มีคำถามตามหัวข้อข้างต้น และต่อท้ายว่าพอไปยื่นใบลาออกหัวหน้าก็เรียกคุยแล้วบอกว่าจะปรับเงินเดือนให้เท่ากับที่ใหม่คือจะปรับเพิ่มให้เป็น 36,000 บาท
ควรจะยืนยันการลาออกหรือควรจะทำต่อที่ปัจจุบันดี
?
ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะอยู่หรือจะไปดี เรามาดูสถิติการขึ้นเงินเดือนย้อนหลังของเราดูก่อนดีไหมครับ
เมื่อ 8 ปีที่แล้วบริษัทสตาร์ทเงินเดือนเราที่ 15,000
บาท ผ่านไป 8 ปี ปัจจุบันเงินเดือน 24,000
บาท เพิ่มขึ้นประมาณ 60% เฉลี่ยได้ปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นปีละประมาณ
7.5%
แสดงว่าบริษัทปรับเงินเดือนให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดที่ปรับขึ้นประมาณปีละ
5%
เมื่อดูข้อมูลอย่างนี้แล้วก็สันนิษฐานได้ว่าเจ้าของคำถามมีผลการปฏิบัติงานที่ดีกว่าเกณฑ์เฉลี่ยเล็กน้อย
(ถ้าบริษัทแห่งนี้มีนโยบายการขึ้นเงินเดือนประจำปีเท่าค่าเฉลี่ยตลาดคือประมาณปีละ 5%)
ข้อสังเกตของผมก็คือ
1.
ด้วยผลการทำงานในปีที่ผ่านมา
เมื่อเปรียบเทียบกับเงินเดือนที่ได้รับปัจจุบันก็ยังถือว่าสมเหตุสมผล
บริษัทไม่ได้เอาเปรียบในเรื่องการกดเงินเดือนมากจนเกินไปนัก
2.
ที่ใหม่ให้สูงกว่าที่ได้รับปัจจุบันประมาณ 50% เป็นเรื่องปกติที่เขาต้องให้เงินเดือนสูงกว่าเดิมเพื่อจูงใจ
แต่แน่นอนว่าที่ทำงานใหม่ก็จะต้องคาดหวังว่าเราจะต้องทำงานให้เขาเต็มที่ได้อย่างที่เขาต้องการ
เช่น อาจจะมี KPIs (Key Performance Indicators) กำหนดเป้าหมายว่าจะต้องทำอะไรภายในเมื่อไหร่
ถ้าทำได้ก็บรรจุแต่ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ผ่านทดลองงาน
3.
ที่ทำงานปัจจุบันอาจจะขาดหลักในการบริหารค่าตอบแทนให้สัมพันธ์กับผลการปฏิบัติงาน
เพราะที่ผ่านมา 8
ปีก็ดูเหมือนกับหัวหน้าจะเห็นว่าทำงานดีก็เลยปรับขึ้นเงินเดือนให้สูงกว่าค่าเฉลี่ย
แต่พอพนักงานมายื่นใบลาออกก็พร้อมจะปรับขึ้นเงินเดือนให้เท่ากับที่ใหม่ ก็เลยทำให้แลดูว่าฝ่ายบริหารไม่เป็นมืออาชีพ
กล่าวคือถ้าพนักงานมีผลงานดี มีศักยภาพ ก็ควรจะ “ให้”
ก่อนที่พนักงานจะไปคิดหางานใหม่ นั่นคือบริษัทควรมีการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลการปฏิบัติงาน
หรือปรับเงินเดือนกรณีพิเศษตามผลงานหรือการเลื่อนตำแหน่งและปรับเงินเดือนให้อย่างเหมาะสมตามความเป็นจริง
แต่นี่กลับมา “ให้” หลังจากที่พนักงานมายื่นใบลาออกซึ่งก็จะทำให้พนักงานคิดต่อไปอีกได้ว่า
แล้วที่ผ่านมาคุณกดเงินเดือนฉันไว้ทำไม ก็ทำให้พนักงานเสียความรู้สึก
นี่เป็นตัวอย่างของการวิธีบริหารจัดการในเรื่องค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับผลงานอย่างไม่เหมาะสม
ที่เป็นสาเหตุสำคัญเรื่องหนึ่งที่ทำให้องค์กรต้องเสียคนดีมีฝีมือไปเสียก่อนแล้วค่อยมาคิดหาวิธีป้องกันเข้าทำนองวัวหายล้อมคอก
หรือเสียน้อยเสียยาก..เสียมากเสียง่ายครับ
4. ก่อนตัดสินใจว่าจะไปที่ใหม่ดีหรือไม่ลองคิดทบทวนดูซิครับว่าหัวหน้า/ผู้บริหารของเรามีพฤติกรรมในอดีตที่ผ่านมาเป็นยังไง, เรามีสัมพันธภาพกับหัวหน้า/ผู้บริหารเป็นยังไงบ้างและยังอยู่ในวิสัยที่จะทำงานร่วมกันได้หรือไม่,
หัวหน้างานของเราเป็นคนเก่งที่จะสอนงานให้มีความรู้ความสามารถในงานเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่,
เราเองมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงพร้อมที่จะออกไปสร้างสังคมใหม่คือหาเพื่อนร่วมงานใหม่,
พร้อมปรับตัวกับสถานที่ทำงานใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน
และงานใหม่มีความท้าทายมากน้อยแค่ไหน, ประเมินดูว่าเรามีโอกาสจะเติบโตก้าวหน้าในที่ใหม่มากน้อยแค่ไหน
ผมอยากให้ผู้ถามนั่งนิ่ง ๆ แล้วลองทบทวนและสำรวจตัวเองดูให้ดี
ๆ ตามเหตุผลข้างต้น
มีคำพูดหนึ่งที่น่าคิดคือ “เราไม่ควรทำสงครามในสมรภูมิที่เราไม่มีโอกาสชนะ” ดังนั้น ก็ต้องมาประเมินตัวเองดูว่าตัวเราเองยังมีโอกาสจะชนะในสนามปัจจุบันหรือไม่
หรือควรไปลงแข่งในสนามที่เรามีโอกาสจะชนะได้มากกว่านี้
คำตอบสุดท้ายจะอยู่ที่ตัวของเราเอง ถ้าเรามั่นใจ
(โดยไม่ได้หลงหรือหลอกตัวเอง) ว่าเราก็มีฝีมือ มีศักยภาพ
มีขีดความสามารถแล้วไม่ว่าจะทำงานอยู่ที่ไหนก็มีคนต้องการ ตราบใดที่เรายังมีการพัฒนาตัวเอง
สร้างผลงานดี ๆ ออกมาแล้ว คนรอบข้างย่อมจะมองเห็นได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นที่บริษัทเดิม
หรือบริษัทใหม่ต่อไปในอนาคตก็ตาม
การตัดสินใจย่อมมีโอกาสถูกต้องและผิดพลาด
แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องจำความผิดพลาดไว้เพื่อระวังป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำสอง
ขอให้ตัดสินใจได้ถูกต้องในครั้งนี้นะครับ