันลาประเภทต่าง ๆ เช่น ลาป่วย, ลากิจ, ลาคลอด, ลาทำหมัน, ลาเรียกระดมพล, ลาเพื่อฝึกอบรม ลูกจ้างมีสิทธิลาได้ตามกฎหมายแรงงานตามข้อบังคับการทำงาน

ดังนั้นทั้งวันหยุดและวันลาเหล่านี้จึงไม่ใช่สวัสดิการ

สำหรับค่าโอทีก็เป็นเรื่องที่หัวหน้าสั่งให้ลูกน้องทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด หรือทำงานล่วงเวลาในวันหยุด โดยลูกน้องต้องยินยอมที่จะทำโอทีและเมื่อลูกน้องทำโอทีแล้วบริษัทก็ต้องจ่ายค่าโอทีให้ตามกฎหมายแรงงาน

ค่าโอทีจึงไม่ใช่สวัสดิการครับ

มาถึงตรงนี้ก็เชื่อว่าจะเห็นความแตกต่างระหว่างสวัสดิการกับวันหยุด วันลา และโอทีชัดเจนเข้าใจตรงกันทั้งผู้บริหารและพนักงานแล้วนะครับ

..............................