เห็นช่วงนี้มีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการล่วงเกินทางเพศในหลายวงการผมก็เลยขอนำเอาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทำงานมาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นข้อคิดเตือนใจสำหรับคนที่ทำงานตัวเป็นเกลียวแต่หัวเป็นงู หรือพวกที่ชอบสร้างภาพฉากหน้าให้ดูดีแต่เบื้องลึกคิดแต่จะคอยฉวยโอกาสหาเศษหาเลยกับคนที่เขาอ่อนแอกว่าจะได้รู้ว่าผลสุดท้ายจะเป็นยังไง
เรื่องมีอยู่ว่าบริษัทแห่งหนึ่งเลิกจ้างผู้จัดการฝ่ายขายเพราะเหตุผลคือมีพฤติกรรมล่วงเกินทางเพศต่อนางสาว
ธ พนักงานขายซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา โดยบริษัทไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้นเพราะถือเป็นความผิดร้ายแรง
ผู้จัดการฝ่ายขายคนนี้ก็เลยเป็นโจทก์ฟ้องบริษัทเรียกค่าชดเชยจากฐานค่าจ้าง
77,543
บาทพร้อมดอกเบี้ย
คดีนี้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายพานางสาว ธ พนักงานขายไปเยี่ยมลูกค้าต่างจังหวัด
พอตกตอนเย็นก็พาเข้าไปในร้าน ย. นั่งที่โต๊ะกลมไม่มีพนักพิง
โจทก์ได้สั่งสุราและชอบชนแก้วกับนางสาว ธ ในลักษณะชักชวนบังคับให้ดื่ม
เมื่อสุราหมดไปประมาณครึ่งขวดโจทก์ได้เอามือไปวางที่ต้นขานางสาว ธ พร้อมกับโน้มตัวไปคุยด้วย
นางสาว ธ เขยิบหนีแต่โจทก์ได้เอามือไปวางและโน้มตัวมาใกล้อีก
นางสาว ธ จึงปัดมือโจทก์ออกขอย้ายโต๊ะเป็นโต๊ะยืนแต่โจทก์ได้ใช้มือขวาโอบบริเวณเอวนางสาว
ธ อีก นางสาว ธ หมุนตัวไปเข้าห้องน้ำกลับมาดื่มกับโจทก์อีก 15 นาที และไปเข้าห้องน้ำกลับมา
ปรากฏว่าโจทก์คุกเข่าเมาสุรากับพื้นจึงให้พนักงานเสิร์ฟพาไปนั่งรอที่หน้าร้าน
และขับรถมารับโจทก์ ประคองเข้าห้องพัก ในวันรุ่งขึ้นโจทก์กับนางสาว ธ
ไปเยี่ยมลูกค้าที่จังหวัดเลยแล้วไปอุดรธานี ขณะนางสาว ธ
ขับรถได้บอกโจทก์ว่าปวดต้นคอจะส่งโจทก์เข้าที่พักแล้วตนจะไปนวดต่อ
โจทก์ได้ใช้มือขวาเอื้อมไปบีบต้นคอนางสาว ธ นางสาว ธ
ได้ใช้มือปัดออกแล้วบอกจะไปนวดเอง ต่อมาเมื่อรถติดสัญญาณไฟแดงโจทก์พูดว่า
“ตกหลุมรักน้องเข้าไปแล้ว”
ศาลฎีกาเห็นว่า แม้นางสาว ธ จะเข้าไปดื่มสุรากับโจทก์ในร้าน ย.
และมีลักษณะเป็นดิสโกเธคแต่ก็มิได้หมายความว่านางสาว ธ
ยินยอมให้โจทก์ล่วงเกินทางเพศหรือโจทก์มีสิทธิล่วงเกินทางเพศต่อนางสาว ธ
ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาได้ตามใจชอบ
พฤติกรรมของโจทก์ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาดังกล่าว
จึงเป็นการคุกคาม ก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อนางสาว ธ
ผู้ใต้บังคับบัญชาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 16
อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับฯ ของจำเลย ข้อ 8.3.7
ที่ห้ามพนักงานกระทำการใด ๆ อันไม่สมควรที่วิญญูชนพึงปฏิบัติหรือกระทำการใดๆ
อันส่อไปในทางเสื่อมเสียด้านศีลธรรมอันดี ซึ่งถือว่าเป็นกรณีที่ร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ. 2541 มาตรา119 (4)
จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
(ฎ.1059/2560) อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจากเว็บไซด์ของกองนิติการ กระทรวงแรงงาน
ใครที่ต่อมคิดแบบใช้เหตุผลในสมองพกพร่องจนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรผิดอะไรถูก
อะไรควรทำหรือไม่ควรทำแถมยังขาดหิริ-โอตัปปะแล้วไปคิดเข้าข้างตัวเองว่าสิ่งที่ทำไปนั้นฉันไม่ผิดและยังทำต่อไปด้วยความย่ามใจแล้วล่ะก็....
ต่อให้เป็นคนโปรไฟล์ดี
มีฝีมือ มีชื่อเสียง สร้างภาพกับคนรอบข้างไว้โก้หรูเพียงใด
วันหนึ่งเมื่อความจริงปรากฎ สิ่งที่สั่งสมมาทั้งหมดก็คงพังทลายไปตามกฎอิทัปปัจจยตาแหละครับ