ถ้าจะถามว่าปัญหาของคนทำงานทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าหรือลูกน้องคือเรื่องใด?
คำตอบจากฝั่งลูกน้องมักจะเป็น....
หัวหน้าไม่ยอมรับฟัง, มีวาจาเป็นอาวุธมีดาวพุธเป็นวินาศ,
จุดเดือดต่ำฟิวส์ขาดง่าย, อารมณ์ร้ายชอบโวยวายเสียงดัง,
พูดอย่างทำอย่าง ทุกเรื่องเป็นเรื่องยากไปหมด, คิดว่าลูกน้องไม่ได้เรื่องสักคน ฯลฯ
คำตอบจากฝั่งหัวหน้ามักเป็น....
ลูกน้องมีพฤติกรรมกระด้างกระเดื่อง, เวลาสั่งงานชอบชักสีหน้า,
ไม่รับผิดชอบงาน, เกเร, อู้งาน,
ไม่อยู่คุมงานก็จะผิดพลาดเสมอ ๆ, ชอบจับกลุ่มนินทาว่าร้ายบริษัท
ฯลฯ
สังเกตไหมครับว่าปัญหาหลักของทั้งหัวหน้าหรือลูกน้องมักจะเป็นปัญหาทัศนคติหรืออีคิวมากกว่าปัญหาการขาดความรู้ทักษะในการทำงาน
ถ้าขาดความรู้ทักษะในการทำงาน
ใช้เวลาไม่นานนักก็น่าจะพัฒนาให้เก่งได้
แต่ถ้าขาดทัศนคติหรืออีคิวที่เหมาะสมในการทำงานล่ะ
จะต้องใช้เวลานานแค่ไหนในการพัฒนาให้ดีขึ้น?
เรามักไม่ค่อยมีปัญหาจากหัวหน้าหรือลูกน้องในทำนองที่ว่าไม่รู้งาน
ไม่มีความสามารถในการทำงาน
เพราะถ้าใครยังขาดความรู้ขาดทักษะในการลงมือทำงานเรายังสามารถส่งไปฝึกอบรม, สอนงาน,
OJT หรือหาวิธีการพัฒนาทั้งหัวหน้าและลูกน้องที่ยังขาดความรู้ทักษะในงานได้
ใช้เวลาไม่นานนักก็สามารถพัฒนาได้
แต่ถ้าหัวหน้าหรือลูกน้องมีปัญหาเรื่องของทัศนคติหรืออีคิวล่ะเราจะแก้ปัญหาในเรื่องนี้ยังไง
จะใช้เวลานานแค่ไหนเมื่อเทียบกับการแก้ปัญหาเรื่องขาดความรู้ทักษะในงาน
คงไม่ตอบว่าส่งคนที่มีปัญหาทัศนคติเหล่านี้ไปเข้าอบรมหลักสูตรประเภทการสร้างทัศนคติที่เป็นเลิศ
หรือหลักสูตรอีคิวหรือสารพัดคิวนะครับ
เพราะหลักสูตรฝึกอบรมไม่ใช่บ่อชุบตัวสังข์ทองที่จะเปลี่ยนทัศนคติหรืออีคิวของคนมีปัญหาได้แบบพลิกฝ่ามือ!
การคัดเลือกคนเข้าทำงานจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องทัศนคติและอีคิวของของผู้สมัครเป็นหลัก
ส่วนความรู้และทักษะในงานเป็นเรื่องถัดมา
การเตรียมคำถาม (Structured
Interview) เกี่ยวกับทัศคติและอีคิวประกอบกับการสังเกตภาษากายและการโต้ตอบของผู้สมัครให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจรับเข้ามาทำงานจะเป็นเครื่องมือตัวหนึ่งในการคัดเลือกคนที่
“ใช่”
ดีกว่าการถามแบบจิตสัมผัส (Unstructured
Interview) โดยไม่เตรียมอะไรเลยครับ