วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2565

ทำไมต้องกำหนดอายุในการรับสมัครงาน ?

             มีคำถามจากคนที่ทำงานเป็นพนักงานระดับปฏิบัติการทั่วไปว่าทำไมบริษัทต่าง ๆ ถึงมักจะจำกัดอายุผู้สมัครงานในตำแหน่งปฏิบัติการ (Operation) ไม่เกิน 30-35 ปี ทำอย่างนี้คนที่อายุมาก ๆ จะเปลี่ยนงานก็ลำบากน่ะสิ

            แน่นอนครับว่าถ้ามองในมุมของเจ้าของคำถามที่เป็นฝั่งพนักงานก็คงจะมองได้ว่าไม่แฟร์สำหรับเขาเลย ทำไมบริษัทไม่เปิดโอกาสเปิดใจรับเขาเข้ามาทำงานบ้าง

            ในมุมของพนักงานก็คงจะมองว่า

1.      ตัวเองมีประสบการณ์ในการทำงานอย่างน้อย 7-12 ปี (ถ้าจบปริญญาตรีตอนอายุประมาณ 23 ปี) จึงน่าจะมีความรู้ความสามารถมากกว่า คนที่เพิ่งจบหรือคนที่มีประสบการณ์น้อยกว่า บริษัทก็ไม่จำเป็นต้องมาสอนงานมากเหมือนคนที่ประสบการณ์ทำงานน้อยกว่า

2.      อายุ 30-35 ปี ยังไม่มากนัก บริษัทไม่น่าจะนำมาเป็นข้อจำกัดในการรับเข้าทำงาน เพราะบริษัทส่วนใหญ่ก็มักจะกำหนดอายุเกษียณไว้ที่ 55-60 ปี ซึ่งก็ยังมีเวลาอีกตั้งหลายปีกว่าจะเกษียณ เขายังทำประโยชน์ให้กับบริษัทได้อีกไม่น้อย

            แต่ถ้าลองมองในมุมกลับกันล่ะครับ ถ้าเจ้าของคำถามเป็นเจ้าของกิจการหรือเป็นฝ่ายบริหารจะยังคิดแบบเดิมอยู่หรือไม่

            ขอสะท้อนมุมมองของฝ่ายบริหารอย่างนี้ครับ

1.      คนที่ทำงานมาแล้วอย่างน้อย 7 ปีขึ้นไป ทำไมถึงยังคงทำงานอยู่ในตำแหน่งงานเดิม เหตุใดถึงยังไม่สามารถก้าวหน้าเลื่อนตำแหน่งมาเป็นระดับหัวหน้าหรือผู้บริหาร

2.      เมื่อมองในแง่ของงานและความรับผิดชอบในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานแล้ว จำเป็นหรือไม่ทำไมถึงต้องจ้างคนที่มีอายุงาน 7 ปีขึ้นไป ซึ่งแน่นอนว่าเงินเดือนจะสูงกว่าคนที่มีอายุงานน้อยกว่านี้ และสามารถทำงานปฏิบัติการแบบนี้ได้เหมือนกัน

พูดง่าย ๆ คือทำไมบริษัทถึงต้องจ่ายแพงกว่าในเมื่อมีตัวเลือกที่ดีกว่า

3.      ถ้าบริษัทรับผู้สมัครเข้ามาเป็นพนักงานแล้วจะยังมีความสามารถพัฒนาตัวเองให้เติบโตก้าวหน้ารับผิดชอบงานในตำแหน่งที่สูงขึ้นไปได้หรือไม่ เพราะทำงานที่อื่นมาตั้งนานยัง Promote ไม่ได้ แล้วถ้ามาทำงานกับบริษัทเราจะเป็นยังไง

เมื่อมองทั้งสองมุมแล้วก็คงจะเข้าใจแล้วนะครับว่าทำไมบางบริษัทถึงต้องกำหนดอายุตัวของผู้สมัครงานในบางตำแหน่งเอาไว้