วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

พนักงานไม่ผ่านทดลองงานทำไงดี ?

            บอกกล่าวกันก่อนตรงนี้เลยนะครับว่าปัญหาด้านพฤติกรรมหรือด้านการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพที่เราจะมาคุยกันในวันนี้เราจะพูดกันเฉพาะในกรณีที่เป็นปัญหาที่เกิดจากตัวพนักงานทดลองงานจริง ๆ

ไม่ได้เกิดจากหัวหน้าที่มีอคติหรือกลั่นแกล้งให้พนักงานไม่ผ่านทดลองงาน

เพราะเมื่อมีการรับพนักงานเข้ามาทำงานใหม่ทุกบริษัทจะต้องมีการทดลองงาน ถ้าทำงานดีก็คงไม่มีปัญหาอะไรบริษัทก็จะบรรจุเป็นพนักงานประจำ

แต่ถ้าทำงานไม่ดีหรือมีพฤติกรรมในการทำงานไม่ดีเช่น มาสายเป็นประจำ, ลาป่วยบ่อยมาก, มนุษยสัมพันธ์ไม่ดีพูดจาไม่ดีกับเพื่อนร่วมงาน, ทำงานผิดพลาดบ่อยบอกก็แล้ว พูดก็แล้ว สอนก็แล้วแต่ก็ยังไม่ดีขึ้น, ทำงานไม่เสร็จทันตามเวลาทำให้งานเสียหาย ฯลฯ

คนที่เป็นหัวหน้าก็ต้องตัดสินใจ

ผมก็เลยขอรวบรวมคำถาม-คำตอบเกี่ยวกับการทดลองงานมาเล่าสู่กันฟังดังนี้ครับ

ถาม : การแจ้งผลเมื่อพนักงานไม่ผ่านทดลองงาน หัวหน้าควรทำยังไง ?

ตอบ :   1. หัวหน้าเชิญพนักงานที่ไม่ผ่านทดลองงานมาแจ้งผลแล้วอธิบายเหตุผลที่ไม่ผ่านทดลองงานอย่างพี่อย่างน้อง และบอกให้เขาเขียนใบลาออกจะได้ไม่เสียประวัติ ส่วนจะให้วันลาออกมีผลเมื่อไหร่ก็อยู่ที่คุยกันระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องเพื่อให้จบได้ด้วยดี จากประสบการณ์ทำงานของผมพนักงานมักจะเขียนใบลาออกครับ ที่ไม่ยอมเขียนใบลาออกก็เพราะหัวหน้ามักไปด่าหรือพูดจากับเขาไม่ดีก็เลยมีดราม่ากันต่อ

            2. ถ้าพนักงานไม่ยอมเขียนใบลาออก บริษัทก็ต้องแจ้งเลิกจ้างและทำหนังสือเลิกจ้างยื่นให้พนักงานพร้อมระบุเหตุผลการเลิกจ้างว่าไม่ผ่านการทดลองงานเพราะอะไรยังไงให้ชัดเจน 

            3. หากพนักงานทดลองงานมีพฤติกรรมที่มีปัญหาเช่น มาสายบ่อย, ขาดงานบ่อย, งานผิดพลาดเป็นประจำ, สอนก็แล้วพูดก็แล้วก็ยังไม่ดีขึ้น ฯลฯ เช่น ทำงานกันไปแล้วสัก 2 เดือนแล้วเห็นพฤติกรรมที่มีปัญหาเหล่านี้ทันทีโดยหัวหน้าก็ต้องพูดคุยตักเตือนแล้วให้เวลาปรับปรุงตัวโดยมีเป้าหมายในการแก้ไขให้ชัดเจนไม่ควรไปบอกเอาในวันที่ 119 ว่าพรุ่งนี้ไม่ต้องมาทำงานแล้วโดยพนักงานไม่รู้ตัวล่วงหน้าอะไรมาก่อนเลย ถ้าทำอย่างงี้ก็มักจะมีปัญหาดราม่ากันต่อไปได้อีก

ถาม : ถ้าบริษัทแจ้งเลิกจ้างพนักงานที่ไม่ผ่านทดลองงาน บริษัทจะต้องจ่ายอะไรบ้าง

ตอบ :   1. จ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน สำหรับพนักงานทดลองงานที่มีอายุงานนับตั้งแต่วันเข้าทำงานจนถึงวันที่เลิกจ้างครบ 120 วันขึ้นไปตามมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงาน ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทปล่อยให้พนักงานทดลองงานคนนั้น ๆ ทำงานมาแล้วนานแค่ไหน

            สรุปง่าย ๆ ว่าถ้าอายุงานครบ 120 วันยังไม่ถึง 1 ปีบริษัทก็จ่ายค่าชดเชย 1 เดือน แต่ถ้าพนักงานทดลองงานมีอายุงานยังไม่ถึง 120 วันแล้วบริษัทเลิกจ้าง หรือพนักงานเขียนใบลาออกบริษัทก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยครับ

2. จ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า (หรือมักจะเรียกกันว่าค่าตกใจ) ตามม.17 กรณีที่บอกวันนี้ว่าพรุ่งนี้ไม่ต้องมาทำงาน ซึ่งค่าตกใจนี้บริษัทจะต้องจ่ายให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างทุกกรณีแม้ว่าลูกจ้างจะมีอายุงานน้อยกว่า 120 วันก็ตาม ซึ่งค่าตกใจอาจจะต้องจ่าย 1-2 เดือน ขึ้นอยู่กับจังหวะการแจ้งพนักงานว่าก่อนการจ่ายค่าจ้างเมื่อไหร่ (ไปเสิร์ชคำว่า “การบอกกล่าวล่วงหน้า..ต้องบอกกล่าวอย่างไรให้ถูกต้อง” ในกูเกิ้ลนะครับ ผมอธิบายไว้ละเอียดแล้ว)

ถาม : ถ้าพนักงานไม่ผ่านทดลองงานได้รับค่าชดเชย และค่าบอกกล่าวล่วงหน้าไปแล้วจะไปฟ้องศาลแรงงานเพื่อเรียกร้องอะไรเพิ่มอีกได้หรือไม่

ตอบ : ได้ครับ เรื่องที่ฟ้องก็มักจะเป็นเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งก็อยู่ในดุลพินิจของศาลท่านจะว่ายังไงตามข้อเท็จจริง

ถาม : การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานทดลองงานนั้น บริษัทควรทำเป็นเอกสารแบบฟอร์มดีหรือไม่ หรือแค่บอกปากเปล่าว่าเขาทำงานไม่ดียังไงก็พอ

ตอบ : บริษัทควรจะมีแผนการสอนงานและมีเป้าหมายตัววัดผลการทำงานของพนักงานทดลองงานเป็นเอกสารที่ชัดเจน รวมถึงควรจะต้องมีแบบฟอร์มประเมินผลการปฏิบัติงานระหว่างการทดลองงานเพื่อให้หัวหน้าประเมินผลงานของลูกน้องได้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะใช้วิธีการประเมินผลงานแบบกำหนดหัวข้อปัจจัยที่เรียกว่าแบบ Rating Scale หรือจะเป็นการประเมินโดยมี KPIs ที่ชัดเจนก็ตาม บริษัทจะได้มีหลักฐานเอกสาร (Document Support) ให้ศาลหรือแรงงานเขต (กรณีที่พนักงานไปฟ้องศาลหรือไปร้องเรียนแรงงานเขตพื้นที่) ได้ดูว่าบริษัทมีผลการประเมินผลการทำงานที่เป็นระบบ มีมาตรฐาน ไม่ได้เกิดจากการกลั่นแกล้งแบบไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด



ถาม :   กรณีที่บริษัทแจ้งว่าพนักงานไม่ผ่านทดลองงาน บริษัทควรจะใช้วิธี “บอกกล่าวล่วงหน้า” ดีหรือไม่ เช่น เรียกพนักงานมาแจ้งวันที่ 31 กค.ว่าไม่ผ่านทดลองงาน และบริษัทจะเลิกจ้างโดยจะให้มาทำงานไปจนถึง 31 สค.แล้วบริษัทจะจ่ายเงินเดือนให้จนถึงวันสุดท้ายที่มาทำงาน

ตอบ : ทำได้ครับซึ่งวิธีที่ถามมามักจะเรียกว่า “การบอกกล่าวล่วงหน้า” คือบอกพนักงานล่วงหน้า 1 รอบการจ่ายค่าจ้างว่าบริษัทจะไม่จ้างเธออีกต่อไปแล้วนะ และให้เธอมาทำงานถึงสิ้นเดือนแล้วบริษัทก็จ่ายเงินเดือนงวดสุดท้ายให้

            แต่ลองคิดถึง “ใจเขา-ใจเรา” ดูสิครับ สมมุติหัวหน้ามาบอกว่าเราไม่ผ่านทดลองงาน จะเลิกจ้างเราแต่จะให้เราทำงานไปอีกประมาณ 1 เดือน แม้บริษัทจะจ่ายเงินเดือนให้ ถามว่าเราอยากจะมาทำงานให้ครบ 1 เดือนไหม ?    

บริษัทบางแห่งก็อยากจะใช้พนักงานให้คุ้มค่าเงินทุกเม็ดโดยไม่ได้นึกถึง “ใจเขา-ใจเรา” ก็จะทำให้พนักงานที่ไม่ผ่านทดลองงานบางคน “เอาคืน” โดยมักจะลาป่วย (ไม่จริง) บ้าง มาสายบ้าง หรือมา ๆ ขาด ๆ สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจให้กับหัวหน้าผู้บริหารที่จะต้องมาคิดแก้ปัญหาด้วยการออกหนังสือตักเตือนพนักงานที่บริษัทเลิกจ้างไปแล้วกันอีก

หรือแย่กว่านั้นอาจจะทำให้บริษัทเสียหาย (โดยบริษัทไม่รู้ตัว) เช่น ลักลอบเอาไฟล์ข้อมูลสำคัญของลูกค้าออกไป หรือสร้างความเสียหายอื่น ๆ กับบริษัทก็มีให้เห็นมาแล้ว นี่แหละครับผลของการเสียน้อยเสียยาก..เสียมากเสียง่าย

            ตรงนี้คงต้องไปคิดกับเอาเองแล้วล่ะครับว่าบริษัทควรใช้วิธีไหนดีกว่ากันระหว่างการจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าแบบเจ็บแต่จบ หรือจะใช้วิธีบอกกล่าวล่วงหน้าแล้วทำงานต่อไปอีกประมาณ 1 เดือนพร้อมกับลุ้นว่าจะมีปัญหาอะไรตามมาภายหลังอีกหรือไม่

            หวังว่าคำถาม-คำตอบทั้งหมดนี้น่าจะเป็นประโยชน์และทำให้ท่านมีไอเดียในการจัดการเรื่องเหล่านี้ให้เหมาะสมกับบริษัทของท่านนะครับ