EQ (Emotional Quotient) แปลง่าย ๆ ว่าการควบคุมอารมณ์
เรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ๆ ที่ต้องคุยกันในเรื่องของการเป็นหัวหน้างานหรือการเป็นผู้นำคน
เพราะเรามักจะพบเจอหัวหน้างานที่เก่งงาน มีความรอบรู้เข้าใจงาน มีฝีมือ
มีความสามารถ
แต่มีปัญหาในเรื่องของการควบคุมอารมณ์!!
หรือพูดง่าย ๆ ว่าหัวหน้างานที่มีปัญหาด้าน EQ ที่ไม่ดีก็จะทำให้ลูกน้องเอือมระอา
ไม่กล้าเข้าใกล้ เพราะไม่รู้ว่าวันนี้พี่เขาจะมาอารมณ์ไหน จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง
ฟ้าร้องฟ้าผ่าลงมาที่เราหรือเปล่า
ตอนพี่เขาอารมณ์ดีก็ดีใจหาย
บทจะอารมณ์ร้ายของขึ้นก็เหมือนกับมารเข้าสิง เลยดูเหมือนกึ่งเทพกึ่งมารยังไงก็ไม่รู้
อย่างงี้ลูกน้องก็จะทำงานกับหัวหน้าด้วยความรู้สึกเหมือนดูหนังสยองขวัญสั่นประสาทอยู่ทุกวันนั่นแหละครับ
เพราะไม่รู้ว่าวันไหน เวลาไหนจะองค์ลงทำให้เขย่าขวัญสั่นประสาทต้องหวาดระแวงอยู่เป็นระยะ
บางท่านอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะถามผมในใจว่า
“มีด้วยเหรอหัวหน้าที่เป็นอย่างที่ผมบอกมาเนี่ยะ?”
ถ้าท่านมีคำถามอย่างนี้
ผมก็ขอแสดงความยินดีด้วยว่าท่านคงทำบุญมาดี ก็เลยได้เจอแต่สิ่งที่ดี ๆ มาโดยตลอด แล้วก็ได้พบแต่หัวหน้าที่ดี
ๆ มาโดยตลอด
แต่ผมเชื่อว่ามีคนอีกไม่น้อยจะบอกว่าที่ผมเล่าเรื่อง
EQ
ของหัวหน้างานที่มีปัญหาเนี่ยะ ยังน้อยไป ยังมีแย่กว่านี้ได้อีกเยอะ
การเป็นหัวหน้างานที่มี
EQ ที่ดี ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นหัวหน้างานที่คอยตามใจลูกน้องจนไม่กล้าว่ากล่าวตักเตือนลูกน้องที่พฤติกรรมมีปัญหา
เพราะลูกน้องที่ดีไม่ได้มีปัญหาที่เป็นคนส่วนใหญ่เขาก็จะมองหัวหน้างานด้วยสายตาไม่เชื่อมั่นไปศรัทธา
และเอาไปบอกต่อ ๆ
กันเป็นทำนองว่าหัวหน้าแหย..ไม่กล้าจัดการลูกน้องที่ทำผิดกฎระเบียบของบริษัท
ดังนั้น
หัวหน้างานที่มี EQ
ที่ดีถึงไม่ใช่หัวหน้าประเภทที่ตามใจลูกน้องไปทุกเรื่องทั้ง ๆ
ที่ลูกน้องทำไม่ถูกต้อง
ถ้าอย่างงั้นหัวหน้างานที่มี EQ ที่ดีควรเป็นยังไงล่ะ
?
สรุปอย่างนี้ครับ
1.
เข้าใจอารมณ์ของตัวเองและคนอื่นอยู่เสมอ
2.
ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดี
3.
มีความละเอียดอ่อนและไวต่อความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น
4.
สามารถปรับตัวให้พร้อมรับกับทุกปัญหาได้อย่างมีสติแก้ปัญหาด้วยเหตุผลตามข้อเท็จจริง
5.
เข้ากับคนได้ง่ายคนรอบข้างยอมรับว่าเราเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
ผมเคยเจอหัวหน้าบางคนชอบพูดอวดตัวเองกับคนอื่นในงานเลี้ยง,
ในการประชุม หรือในการทำงานว่า “ผมเป็นคนมนุษยสัมพันธ์ดีมีแต่คนอยากเข้ามาคุยกับผม....ฯลฯ”
เมื่อได้ยินแล้วผมก็ได้แต่ยิ้ม
ๆ
เพราะเรื่องอย่างนี้ต้องให้คนอื่นเขาพูดถึงเรามันถึงจะน่ายอมรับมากกว่าจริงไหมครับ
ทำนองเดียวกับคนที่ชอบพูดอวดตัวเองว่าเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต
หรือคุยอวดตัวเองว่าเป็นคนกล้าตัดสินใจนั่นแหละครับ
ป่วยการที่จะไปพูดยกย่องตัวเองซึ่งจะทำให้คนฟังเขารู้สึกไม่เชื่อถืออีกต่างหาก
เพราะถ้าคน ๆ
นั้นมีความซื่อสัตย์สุจริตหรือมีความกล้าตัดสินใจจริง
เขาก็จะมีพฤติกรรมที่แสดงออกมาจากตัวตนของเขาจนมีผลเป็นที่กล่าวขวัญและยอมรับจากคนรอบข้าง
จนกระทั่งคนรอบข้างจะนำไปพูดต่อ ๆ กันไปเองแหละครับ
ลองสังเกตตัวเองดูง่าย
ๆ ก็ได้ว่าวันนี้ท่านมีเพื่อนฝูง ลูกน้อง คนรอบข้าง กล้าเข้ามาหา
เข้ามาพูดคุยกับท่านอย่างเป็นธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน
เช่น
เวลากินข้าวกลางวัน
เมื่อท่านเดินถือจานข้าวเดินไปนั่งโต๊ะที่ลูกน้องกำลังนั่งล้อมวงกินข้าวพูดคุยกันอย่างสนุกสนานร่าเริง
เมื่อท่านไปนั่งร่วมวงด้วยแล้วเขามีพฤติกรรมยังไง
?
เขายังพูดคุยกันเฮฮาร่าเริงเหมือนเมื่อตะกี้
หรือเขาทักทายท่านเพียงแค่เป็นพิธีแล้วแต่ละคนก็รีบ ๆ กินแล้วรีบ ๆ สลายตัวไปเหลือแค่คนสองคนนั่งกับท่าน
เผลอ ๆ อาจจะสลายตัวกันหมดไม่เหลือใครนั่งด้วยเลยก็มี
หัวหน้าประเภทนี้แหละที่ลูกน้องชอบแอบเม้าท์กันว่าเป็น
“ตัวสลายม็อบ” ครับ
ใคร ๆ
ก็ไม่อยากจะอยู่ใกล้....
อย่างงี้แหละครับที่เป็นดัชนีชี้วัดมนุษยสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องแบบง่าย
ๆ ว่าเป็นยังไง
ถ้าใครเป็นหัวหน้าที่พอเข้าหาลูกน้องแล้วพบว่าลูกน้องมีปฏิกิริยาอย่างที่เล่ามาข้างต้นนี่ล่ะก็ผมว่าคงจะต้องหันกลับมาทบทวนเรื่อง
EQ ในเชิงมนุษยสัมพันธ์กับลูกน้องว่ามีปัญหาในจุดไหน และควรจะต้องเริ่มหาทางแก้ไขแล้วนะครับ
เพราะโดยปกติแล้วหัวหน้ามักจะเก่งในเรื่องงานมีความรู้ทักษะในงานที่ดีอยู่แล้วผู้บริหารองค์กรเขาถึงได้ไว้วางใจเลื่อนตำแหน่งแต่งตั้งขึ้นมาเป็นหัวหน้า
แต่ตัวที่จะเสริมให้หัวหน้าที่เก่งงานอยู่แล้วให้สามารถทำงานร่วมกับลูกน้องได้อย่างราบรื่นและนำทีมงานไปสู่เป้าหมายความสำเร็จได้คือ
EQ ครับ
เพราะไม่ว่าใครก็อยากทำงานกับคนที่มี EQ ที่ดีกันทั้งนั้นจริงไหมครับ
?
.......................