วันนี้ผมได้รับคำถามที่มักเกิดขึ้นได้เสมอ ๆ และน่าจะเป็นข้อคิดสำหรับคนที่เป็นหัวหน้าทุกคนที่มีลูกน้องก็เลยขอนำมาเล่าสู่กันฟังตามนี้ครับ
คำถามมีอยู่ว่า
“พนักงานของบริษัทที่มาทำงานสายเป็นประจำ หรือมีพฤติกรรมเกียจคร้านในการทำงาน
อู้งาน ฯลฯ กรรมการผู้จัดการจะออกหนังสือตักเตือนผู้จัดการฝ่ายบุคคลได้หรือไม่
เพราะฝ่ายบุคคลจะต้องมีหน้าที่ว่ากล่าวตักเตือนพนักงานทุกคนที่ประพฤติตัวไม่ดี
ซึ่งฝ่ายบุคคลก็ทราบอยู่แล้วจากรายงานการมาทำงานของแต่ละหน่วยงานว่าใครมาสาย ใครขาดงานบ่อย
ฯลฯ แต่ไม่เรียกพนักงานเหล่านั้นมาตักเตือนจึงถือว่าเป็นความผิดของฝ่ายบุคคล”
ถ้าท่านเป็น
HR ได้รับคำถามแบบนี้จะตอบว่ายังไงดีครับ ?
สำหรับผม ๆ ก็ถามเจ้าของคำถามกลับไปว่าใครเป็นหัวหน้าของพนักงานคนนี้
คำตอบคือ
“กรรมการผู้จัดการ” (ซึ่งเจ้าของคำถามบอกว่าก็คือ “เถ้าแก่” นั่นแหละครับ) !!??
คำอธิบายต่อมาก็คือบริษัทแห่งนี้มีพนักงานประมาณ 100 กว่าคน และพนักงานทุกคนขึ้นตรงกับเจ้าของ (หรือกรรมการผู้จัดการ)
ซึ่งผมก็ไม่ได้แปลกใจอะไรมากนักเพราะบริษัทหลายแห่งที่ยังมีการบริหารแบบ
“ระบบครอบครัว” หลายแห่งก็ไม่มีการจัดการสายการบังคับบัญชาในลักษณะนี้แหละครับ
ใครเข้าถึงเจ้าของและทำตัวให้เจ้าของโปรดปรานได้ก็จะได้เป็น
“ลูกรัก” หรือ “คนที่จำเป็น”
ส่วนใครที่เข้าไปถึงหรือเจ้าของไม่ถูกชะตาก็จะกลายเป็น
“ลูกชัง” หรือ “คนไม่จำเป็น”
ถ้าลูกชังคนไหนทนไม่ไหว
ก็ต้องร้องเพลงฮิตท่อนหนึ่งว่า “....เพราะคนไม่จำเป็นก็ไม่ควรอยู่ตรงนี้
ก็ฉันนั้นเข้าใจดีว่าเธอไม่ต้องการ ยอมจากไปพร้อมน้ำตา เป็นคนที่ไร้ค่า ยอมจากไป
เพราะเป็นความจำเป็นของคนไม่จำเป็น....” (มีใครตอบได้ไหมครับว่าเพลงนี้ชื่อเพลงอะไร
555)
พักจากเรื่องเพลงกลับมาเข้าเรื่องของเราก่อนนะครับก่อนที่จะออกทะเลไปไกลเกินไป
คำตอบข้างต้นที่ถามว่า
“หัวหน้าของพนักงานที่มาสายคือใคร”
พอได้รับคำตอบว่าเป็นเจ้าของหรือกรรมการผู้จัดการ
ผมก็เลยตอบแบบตรงไปตรงมาว่า....
ในเมื่อกรรมการผู้จัดการเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของพนักงานที่มาสายคนนี้
ก็เป็นเรื่องที่กรรมการผู้จัดการจะต้องเรียกพนักงานคนนี้มาตักเตือนตามระเบียบการมาทำงานของบริษัท
(ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเขาจะมีระเบียบต่าง ๆ กันบ้างหรือเปล่า)
ถ้ากรรมการผู้จัดการไม่เรียกพนักงานที่มาสายมาตักเตือน
(ไม่ว่าจะเป็นวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม)
ก็ต้องถือว่าเป็นความผิดของกรรมการผู้จัดการที่ไม่ทำหน้าที่ในการตักเตือนลูกน้องของตัวเอง
หัวหน้ากับลูกน้องก็คล้าย
ๆ พ่อแม่กับลูกนั่นแหละครับ
ถ้าพ่อแม่ไม่กล้าว่ากล่าวตักเตือนลูกของตัวเองแล้วไปโบ้ยหน้าที่นี้ให้คนอื่นทำ
แล้วจะเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองลูกของตัวเองได้ยังไงกันล่ะ
ผู้จัดการฝ่ายบุคคลไม่ใช่หัวหน้าของพนักงานทั้งบริษัทจึงไม่ใช่คนที่มีสิทธิหรือมีอำนาจจะไปว่ากล่าวตักเตือนลูกน้องของคนอื่น
ส่วนการที่กรรมการผู้จัดการจะให้ทำหนังสือตักเตือนผู้จัดการฝ่ายบุคคลว่าไม่ทำหน้าที่ตักเตือนพนักงานที่มาสายนั้นก็ไม่ถูกต้อง
เพราะผู้จัดการฝ่ายบุคคลไม่ใช่หัวหน้าโดยตรงของพนักงานที่มาสาย
ในเรื่องนี้นอกจากกรรมการผู้จัดการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองในฐานะผู้บังคับบัญชาแล้ว
ยังพยายามหา “แพะ” มารับผิดแทนตัวเองเสียอีก
ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าท่านที่ถามผมมานี้จะกล้าเอาสิ่งที่ผมตอบไปข้างต้นไปบอกกรรมการผู้จัดการหรือไม่
ในตอนท้ายผมก็ได้แต่อวยพรให้เจ้าของคำถามโชคดีครับ