คำถามนี้น่าคิดดีนะครับ....
เพราะค่าครองชีพ (Cost of Living Allowance หรือ COLA) ซึ่งคนที่ทำงาน HR ในยุคใหม่นี่อาจจะไม่ค่อยได้ยินคำนี้กันสักเท่าไหร่แล้ว เพราะเวลาผมพูดถึง
“COLA” ทีไร แม้แต่คนที่ทำงาน HR บางคนยังเข้าใจว่าผมพูดถึงยี่ห้อน้ำอัดลมซะบ่อย ๆ
ซึ่งที่จริงแล้วมันคือคำย่อของคำว่า “ค่าครองชีพ” นั่นเองครับ
กลับมาเข้าประเด็นนี้กันดีกว่าว่าค่าครองชีพหรือ COLA นี้น่ะถ้าบริษัทให้พนักงานไปแล้วเอาคืนได้ไหม ?
เพราะเคยได้ยินว่าสวัสดิการใดให้ลูกจ้างไปแล้วจะเรียกกลับคืนไม่ได้
คำตอบคือ “เอาคืนได้” ครับถ้า....
บริษัทของท่านระบุเงื่อนไขไว้ในประกาศ
และชี้แจงให้พนักงานรับทราบไว้ให้ชัดเจนก่อนที่จะให้
เช่น “....ค่าครองชีพพิเศษนี้
บริษัทจัดให้กับพนักงานเพื่อบรรเทาภาระของพนักงานในระหว่างเกิดปัญหาราคาสินค้าในท้องตลาดเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติจนทำให้ภาวะการครองชีพสูงตามไปด้วย
บริษัทจึงต้องการบรรเทาความเดือดร้อนของพนักงานโดยจะจ่ายค่าครองชีพให้เป็นกรณีพิเศษคนละ......บาทต่อเดือนตั้งแต่วันที่.................ถึงวันที่...................”
แล้วประกาศแจ้งให้พนักงานได้รับทราบ
รวมถึงควรจะให้พนักงานทุกคนได้เซ็นชื่อรับทราบประกาศและเงื่อนไขดังกล่าวเอาไว้ด้วย
ซึ่งกรณีนี้ก็มักจะเป็นการให้แบบเป็นช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเพื่อช่วยเหลือพนักงานในวิกฤตการณ์ใดวิกฤตการณ์หนึ่ง
เช่น น้ำท่วมหนักทรัพย์สินพนักงานเสียหาย, ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูงผิดปกติจนเป็นเหตุให้ค่าครองชีพสูงขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
เป็นต้น
แต่ถ้าไม่ระบุเงื่อนไขในการสงวนสิทธิดังกล่าวไว้หรือไม่ระบุเงื่อนไขระยะเวลาในการให้ที่ชัดเจน
แถมยังให้ COLA
พิเศษอย่างนี้ติดต่อกันไปเป็นเวลานาน ๆ
จนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในองค์กรกันแล้ว
หรือการไประบุไว้ในสัญญาจ้างงานว่า “บริษัทจะจ่ายค่าครองชีพรายเดือน
ๆ ละ......บาท)” อย่างนี้แล้วล่ะก็จะเรียกคืนไม่ได้ครับ
คราวนี้ก็อยู่ที่นโยบายของฝ่ายบริหารแล้วล่ะครับว่าจะให้ตลอดไป
หรือจะให้แบบมีเงื่อนไข
ถ้าจะถามว่าการให้ค่าครองชีพของบริษัทต่าง ๆ
มักทำกันแบบไหน ?
ก็ตอบได้ว่าที่ผมเห็นมาคือจะให้แล้วให้เลยครับ เช่น
บริษัทให้ค่าครองชีพพนักงานเดือนละ 1,000 บาท
ก็จะให้ไปอย่างนี้ไปตลอดโดยไม่ได้ให้เป็นช่วงเวลาและเมื่อถึงเวลาที่กำหนดก็ไม่ได้จ่ายให้ต่อไปอีกอย่างที่บอกไว้ข้างต้น
ดังนั้นถ้าบริษัทไหนให้ค่าครองชีพแบบยาวตลอดก็ต้องทราบนะครับว่าค่าครองชีพที่จ่ายให้พนักงานอย่างนี้ก็คือ
“ค่าจ้าง” ตามมาตรา 5
ของกฎหมายแรงงานที่จะต้องนำมาใช้เป็นฐานในการคำนวณสิทธิประโยชน์ของพนักงานเช่น
ใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าโอที, ค่าชดเชย, ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นต้น
ตรงนี้ผมก็เลยขอนำเอาหลักเกี่ยวกับการให้ค่าตอบแทนและสวัสดิการ
4 ข้อ (หลักนี้ไม่ได้มาจากตำราเล่มไหนนะครับมาจากประสบการณ์ของผมเองแหละ) มาทบทวนกันตรงนี้อีกครั้งคือ
1. ก่อนให้คิดให้ดี
เพราะ....
2.
ให้แล้วเอาคืนไม่ได้ (ถ้าพนักงานไม่ยินยอม)
3.
ให้ก่อนที่จะถูกเรียกร้อง
4.
ให้แล้วผู้รับรู้สึกว่าเป็นบุญคุณ (เพราะไม่งั้นการให้นั้นจะสูญเปล่า)
จริงหรือไม่ ใช่หรือเปล่าก็ลองคิดดูนะครับ