วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2567

จริงหรือที่เรื่องของคนก็ต้องให้ฝ่ายบุคคลดูแล?

              การที่องค์กรแต่งตั้งให้ใครเป็นหัวหน้างานนั้น ก็หมายความว่าคน ๆ นั้นย่อมจะมีคุณสมบัติต่าง ๆ ที่ดีเหนือกว่าคนอื่นในระดับเดียวกัน ผู้บริหารระดับสูงเขาถึงไว้วางใจแต่งตั้งขึ้นมาให้ดูแลรับผิดชอบงาน และทีมงาน

          เมื่อพูดถึง “ทีมงาน” ก็ประกอบด้วยสองส่วนหลัก ๆ คือหัวหน้าทีมงานกับสมาชิกในทีมงาน หรือพูดง่าย ๆ ว่าประกอบด้วยหัวหน้ากับลูกน้องนั่นเอง

            หัวหน้างานย่อมจะต้องมีหน้าที่บริหารงานในทีมงานทุกเรื่องด้วยความรับผิดชอบ ซึ่งหมายความรวมถึงการบริหาร “คน” ในทีมงานด้วยครับ!

            นั่นคือ หากลูกน้องอู้งาน, ป่วยไม่จริง, มาสายเป็นนิจ, ลากิจเป็นประจำ, ไม่สนใจทำงาน, คอยแต่จะระรานทะเลาะวิวาท ฯลฯ 

           หัวหน้าก็ย่อมต้องมีหน้าที่โดยตรงในการว่ากล่าวตักเตือนลูกน้องเพื่อให้เขาได้สติและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่

            ถ้าหัวหน้าไม่บริหารจัดการลูกน้องของตัวเอง แล้วจะให้ใครมาจัดการล่ะครับ?

            ยังมีองค์กรอีกไม่น้อยเลยนะครับ ที่ผู้บริหารระดับสูงเช่นกรรมการผู้จัดการ หรือ CEO กลับมองว่าเรื่องการบริหารงานบุคคลเป็นเรื่องของฝ่ายทรัพยากรบุคคล ด้วยเหตุผลง่าย ๆ เพียงว่า “เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคน” เท่านั้น !!??

            ซึ่งองค์กรเหล่านั้นก็จะบอกให้ฝ่ายบุคคลมีหน้าที่คล้าย ๆ กับตำรวจกองปราบในการสอดส่องดูแลการประพฤติปฏิบัติตัวของพนักงานทุกคนในองค์กร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานในระดับปฏิบัติการหรือระดับล่าง) ว่าใครทำตัวผิดกฎระเบียบวินัยขององค์กรบ้างหรือไม่, ใครป่วย สาย ลา ขาดงานบ้างหรือไม่

            บางองค์กรถึงขนาดว่าถ้าพนักงานจะลาพักร้อน (หรือเรียกให้ถูกว่าใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปี) ก็ยังต้องมาลาที่ฝ่ายบุคคลก็มี

            หากพนักงานคนใดทำตัวผิดระเบียบต่าง ๆ อย่างที่ผมบอกมาข้างต้นก็ให้ฝ่ายบุคคลมีอำนาจเรียกไปตักเตือนด้วยวาจา, ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร หรือเผลอ ๆ อาจจะลงโทษถึงขั้นพักงานหรือเลิกจ้างไปได้เสียด้วยอีกแน่ะ!

            ทำเป็นเล่นไป ผมเคยทำงานอยู่ในองค์กรที่กรรมการผู้จัดการมีวิธีคิดทำนองนี้อยู่ด้วยนะครับ คือจะบอกให้ผมซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลมีหน้าที่เรียกพนักงานที่ปฏิบัติตัวผิดกฎระเบียบของบริษัท 

            เช่น พนักงานหญิงที่ใส่กระโปรงสั้นไป ยาวไป แต่งหน้าทาปากจัดจ้านเกินไป หรือพนักงานชายที่ไว้หนวดเครามากเกินไป ผมเผ้ายาวรุงรัง ไม่ติดป้ายชื่อ ไม่สวมใส่อุปกรณ์ความปลอดภัยเช่นหน้ากากหรือใส่หมวกนิรภัยตามระเบียบ 

            ตลอดจนพนักงานที่มาทำงานสายหรือขาดงานบ่อย ๆ มาตักเตือนได้ทันที เหมือนกับผมเป็นหัวหน้าของพนักงานทั้งบริษัท

            เพราะ MD แกอ้างว่าเป็นเรื่องของคน คุณก็เป็นฝ่ายทรัพยากรบุคคลก็ต้องดูแลรับผิดชอบเรื่องคนซึ่งถือเป็นหน้าที่ของฝ่ายบุคคลโดยตรง

            แปลกไหมครับ? ก็พี่แกเล่นคิดง่าย ๆ ว่าฝ่ายบุคคลก็ต้องดูแลเรื่องของคนหมดทุกเรื่อง!!

            แล้วถ้างั้นหัวหน้างานในระดับต่าง ๆ ของแต่ละหน่วยงานเขาไม่ต้องรับผิดชอบอะไรที่เกี่ยวกับลูกน้องเขาบ้างเชียวหรือ ?

            แต่ผมก็บอก MD ไปว่าถ้าจะให้ผมเรียกพนักงานเหล่านั้นมาตักเตือนก็ได้ครับ แต่ท่านต้องแต่งตั้งให้ผมเป็นหัวหน้าของผู้จัดการฝ่ายทุกฝ่ายในบริษัทด้วยเพราะผมจะเรียกพวกผู้จัดการฝ่ายต่าง ๆ มาตักเตือนด้วยเช่นเดียวกันว่าคุณดูแลลูกน้องกันยังไงถึงได้ปล่อยปละละเลยจนทำให้ฝ่ายบุคคลต้องมาตักเตือนลูกน้องของคุณแบบข้ามหัวคุณไปอย่างนี้?

            ซึ่งก็ต้องมาทำความเข้าใจกับผู้บริหารระดับสูงให้เข้าใจว่า “ผู้จัดการฝ่ายบุคคลตัวจริงก็คือหัวหน้างานนั่นเอง” โดยต้องนั่งอธิบายกันจนแกยอมรับนั่นแหละครับ

            ซึ่งผมก็อธิบายง่าย ๆ ว่าหากท่านเป็นพ่อแม่คน สมมุติว่าลูกของท่านมีปัญหาเช่นเรียนไม่ดี สอบตก มีปัญหาความประพฤติที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ น่ะ 

           ใครควรจะเป็นคนอบรมสั่งสอนหรือตักเตือนลูก?

            จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครูกับโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียวโดยพ่อแม่ไม่ต้องมาสนใจกับลูกของตัวเองเลยใช่ไหมครับ ?

            ฉันใดก็ฉันนั้นหัวหน้างานก็ยังคงต้องคอยดูแลลูกน้องโดยมีฝ่ายบุคคลเป็นผู้ช่วยในการให้คำแนะนำ หรือช่วยเหลือในด้านอื่น ๆ เช่นเป็นคนที่คอยแนะนำว่าวิธีการตักเตือนที่ถูกต้องควรจะทำยังไง หนังสือตักเตือนที่ถูกต้องจะเป็นอย่างไรโดยฝ่ายบุคคลจะเป็นผู้จัดเตรียมไว้ให้

            ในระหว่างการตักเตือนพนักงานหากหัวหน้างานไม่มั่นใจหรือไม่แน่ใจ ฝ่ายบุคคลก็พร้อมจะช่วยเหลือเข้าไปเป็นพยานในห้องตักเตือนให้เสมอ

          แต่บทบาทหลักในการตักเตือนให้คุณให้โทษลูกน้องจะต้องเป็นหน้าที่ของหัวหน้างานไม่ใช่ปล่อยให้ฝ่ายบุคคลไปแย่งซีนหรือแย่งบทบาทการเป็นหัวหน้ามาทำเองเสมือนหนึ่งเป็นหัวหน้างานโดยตรงครับ

            อ่านมาถึงตรงนี้ท่านที่เป็นหัวหน้างานน่าจะมีความชัดเจนแล้วว่าท่านคือผู้จัดการฝ่ายบุคคลตัวจริงนะครับ

             ถ้าหัวหน้าคนไหนไม่กล้าตักเตือนลูกน้องที่ทำผิดก็ไม่ควรเป็นหัวหน้า!

             หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งว่าควร Promote คนขึ้นเป็นหัวหน้าเมื่อเขาพร้อม ไม่พร้อมอย่า Promote ครับ

                                    .........................

วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2567

ผู้นำที่ประสบความล้มเหลว

 1.      มีความหยิ่งทะนงตน (Arrogance) คิดว่าตัวเองถูกและคนอื่นผิดอยู่เสมอ วางตัวไว้สูงกว่าคนอื่นและมองว่าลูกน้องเป็นคนที่ต่ำกว่าตัวเอง

2.      คิดว่าตนเองเป็นจุดรวมของความสนใจของผู้คนรอบข้าง (Melodrama) ทุกคนจะต้องมาสนใจ มาเอาใจฉัน

3.      อารมณ์ไม่คงที่ ขึ้น ๆ ลง ๆ (Volatility) แกว่งไปแกว่งมา เช้าก็อารมณ์หนึ่ง บ่ายอีกอารมณ์หนึ่ง เหมือนอารมณ์ผีเข้าผีออก เดี๋ยวองค์ลงเดี๋ยวองค์ออก หรือจะเรียกว่ามีอารมณ์ผันผวนแบบวัยทองก็ได้มังครับ ลูกน้องจะเข้าไปพบต้องดูทิศทางลมให้ดีเสียก่อนเพราะกลัวอารมณ์ไม่แน่นอนของหัวหน้าแบบนี้แหละครับ

4.      กลัวการตัดสินใจ (Excessive cautions) เวลาจะตัดสินใจมักจะใช้เวลาคิดมากจนเกินเหตุ เพราะกลัวว่าถ้าตัดสินใจไปแล้วผิดพลาดตัวเองจะต้องรับผลนั้น ก็เลยมักจะยื้อและซื้อเวลาไม่กล้าตัดสินใจจนลูกน้องเอือมระอา ไม่รู้ว่าพี่จะเอายังไงกันแน่ ซึ่งแหงล่ะครับ ถ้าหน่วยงานไหนมีหัวหน้าแบบนี้คงไม่ต้องสงสัยว่างานแทบทั้งหมดจะต้องเข้าไปกองรอการตัดสินใจของหัวหน้าเป็นตั้ง ๆ เลยครับ

5.      มองแต่เรื่องร้ายมากกว่าเรื่องดี (Habitual Distrust) คิดแต่เรื่องที่เป็นลบ มองไปที่งานใดก็จะคิดแต่เรื่องไม่ดีไว้ก่อน จะเรียกว่ามองโลกในแง่ร้ายก็ได้นะครับ

6.      ไม่ผูกสัมพันธ์กับใคร หรือไม่ติดต่อคบค้าสมาคมกับใคร (Aloofness) เป็นคน Self จัดอีโก้สูง ผู้นำประเภทนี้อาจจะเป็นผู้นำประเภท มั่น มาก ๆ ประเภท ข้าแน่ มองคนรอบตัวด้อยกว่าไปหมด ก็เลยไม่เห็นความสำคัญหรือความจำเป็นที่จะต้องไปคบใครหรือจะต้องไปผูกสัมพันธ์กับใคร

7.      เชื่อว่ากฎระเบียบถูกสร้างมาให้ถูกทำลาย (Mischievousness) ผู้นำประเภทนี้มักจะเชื่อว่าเขาสามารถจะทำลายสิ่งใดได้เสมอ (ถ้าเขาไม่พอใจมันขึ้นมา) ก็เลยมักจะตัดสินใจทำอะไรที่แหกกฎแหวกระเบียบเอาง่าย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวนะครับสำหรับผู้นำประเภทนี้ เพราะเขาพร้อมจะสร้างกฎใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการของตนเองซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะถูกไปเสียทุกเรื่องเสียเมื่อไหร่ล่ะครับ

8.      มีความคิดแบบประหลาด ๆ พิเรนทร์ ๆ  (Eccentricity)  เพื่อคุยว่าตนเองแตกต่างจากคนอื่น แต่โดยแท้ที่จริงแล้วความแตกต่างนั้นไม่ได้มีนัยยะอะไรที่สำคัญที่จะอ้างได้เลย เรียกได้ว่าเป็นผู้นำประเภทที่ตีฆ้องร้องป่าวว่า ฉันแตกต่าง แต่พอถามความเห็นของคนที่เข้ามามุงดูแล้วกลับบอกว่า ก็เพียงเหล้าเก่าในขวดใหม่เท่านั้น....

            ลองคิดดูสิครับว่าถ้าหน่วยงานของท่านมีผู้นำที่ชอบคิดพิเรนทร์แล้วเข้าข้างตัวเองว่านี่คือความแตกต่างแต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่คิดก็ไม่ได้มีคุณค่าอะไรเลยแถมยังก่อให้เกิดปัญหาตามมาแล้วตัดสินใจผลิตสินค้าหรือบริการที่ลูกค้า (หรือแม้แต่พนักงานที่ชำนาญในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ) ก็ยังมองว่าไม่แตกต่าง แล้วออกไปสู่ตลาดแล้ว จะเกิดผลอะไรขึ้นกับสินค้าตัวนั้น?

9.      ไม่เชื่อในสิ่งที่เราพูด (Passive Resistance) อ้าว ! ถ้าได้ผู้นำประเภทนี้ก็ยุ่งแล้วนะครับ เพราะพูดในสิ่งที่แม้แต่ตนเองก็ยังไม่มีความเชื่อนั้นอยู่เลย มันก็ขัดแย้งกันในตัวของมันเองน่ะสิครับ แล้วอย่างนี้จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเชื่อได้อย่างไรล่ะครับ นาน ๆ ไปก็จะกลายเป็นท่านพูดอย่างแล้วทำอีกอย่างหนึ่ง ในที่สุด

10.   ต้องการความสมบูรณ์แบบมากเกิน (Perfectionist) ไปโดยไปเสียเวลาทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แถมก็ทำได้ดีแต่พอเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ที่สำคัญ ๆ กลับทำผิดพลาดหรือเรียกว่า เล็ก ๆ ทำ (ได้ดีเสียด้วย) แต่ใหญ่  ๆ ทำผิดพลาด

11.   อยากจะทำตัวให้เป็นคนที่คนอื่นรักอยู่เสมอ (Eagerness to please) เรียกว่าอยากสร้างภาพให้ตัวเองเป็นพ่อพระ หรือแม่พระ ภาพพจน์ตัวเองจะต้องดูดีเสมอ ซึ่งในชีวิตจริงของผู้นำนั้นจะต้องมีทั้ง ให้คุณ และ ให้โทษ กับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ หรือในบางสถานการณ์ต้องการความชัดเจนเด็ดขาด หากผู้นำยังต้องการทำตัวให้เป็นที่รักของคนรอบข้างตลอดเวลานั้น ผู้นำท่านนั้นก็น่าจะพบปัญหาแล้วล่ะครับ

            หวังว่าเรื่องนี้คงจะทำให้ท่านที่เป็นหัวหน้าจะอ่านแล้วนำมาคิดทบทวนตัวเองเพื่อระมัดระวังในเรื่องที่จะนำไปสู่ความล้มเหลวในการบริหารลูกน้อง และรู้ว่าควรจะทำยังไงเพื่อให้เป็นหัวหน้าที่ประสบความสำเร็จได้แล้วนะครับ

Cr.จากหนังสือ Why CEO's Fail

                                 .......................

วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2567

Training Officer จะต้องรับผิดชอบอะไรบ้างในวันจัดอบรม

             จากประสบการณ์ที่ต้องเคยรับผิดชอบการจัดฝึกอบรมก็เลยอยากจะขอนำเอาเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบของ Training Officer (T/O) หรือเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมมาเล่าสู่กันฟังว่าจะต้องดูแลรับผิดชอบในเรื่องใดบ้างในวันที่มีการจัดฝึกอบรมดังนี้ครับ

  1. มาถึงสถานที่อบรมก่อนเวลาสัก 1 ชั่วโมง (เป็นอย่างน้อย) ทำไมผมถึงนำข้อนี้มาเป็นข้อแรก ? ท่านลองนึกดูสิครับว่าถ้า T/O มาก่อนจะเริ่มอบรมเพียง 5 นาทีหรือมาสายจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง ?

-          ไมโครโฟนเปิดไม่ติด แบตหมด

-          ห้องอบรมยังไม่ได้จัด, โต๊ะ-เก้าอี้ระเกะระกะ, แก้วกาแฟวางเกลื่อนห้อง

-          เครื่องฉายโปรเจคเตอร์ก็ยังไม่ได้เตรียม

-          ผู้เข้าอบรมมานั่งรอในห้องอบรมโดยยังไม่ได้ลงทะเบียนเซ็นชื่อ

-          วิทยากรมานั่งรอหน้าห้องอบรม

-          ฯลฯ

ยิ่งถ้ามีการจัด In House Training นอกสถานที่ เช่น การไปจัดตามโรงแรม หรือต่างจังหวัด T/O ยิ่งจำเป็นจะต้องไปก่อนเวลาเพื่อเตรียมความพร้อม เพื่อแก้ปัญหาและตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ หน้างาน ซึ่งจะทำให้ท่านมีเวลาคิดและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ (ถ้ามี) ได้อย่างเพียงพอไม่ฉุกละหุก

            นอกจากนี้ T/O ควรจะต้องเปิดโทรศัพท์เอาไว้ตลอดเวลาด้วยนะครับ เพราะอาจจะมีประธานเปิดการอบรม, พนักงาน หรือแม้แต่วิทยากรโทรเข้ามาแจ้งเรื่องด่วน หรือแจ้งปัญหาต่าง ๆ เช่น ประธานเปิดงานกำลังอยู่บนถนนเพราะรถติดมากคาดว่าจะมาเปิดการอบรมไม่ทันเวลา, วิทยากรโทรมาถามทางเพราะหลงทาง ฯลฯ

  1. ตรวจสอบความพร้อมของห้องอบรมและอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการอบรม เช่น ไมโครโฟน, เครื่องฉายโปรเจคเตอร์, ป้ายชื่อ, ใบลงทะเบียน, เอกสารประกอบการอบรม, เครื่องเขียน, การจัดโต๊ะเก้าอี้ ฯลฯ ให้ครบถ้วนและมีความพร้อมใช้งาน
  2. รอรับประธาน (ถ้ามี) และซักซ้อมคิวการเปิดอบรมกับประธานให้เข้าใจตรงกัน T/O ควรวางคำกล่าวเปิดการอบรมของประธานไว้บนโพเดียมเลยนะครับ อย่าลืมปรับระดับไมโครโฟนให้เหมาะสมกับความสูงของประธาน และอย่าให้ช่อดอกไม้ที่โพเดียม (ถ้ามี) บังหน้าประธานเสียหมดล่ะครับ (อันนี้เจอบ่อย พอถ่ายรูปออกมาแล้วจะเห็นหน้าของประธานซุกอยู่ในช่อดอกไม้หน้าโพเดียมซะงั้น)
  3. รอรับวิทยากร และซักซ้อมคิวกับวิทยากรให้เข้าใจตรงกันว่าจะมีลำดับของการเปิดการอบรมยังไงบ้าง เมื่อวิทยากรมาถึงก็อาจจะเตรียมน้ำท่าชากาแฟไว้ต้อนรับตามสมควร
  4. จัดให้มีการลงทะเบียนและแจกเอกสาร Handout ให้กับผู้เข้าอบรมให้เรียบร้อย
  5. T/O ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการโดยการขึ้นไปกล่าวทักทายต้อนรับผู้เข้ารับการอบรมในเบื้องต้นและกล่าวเชิญประธานเปิดการฝึกอบรม เมื่อประธานกล่าวเปิดการฝึกอบรมเสร็จสิ้น T/O ขึ้นไปกล่าวขอบคุณประธาน และเชิญวิทยากรมาทำการฝึกอบรม ซึ่งในเรื่องนี้เดี๋ยวผมจะเอาไว้พูดขยายรายละเอียดในบทต่อไปในเรื่องของ T/O กับการเป็นผู้ดำเนินรายการฝึกอบรมนะครับ
  6. ดูแลอำนวยความสะดวกหรือคอยช่วยแก้ปัญหาในห้องอบรมให้กับผู้เข้าอบรมหรือวิทยากร เช่น แจกกระดาษหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในขณะที่มีกิจกรรมประกอบการอบรม หรือในกรณีที่วิทยากรต้องการอุปกรณ์หรือต้องการอะไรเป็นพิเศษ T/O จะต้องทำหน้าที่ผู้ประสานงานอำนวยความสะดวกด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อให้การฝึกอบรมดำเนินไปด้วยความราบรื่น
  7. T/O จะต้องเป็นผู้รักษาเวลา และวินัยในการอบรม   ผมจะพบปัญหาในเรื่องของเวลาอยู่หลาย ๆ แห่งที่ผมไปบรรยายที่เป็น In House Training เช่น เริ่มอบรมเวลา 9.00 น. แต่กว่าผู้เข้าอบรมจะเข้ามานั่งในห้องครบตามจำนวนก็ปาเข้าไป 9.30 น.

            อย่าลืมว่าการตรงต่อเวลาจะแสดงถึงวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรนั้นอย่างหนึ่งเลยนะครับ !

            นี่ยังไม่รวมเวลาเบรคทั้งเช้า ทั้งเที่ยง และบ่าย ที่พอเบรคเมื่อไหร่กว่าจะตามผู้เข้าอบรมกลับมานั่งในห้องให้ครบองค์ได้ก็จะคล้าย ๆ ประมาณสภาผู้แทนของบางประเทศที่กดกริ่งกันจนไหม้ก็ยังไม่ครบองค์ประชุมซะที จึงเป็นหน้าที่ของ T/O ที่จะต้องคอยกวาดต้อนผู้คนให้มาเข้าห้องให้ตรงเวลาด้วยนะครับ

  1. ส่งแบบสอบถามเพื่อประเมินผลการฝึกอบรม ให้กับผู้เข้าอบรมประเมินผลว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งการส่งแบบสอบถามนี้ T/O ควรจะส่งให้ผู้เข้าอบรมในช่วงที่ผู้เข้าอบรมหยุดเบรคช่วงบ่าย คือพอผู้เข้าอบรมเบรคบ่ายออกไปกินอาหารว่างกันแล้ว ท่านก็เข้ามาวางแบบสอบถามตามโต๊ะเลย พอผู้เข้าอบรมเข้ามาหลังเบรคจะได้ตอบแบบสอบถามได้เลย หรือเดี๋ยวนี้หลายบริษัทก็ให้พนักงานสแกน QR Code แล้วประเมินผลการฝึกอบรมกันแล้วนะครับ จะลดต้นทุนในการใช้กระดาษลงไปได้เยอะ
  2. T/O กล่าวขอบคุณวิทยากรเมื่อจบการฝึกอบรม

ทั้งหมดที่เล่ามานี้แหละครับที่เป็นหน้าที่ของ T/O ที่ต้องรับผิดชอบในวันที่มีการจัดฝึกอบรม

.........................

วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2567

ให้พนักงานทำโอทีจนเป็นรายได้ประจำดีหรือไม่?

             เมื่อพูดถึงคำว่า “ค่าล่วงเวลา” เราก็มักจะเรียกกันว่า “โอที” หรือ “ค่าโอ” ซึ่งในทางกฎหมายแรงงานหมายถึงการทำงานล่วงเวลาและการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด แต่เรา ๆ ท่าน ๆ ก็มักจะเรียกรวมเอาเรื่องของค่าทำงานในวันหยุดรวมเข้าไปในความหมายของโอทีด้วย

            ในบางองค์กรมีนโยบายเพิ่มรายได้ให้พนักงานด้วยการกำหนดให้พนักงานทำโอทีเพื่อพนักงานจะได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นจะได้จูงใจให้พนักงานอยากทำงานอยู่กับบริษัท

            ผมมักจะพบว่าบริษัทที่มีนโยบายทำนองนี้มักจะมีการจ่ายเงินเดือนไม่สูงนักค่อนข้างจะต่ำกว่าที่ตลาดเขาจ่ายกัน แต่จะจูงใจให้คนทำงานโอทีให้มากขึ้นเพื่อจะได้ทำให้รายได้สูงขึ้น

            หรือไม่ก็แทนที่จะต้องเพิ่มอัตรากำลังให้เหมาะกับโหลดของงาน แต่ผู้บริหารคิดว่าขืนจ้างคนเพิ่มจะทำให้ต้นทุนต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตามไปด้วยแถมถ้าจำเป็นจะต้องลดคนลงในอนาคตก็จะต้องมีค่าชดเชยและอื่น ๆ ตามมาอีก

ก็เลยให้คนที่รับผิดชอบงานนั้นอยู่ทำโอทีก็แล้วกัน จะได้เซฟต้นทุนการจ้างคนเพิ่มแถมคนที่ทำงานอยู่ก็ชอบเพราะมีรายได้เพิ่มขึ้น

            เช่น บริษัทเปิดทำการสัปดาห์ละ 6 วัน หยุดหนึ่งวัน มีชั่วโมงทำงานวันละ 8 ชั่วโมง แต่เนื่องจากบริษัทจ่ายเงินเดือนให้พนักงานไม่มากนัก จึงส่งเสริมให้พนักงานทำงานล่วงเวลาเพิ่มวันละ 4 ชั่วโมง แล้วก็คิดค่าทำงานล่วงเวลาให้ตามกฎหมายแรงงาน (1.5 เท่าสำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติ)

            สรุปว่าเป็นที่รู้กันทั้งพนักงานและบริษัทว่าพนักงานทุกคนต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง

          ถ้าจะถามว่าบริษัทสามารถทำได้ไหม?

            ก็ตอบได้ว่าทำได้ครับ ตราบใดที่ชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็ยังไม่ผิดกฎหมายแรงงาน (ทำงานล่วงเวลา 4 ชั่วโมงต่อวัน สัปดาห์ละ 6 วัน รวมเป็น 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์)

            แต่ลองกลับมาดูความเป็นจริงกันสักนิด

          สมมุติว่าพนักงานเข้างาน 8.00-17.00 น.ต้องทำโอทีต่ออีก 4 ชั่วโมงก็จะเลิกงาน 3 ทุ่ม ถ้าบริษัทให้ทำโอทีเต็มแม็กคือ 6 ชั่วโมงก็จะเลิกงาน 5 ทุ่ม และต้องทำงานอย่างนี้ทุกวัน ทุกเดือน และตลอดปี?!?

            แล้วคุณภาพชีวิตของพนักงานจะอยู่ที่ไหน?

            แม้ว่าจะมีวันหยุดให้สัปดาห์ละ 1 วันก็ตาม แต่มนุษย์นั้นมีร่างกายมีเลือดเนื้อนะครับ ไม่ได้เป็นคนเหล็กมาจากไหน เขาจะอดทนทำงานแบบนี้ไปได้เท่าไหร่ สุขภาพก็จะเสื่อมลงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะไม่มีเวลาที่จะดูแลสุขภาพตัวเอง แม้สิ่งที่ได้รับกลับมาเป็นเงินค่าโอทีที่เขาต้องนำมาจุนเจือเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว ก็จะทำได้ในช่วงที่อายุยังไม่มากนักและยังมีเรี่ยวแรงที่จะอึดอดทน

            และถ้าอายุมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ล่ะ เขาจะยังทำไหวไหม?

            เงิน....ใคร ๆ ก็อยากได้ครับ แต่นายจ้างที่ดีก็ไม่ควรจะใช้เงินเข้ามาล่อลูกจ้างโดยไม่คำนึงถึงผลระยะยาวเกี่ยวกับสุขภาพ คุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ หรือครอบครัวของลูกจ้างว่าจะเป็นอย่างไร

            ผมเคยต่อว่าหัวหน้างานที่สั่งให้ลูกน้องทำโอทีแบบหามรุ่งหามค่ำเป็นชั่วโมงทำงานที่ติดต่อกัน (นับรวมชั่วโมงทำงานปกติรวมกับชั่วโมงที่ทำโอที) 2-3 วัน โดยอ้างว่างานเร่ง ลูกค้าต้องการด่วน

ตัวลูกน้องเองก็อยากได้โอทีและคิดว่าตัวเองอายุยังน้อยยังสู้ไหวก็ทำงานติดต่อกันแบบไม่หลับไม่นอน 2-3 วัน จนที่สุดเมื่องานส่งมอบให้ลูกค้า ลูกน้องขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้านระหว่างทางก็ไปเสยท้ายรถบรรทุกที่จอดข้างทางเพราะหลับใน ดีนะครับที่ไม่ถึงกับเสียชีวิต

            อย่าลืมว่าคนเราไม่ได้มีชีวิตแต่ที่ทำงานเพียงด้านเดียวนะครับ พนักงานในบริษัทของท่านยังมีคนที่เขารัก และรักเขารอคอยอยู่ที่บ้านด้วยเหมือนกัน

ถ้าผู้บังคับบัญชาคิดแต่จะเร่งงานจนลืมคิดถึงความอ่อนล้าของคน หรือไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพความปลอดภัยของลูกน้อง คิดแต่เพียงง่าย ๆ ว่าขอให้งานเสร็จ งานเสร็จบริษัทก็พร้อมจ่ายค่าโอทีให้ พนักงานก็แฮ๊ปปี้เพราะมีรายได้เพิ่ม

            คิดอย่างนี้ไม่เห็นแก่ตัวเกินไปหรือครับ?

            เพราะคนเราต้องสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัว (และครอบครัว) ให้ดีด้วยเช่นเดียวกัน

            แม้ลูกน้องอยากจะมีรายได้เพิ่มจากการทำโอที แต่คนที่เป็นหัวหน้าเป็นผู้บริหารก็ควรจะต้องมีดุลยพินิจและมีสามัญสำนึกที่เหมาะสมด้วยถึงจะเป็นผู้นำที่ดีได้ครับ

            จากที่เล่ามาทั้งหมดนี้ก็อยากจะให้เป็นข้อคิดอีกเรื่องหนึ่งว่า ปัจจุบันองค์กรของท่านมีการจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสมดีแล้วหรือยังเมื่อเทียบกับตลาดแข่งขัน

องค์กรของท่านจ่ายเงินเดือน/ค่าตอบแทนน้อยเกินไปจนกระทั่งพนักงานต้องมาหวังพึ่งพารายได้จากโอทีจนทำให้คุณภาพชีวิตของเขาแย่ลงไปหรือไม่!

            และในอนาคตองค์กรของท่านจะมีแต่พนักงานโหมงานจนสุขภาพย่ำแย่จนทำให้เกิดปัญหาเจ็บไข้ได้ป่วยเรื้อรังเพราะทำแต่งานจนไม่มีเวลาดูแลสุขภาพของตัวเอง

หรือพนักงานมีปัญหาครอบครัวเพราะมัวแต่บ้างานแล้วในที่สุดจากปัญหาครอบครัวก็จะลามมาถึงที่ทำงาน เช่น พนักงานเครียดเพราะมีปัญหาทะเลาะกับแฟน มีปัญหาลูกขาดความอบอุ่นติดเกมติดยา ฯลฯ

อย่างนั้นหรือครับ ?

...........................

วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2567

วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2567

หัวหน้ากับปัญหาความคิดแบบเหมารวม

             เราคงเคยได้ยินข่าวหัวหน้าที่ไม่อนุญาตให้ลูกน้องไปเฝ้าคุณแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย แถมเมื่อคุณแม่ของลูกน้องเสียชีวิตก็ยังไม่อนุญาตให้ลูกน้องไปจัดการงานศพอีกต่างหาก

            หรืออีกข่าวหนึ่งที่ลูกน้องป่วยมากก็ยังไม่อนุญาตให้ลาป่วยจนกระทั่งลูกน้องเสียชีวิต

            วันนี้ผมคงไม่พูดเรื่องหัวจิตหัวใจของหัวหน้าประเภทนี้นะครับ แต่อยากจะชวนคุยชวนวิเคราะห์วิธีคิดแบบเหมารวมของหัวหน้าประเภทนี้ที่ผมเคยเจอมาเพื่อจะได้เป็นข้อคิดเตือนใจลดดราม่าเรื่องแบบนี้กันจะดีกว่า

          ความคิดแบบเหมารวมคืออะไร?

            คือการเอาเรื่องแต่ละเรื่องมาผสมปนเปกันแบบไม่แยกแยะแล้วก็สรุปตัดสินใจแบบเหมารวมไปทันที

            เช่น สมมุติว่าหัวหน้ามีลูกน้องที่มาสายบ่อย ลาป่วยทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ป่วยจริง ชอบขาดงานหายไปโดยไม่แจ้ง ก็จะคิดแบบรวบยอดเหมารวมว่าลูกน้องคนนี้ไม่สนใจไม่รับผิดชอบงานที่ทำ ยิ่งนานวันอคติของหัวหน้ากับลูกน้องคนนี้จะมากขึ้นเรื่อย ๆ

            จนวันหนึ่งลูกน้องคนนี้มาขออนุญาตลากิจไปจัดงานศพให้คุณแม่ซึ่งเสียชีวิต

            หัวหน้าประเภทนี้ก็จะเอาเรื่องพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกน้องที่ผ่านมา มาเหมารวมกับความจำเป็นของลูกน้องที่จะต้องไปจัดการงานศพของคุณแม่

            แล้วก็ตัดสินใจไม่อนุญาตให้ลูกน้องลากิจไปจัดงานศพคุณแม่!!

          นี่คือปัญหาของการคิดแบบเหมารวมไม่แยกแยะของคนที่เป็นหัวหน้า (บางคน) ประเภทนี้ครับ

            ถ้าหัวหน้าคิดแบบแยกส่วนปัญหาทำนองนี้ก็จะลดลง

            กรณีที่ลูกน้องมีพฤติกรรมเกเร ไม่รับผิดชอบงาน มาสายเป็นนิจ ลากิจเป็นประจำ งานหลักไม่ทำ งานประจำคือด่าบริษัท ฯลฯ

            หัวหน้าก็ควรดำเนินการทางวินัยตามข้อบังคับการทำงานไปได้เลย ตั้งแต่การตักเตือนด้วยวาจา การตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร การขึ้นเงินเดือนประจำปีหรือจ่ายโบนัสที่ลดลงหรือไม่ให้เลย

            ไปจนถึงถ้าผิดซ้ำคำเตือนเช่นกรณีละทิ้งหน้าที่ไม่มีเหตุผลอันสมควรและถูกหนังสือตักเตือนเป็นครั้งสุดท้ายแล้วว่าห้ามขาดงานแบบนี้อีกนะ ถ้างานขาดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรแบบนี้อีกจะถูกเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น

            แล้วก็ว่ากันไปตามการดำเนินการทางวินัย

            ส่วนกรณีที่เป็นความจำเป็นของลูกน้องที่จะขอลากิจเพื่อไปจัดการงานศพของคุณแม่ อันนี้หัวหน้าก็ต้องอนุญาตให้เขาไปนะครับ

            หัวหน้าจะไปเอาเรื่องพฤติกรรมไม่ดีของลูกน้องอื่น ๆ มาเหมารวมกับเรื่องนี้ไม่ได้!!

            ถ้าคิดแยกแยะได้แบบนี้ปัญหาดราม่าระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องจะน้อยลงครับ

……………………

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2567

No work no pay กับ Leave without pay เหมือนหรือต่างกันยังไงหยุดได้กี่วัน?

             คำถามมีอยู่ว่าพนักงานใช้วันลาพักร้อน (ที่ถูกต้องคือ “วันหยุดพักผ่อนประจำปี” นะครับไม่ใช่วันลา) หมดแล้วแต่มีธุระจำเป็นแต่อยากจะขอลาแบบ No work no pay จะทำได้ไหม ถ้าทำได้กฎหมายแรงงานให้ได้กี่วัน

            ก็เลยเอาเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังอย่างนี้ครับ

1.      บริษัทควรเขียนข้อบังคับการทำงานในเรื่องการลากิจให้ชัดเจนและแจ้งให้พนักงานทราบกติกาเงื่อนไขการลากิจให้เข้าใจตรงกันอย่างนี้ครับ

1.1   พนักงานมีสิทธิลากิจได้ปีละกี่วัน (ตามกฎหมายแรงงานต้องไม่น้อยกว่าปีละ 3 วัน แต่ถ้าบริษัทให้ลากิจมากกว่านี้ก็ได้เพราะเป็นคุณกับพนักงานมากกว่าที่กฎหมายกำหนด)

1.2   ระบุให้ชัดเจนว่าการลากิจนี้จะต้องเป็นการลาเพื่อไปทำกิจธุระที่จำเป็นต้องไปทำด้วยตัวเองไม่สามารถมอบหมายให้ใครไปทำแทนได้ เช่น การลากิจเพื่อไปรับปริญญา, ลากิจเพื่อบวชทดแทนคุณบิดามารดา, ลากิจเพื่อไปแต่งงาน, ลากิจเพื่อดูแลบุพการีคู่สมรสหรือบุตรที่เจ็บป่วย, ลากิจเพื่อไปจัดการงานศพบุพการี ฯลฯ

1.3   บริษัทจะไม่อนุญาตการลากิจที่ไม่เป็นไปตามข้อ 1.2 เช่น การลากิจเพื่อไปเที่ยว

1.4   การลากิจจะต้องลาล่วงหน้าอย่างน้อย....วัน และต้องได้รับการอนุมัติเสียก่อนถึงจะหยุดได้

2.      ถ้าหากพนักงานไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับการทำงานเรื่องลากิจตามข้อ 1 บริษัทจะถือว่าพนักงานละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จะต้องถูกดำเนินการทางวินัยถูกตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรตามระเบียบการดำเนินการทางวินัย และบริษัทจะไม่จ่ายค่าจ้าง/เงินเดือนในวันที่พนักงานละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรนั้นหรือ No work no pay

3.      กรณีพนักงานใช้สิทธิลากิจจนหมดแล้วแต่มีความจำเป็นต้องไปทำธุระที่จำเป็นที่ไม่สามารถมอบหมายให้ใครไปทำแทนได้ ให้พนักงานยื่นขออนุญาตลากิจกับผู้บังคับบัญชาล่วงหน้าอย่างน้อย......วัน และต้องได้รับการอนุมัติเสียก่อนถึงจะหยุดได้ โดยผู้บังคับบัญชาจะพิจารณาตามเหตุผลและความจำเป็นเป็นครั้ง ๆ ไป โดยบริษัทจะถือว่าเป็นการลากิจโดยไม่รับค่าจ้าง/เงินเดือนหรือ Leave without pay

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ก็เชื่อว่าท่านจะเห็นความเหมือนและแตกต่างกันระหว่าง No work no pay กับ Leave without pay พร้อมทั้งคำตอบว่าควรจะให้หยุดได้กี่วันแล้วนะครับ

อ่านจบแล้วก็อย่าลืมกลับไปทบทวนระเบียบข้อบังคับการลากิจของบริษัทท่านดูว่าเขียนไว้ครบถ้วนดีแล้วหรือยังจะได้ลดปัญหาที่เล่ามาให้ฟังนี้ลงครับ

...........................

วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2567

หัวหน้างานกับ EQ

             EQ (Emotional Quotient) แปลง่าย ๆ ว่าการควบคุมอารมณ์

            เรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ๆ ที่ต้องคุยกันในเรื่องของการเป็นหัวหน้างานหรือการเป็นผู้นำคน เพราะเรามักจะพบเจอหัวหน้างานที่เก่งงาน มีความรอบรู้เข้าใจงาน มีฝีมือ มีความสามารถ

          แต่มีปัญหาในเรื่องของการควบคุมอารมณ์!!

            หรือพูดง่าย ๆ ว่าหัวหน้างานที่มีปัญหาด้าน EQ ที่ไม่ดีก็จะทำให้ลูกน้องเอือมระอา ไม่กล้าเข้าใกล้ เพราะไม่รู้ว่าวันนี้พี่เขาจะมาอารมณ์ไหน จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าร้องฟ้าผ่าลงมาที่เราหรือเปล่า

            ตอนพี่เขาอารมณ์ดีก็ดีใจหาย บทจะอารมณ์ร้ายของขึ้นก็เหมือนกับมารเข้าสิง เลยดูเหมือนกึ่งเทพกึ่งมารยังไงก็ไม่รู้

            อย่างงี้ลูกน้องก็จะทำงานกับหัวหน้าด้วยความรู้สึกเหมือนดูหนังสยองขวัญสั่นประสาทอยู่ทุกวันนั่นแหละครับ เพราะไม่รู้ว่าวันไหน เวลาไหนจะองค์ลงทำให้เขย่าขวัญสั่นประสาทต้องหวาดระแวงอยู่เป็นระยะ

            บางท่านอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะถามผมในใจว่า “มีด้วยเหรอหัวหน้าที่เป็นอย่างที่ผมบอกมาเนี่ยะ?

            ถ้าท่านมีคำถามอย่างนี้ ผมก็ขอแสดงความยินดีด้วยว่าท่านคงทำบุญมาดี ก็เลยได้เจอแต่สิ่งที่ดี ๆ มาโดยตลอด แล้วก็ได้พบแต่หัวหน้าที่ดี ๆ มาโดยตลอด

          แต่ผมเชื่อว่ามีคนอีกไม่น้อยจะบอกว่าที่ผมเล่าเรื่อง EQ ของหัวหน้างานที่มีปัญหาเนี่ยะ ยังน้อยไป ยังมีแย่กว่านี้ได้อีกเยอะ

            การเป็นหัวหน้างานที่มี EQ ที่ดี ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นหัวหน้างานที่คอยตามใจลูกน้องจนไม่กล้าว่ากล่าวตักเตือนลูกน้องที่พฤติกรรมมีปัญหา

            เพราะลูกน้องที่ดีไม่ได้มีปัญหาที่เป็นคนส่วนใหญ่เขาก็จะมองหัวหน้างานด้วยสายตาไม่เชื่อมั่นไปศรัทธา และเอาไปบอกต่อ ๆ กันเป็นทำนองว่าหัวหน้าแหย..ไม่กล้าจัดการลูกน้องที่ทำผิดกฎระเบียบของบริษัท

            ดังนั้น หัวหน้างานที่มี EQ ที่ดีถึงไม่ใช่หัวหน้าประเภทที่ตามใจลูกน้องไปทุกเรื่องทั้ง ๆ ที่ลูกน้องทำไม่ถูกต้อง

          ถ้าอย่างงั้นหัวหน้างานที่มี EQ ที่ดีควรเป็นยังไงล่ะ ?

สรุปอย่างนี้ครับ

1.      เข้าใจอารมณ์ของตัวเองและคนอื่นอยู่เสมอ

2.      ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดี

3.      มีความละเอียดอ่อนและไวต่อความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น

4.      สามารถปรับตัวให้พร้อมรับกับทุกปัญหาได้อย่างมีสติแก้ปัญหาด้วยเหตุผลตามข้อเท็จจริง

5.      เข้ากับคนได้ง่ายคนรอบข้างยอมรับว่าเราเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

ผมเคยเจอหัวหน้าบางคนชอบพูดอวดตัวเองกับคนอื่นในงานเลี้ยง, ในการประชุม หรือในการทำงานว่า “ผมเป็นคนมนุษยสัมพันธ์ดีมีแต่คนอยากเข้ามาคุยกับผม....ฯลฯ”  

เมื่อได้ยินแล้วผมก็ได้แต่ยิ้ม ๆ เพราะเรื่องอย่างนี้ต้องให้คนอื่นเขาพูดถึงเรามันถึงจะน่ายอมรับมากกว่าจริงไหมครับ

ทำนองเดียวกับคนที่ชอบพูดอวดตัวเองว่าเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต หรือคุยอวดตัวเองว่าเป็นคนกล้าตัดสินใจนั่นแหละครับ ป่วยการที่จะไปพูดยกย่องตัวเองซึ่งจะทำให้คนฟังเขารู้สึกไม่เชื่อถืออีกต่างหาก

เพราะถ้าคน ๆ นั้นมีความซื่อสัตย์สุจริตหรือมีความกล้าตัดสินใจจริง เขาก็จะมีพฤติกรรมที่แสดงออกมาจากตัวตนของเขาจนมีผลเป็นที่กล่าวขวัญและยอมรับจากคนรอบข้าง จนกระทั่งคนรอบข้างจะนำไปพูดต่อ ๆ กันไปเองแหละครับ

ลองสังเกตตัวเองดูง่าย ๆ ก็ได้ว่าวันนี้ท่านมีเพื่อนฝูง ลูกน้อง คนรอบข้าง กล้าเข้ามาหา เข้ามาพูดคุยกับท่านอย่างเป็นธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน

เช่น เวลากินข้าวกลางวัน เมื่อท่านเดินถือจานข้าวเดินไปนั่งโต๊ะที่ลูกน้องกำลังนั่งล้อมวงกินข้าวพูดคุยกันอย่างสนุกสนานร่าเริง

เมื่อท่านไปนั่งร่วมวงด้วยแล้วเขามีพฤติกรรมยังไง ?

เขายังพูดคุยกันเฮฮาร่าเริงเหมือนเมื่อตะกี้ หรือเขาทักทายท่านเพียงแค่เป็นพิธีแล้วแต่ละคนก็รีบ ๆ กินแล้วรีบ ๆ สลายตัวไปเหลือแค่คนสองคนนั่งกับท่าน เผลอ ๆ อาจจะสลายตัวกันหมดไม่เหลือใครนั่งด้วยเลยก็มี

หัวหน้าประเภทนี้แหละที่ลูกน้องชอบแอบเม้าท์กันว่าเป็น “ตัวสลายม็อบ” ครับ

ใคร ๆ ก็ไม่อยากจะอยู่ใกล้....

อย่างงี้แหละครับที่เป็นดัชนีชี้วัดมนุษยสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องแบบง่าย ๆ ว่าเป็นยังไง

ถ้าใครเป็นหัวหน้าที่พอเข้าหาลูกน้องแล้วพบว่าลูกน้องมีปฏิกิริยาอย่างที่เล่ามาข้างต้นนี่ล่ะก็ผมว่าคงจะต้องหันกลับมาทบทวนเรื่อง EQ ในเชิงมนุษยสัมพันธ์กับลูกน้องว่ามีปัญหาในจุดไหน และควรจะต้องเริ่มหาทางแก้ไขแล้วนะครับ

            เพราะโดยปกติแล้วหัวหน้ามักจะเก่งในเรื่องงานมีความรู้ทักษะในงานที่ดีอยู่แล้วผู้บริหารองค์กรเขาถึงได้ไว้วางใจเลื่อนตำแหน่งแต่งตั้งขึ้นมาเป็นหัวหน้า

            แต่ตัวที่จะเสริมให้หัวหน้าที่เก่งงานอยู่แล้วให้สามารถทำงานร่วมกับลูกน้องได้อย่างราบรื่นและนำทีมงานไปสู่เป้าหมายความสำเร็จได้คือ EQ ครับ

             เพราะไม่ว่าใครก็อยากทำงานกับคนที่มี EQ ที่ดีกันทั้งนั้นจริงไหมครับ ?

.......................

วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2567

ถ้ายังคงเป้าหมายเดิมวันละ 600 บาทในปี 2570 ค่าจ้างขั้นต่ำจะไปทางไหนจะรับมือยังไงดี

 มาตามที่เคยบอกกล่าวกันไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว


“ถ้ายังคงเป้าหมายเดิมวันละ 600 บาทในปี 2570 ค่าจ้างขั้นต่ำจะไปทางไหนจะรับมือยังไงดี“


มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันในวันเสาร์ที่ 19 ตค.67 เวลาดีหนึ่งทุ่มถึงสามทุ่มทางออนไลน์ผ่านซูมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย จะอยู่ที่ไหนแต่งตัวยังไงก็คุยกันได้


งานนี้ผมเตรียมข้อมูลและแนวคิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังหลายเรื่องเลยครับ


ขอขอบคุณสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นโดยท่านอธิการบดี รศ.รังสรรค์ เลิศในสัตย์ ที่เห็นความสำคัญในงานด้านทรัพยากรบุคคลซึ่งทางสถาบันฯเป็นผู้สนับสนุนหลักให้เปิดเวทีนี้ขึ้นมา


ผู้สนใจสแกน QR Code เพื่อลงทะเบียนตาม Brochure ข้างล่างนี้ หรือจะส่ง Brochure นี้ต่อ ๆ กันไปให้ผู้สนใจลงทะเบียนเข้ามาฟังกันได้เลย


แล้วพบกันครับ