เราคงเคยได้ยินข่าวหัวหน้าที่ไม่อนุญาตให้ลูกน้องไปเฝ้าคุณแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย แถมเมื่อคุณแม่ของลูกน้องเสียชีวิตก็ยังไม่อนุญาตให้ลูกน้องไปจัดการงานศพอีกต่างหาก
หรืออีกข่าวหนึ่งที่ลูกน้องป่วยมากก็ยังไม่อนุญาตให้ลาป่วยจนกระทั่งลูกน้องเสียชีวิต
วันนี้ผมคงไม่พูดเรื่องหัวจิตหัวใจของหัวหน้าประเภทนี้นะครับ
แต่อยากจะชวนคุยชวนวิเคราะห์วิธีคิดแบบเหมารวมของหัวหน้าประเภทนี้ที่ผมเคยเจอมาเพื่อจะได้เป็นข้อคิดเตือนใจลดดราม่าเรื่องแบบนี้กันจะดีกว่า
ความคิดแบบเหมารวมคืออะไร?
คือการเอาเรื่องแต่ละเรื่องมาผสมปนเปกันแบบไม่แยกแยะแล้วก็สรุปตัดสินใจแบบเหมารวมไปทันที
เช่น
สมมุติว่าหัวหน้ามีลูกน้องที่มาสายบ่อย ลาป่วยทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ป่วยจริง ชอบขาดงานหายไปโดยไม่แจ้ง
ก็จะคิดแบบรวบยอดเหมารวมว่าลูกน้องคนนี้ไม่สนใจไม่รับผิดชอบงานที่ทำ ยิ่งนานวันอคติของหัวหน้ากับลูกน้องคนนี้จะมากขึ้นเรื่อย
ๆ
จนวันหนึ่งลูกน้องคนนี้มาขออนุญาตลากิจไปจัดงานศพให้คุณแม่ซึ่งเสียชีวิต
หัวหน้าประเภทนี้ก็จะเอาเรื่องพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกน้องที่ผ่านมา มาเหมารวมกับความจำเป็นของลูกน้องที่จะต้องไปจัดการงานศพของคุณแม่
แล้วก็ตัดสินใจไม่อนุญาตให้ลูกน้องลากิจไปจัดงานศพคุณแม่!!
นี่คือปัญหาของการคิดแบบเหมารวมไม่แยกแยะของคนที่เป็นหัวหน้า (บางคน) ประเภทนี้ครับ
ถ้าหัวหน้าคิดแบบแยกส่วนปัญหาทำนองนี้ก็จะลดลง
กรณีที่ลูกน้องมีพฤติกรรมเกเร
ไม่รับผิดชอบงาน มาสายเป็นนิจ ลากิจเป็นประจำ งานหลักไม่ทำ งานประจำคือด่าบริษัท
ฯลฯ
หัวหน้าก็ควรดำเนินการทางวินัยตามข้อบังคับการทำงานไปได้เลย
ตั้งแต่การตักเตือนด้วยวาจา การตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
การขึ้นเงินเดือนประจำปีหรือจ่ายโบนัสที่ลดลงหรือไม่ให้เลย
ไปจนถึงถ้าผิดซ้ำคำเตือนเช่นกรณีละทิ้งหน้าที่ไม่มีเหตุผลอันสมควรและถูกหนังสือตักเตือนเป็นครั้งสุดท้ายแล้วว่าห้ามขาดงานแบบนี้อีกนะ
ถ้างานขาดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรแบบนี้อีกจะถูกเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ
ทั้งสิ้น
แล้วก็ว่ากันไปตามการดำเนินการทางวินัย
ส่วนกรณีที่เป็นความจำเป็นของลูกน้องที่จะขอลากิจเพื่อไปจัดการงานศพของคุณแม่
อันนี้หัวหน้าก็ต้องอนุญาตให้เขาไปนะครับ
หัวหน้าจะไปเอาเรื่องพฤติกรรมไม่ดีของลูกน้องอื่น
ๆ มาเหมารวมกับเรื่องนี้ไม่ได้!!
ถ้าคิดแยกแยะได้แบบนี้ปัญหาดราม่าระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องจะน้อยลงครับ
……………………